“มนุษย์โบราณ” 13,000 ปี บนแผ่นดินไทย! ใครคือสตรีแห่งถ้ำลอด?

รูปจำลอง ใบหน้า มนุษย์โบราณ สตรีแห่งถ้ำลอด
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 20 เมษายน 2560)

“สตรีแห่งถ้ำลอด” รูปจำลองใบหน้ามนุษย์โบราณอายุ 13,000 ปี พบในประเทศไทย เบาะแสสำคัญที่ยืนยันการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ช่วงปลายยุคน้ำแข็ง สร้างขึ้นจากโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงที่ขุดพบ ณ แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน

ใบหน้าจำลองนี้ถูกเผยแพร่ในบทความของวารสารโบราณคดีระดับโลก Antiquity ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 สร้างความตื่นเต้นให้แวดวงวิชาการ-โบราณคดีทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะนอกจากมนุษย์ฮอบบิทแห่งอินโดนีเซียแล้ว สตรีแห่งถ้ำลอดเป็นอีกหนึ่งมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการขึ้นรูปหน้าจากการศึกษาวิจัยและใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้ได้ใบหน้าใกล้เคียงกับตอนมีชีวิตที่สุด

ชื่อบทความคือ A Late Pleistocene woman from Tham Lod, Thailand: the influence of today on a face from the past หรือ “ผู้หญิงปลายยุคไพลสโตซีนจากถ้ำลอด ประเทศไทย: ใบหน้าสมัยใหม่จากอิทธิพลในอดีต” โดยมีนักวิจัย ได้แก่ ดร. ซูซาน เฮย์ส, รศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช, นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์, ศ. สรรใจ แสงวิเชียร และ ดร. ทพญ. กนกนาฏ จินตกานนท์

ว่าง่าย ๆ คือ นักโบราณคดีชาวไทยเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาและตีพิมพ์บทความนี้

สตรีแห่งถ้ำลอด ใบหน้า มนุษย์โบราณ
“สตรีแห่งถ้ำลอด” ใบหน้าจากโครงกระดูกที่เพิงผาถ้ำลอด ผลงานของ ดร. ซูซาน เฮย์ส (ภาพจาก Cambridge University Press / www.cambridge.org)

การค้นพบที่ถ้ำลอด

สตรีแห่งถ้ำลอดเป็นโครงกระดูกมนุษย์โบราณเพศหญิงที่ขุดได้จากเพิงผาถ้ำลอดเมื่อปี 2546 นับว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาที่ขุดค้นพบ เพราะเมื่อตรวจอายุด้วยคาร์บอนแล้วได้ผลลัพธ์ว่ามีอายุประมาณ 13,640 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับปลายยุคน้ำแข็ง (Late Pleistocene)

จากการศึกษาพบว่าเจ้าของโครงกระดูกดังกล่าวมีส่วนสูงประมาณ 5 ฟุต หรือ 150 ซม. ความกว้างของกระดูกเชิงกรานช่วยยืนยันว่าเธอเป็นเพศหญิงแน่นอน และมีอายุ 25-35 ปี ตอนเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นวัยกลางคนสำหรับมนุษย์ยุคนั้น

สาเหตุการเสียชีวิตยังเป็นปริศนา อย่างไรก็ดี ศพของเธอถูกฝังอย่างตั้งใจตามธรรมเนียมนิยม ไม่ได้ถูกปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติอย่างไร้การเหลียวแล

โครงกระดูกถูกฝังอยู่ใต้ดิน มีร่องรอยของพิธีกรรมไม่มากนัก อยู่ในหลุมตื้น จัดวางในท่างอตัว หันหน้าเข้าเพิงผา ชิ้นส่วนต่าง ๆ ค่อนข้างแหลก เพราะถูกกระทำจากกิจกรรมและสภาพแวดล้อมสมัยหลัง พบกระดูกสัตว์ที่สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องอุทิศหรือเครื่องสังเวยพร้อมเครื่องมือหินกระเทาะ และหินขนาดใหญ่วางทับร่าง วิเคราะห์ได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ระบุตำแหน่งการฝังศพ หรือเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ยเขี่ยรบกวนหรือกินซากในหลุมศพ

หลังการค้นพบครั้งสำคัญนั้น อ. รัศมี อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ติดต่อ ดร. ซูซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองใบหน้าคนโบราณ ให้สร้างรูปหน้าจากโครงกระดูกดังกล่าว ดร. ซูซาน จึงศึกษาและสร้างใบหน้าขึ้นมาด้วยภาพวาด 2 มิติ เติมเนื้อหนังบนผิวกระโหลกด้วยข้อมูลจากกะโหลกศีรษะมนุษย์เพศหญิงยุคเดียวกันจำนวนถึง 720 ตัวอย่าง จาก 25 ประเทศทั่วโลก 

พร้อมกันนั้น อ. รัศมี ยังใช้ข้อมูลจากนัทธมนและทีมขุดค้นที่ช่วยกันวิเคราะห์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ ส่งให้ประติมากรสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัว โดยการหล่อด้วยเรซิน

เป็นที่มาของรูปจำลองใบหน้า “สตรีแห่งถ้ำลอด” ทั้ง 2 เวอร์ชัน ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่คล้ายคลึงกันหลายส่วน สะท้อนว่าข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และออกแบบมีความถูกต้องในระดับหนึ่ง

กะโหลกมนุษย์ มนุษย์โบราณ สตรีแห่งถ้ำลอด โดย ดร. ซูซาน เฮย์ส
เทคนิคการจำลองใบหน้าจากกะโหลก (Facial approximation) แบบ 2 มิติ ก่อนเติมกล้ามเนื้อและเนื้อหนังบนผิวกะโหลกของ “สตรีแห่งถ้ำลอด” โดย ดร. ซูซาน เฮย์ส (ภาพจาก Cambridge University Press / www.cambridge.org)

“สตรีแห่งถ้ำลอด” บรรพบุรุษคนไทย?

โครงกระดูกมนุษย์ยุคโบราณถือเป็นบรรพบุรุษของคนไทยหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่รู้”

เพราะข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสตรีแห่งถ้ำลอดยังไม่หนักแน่นพอให้ยืนยันได้ว่าเธอเป็นบรรพบุรุษคนไทยจริง ๆ นั่นเอง

อ. รัศมี ชี้ว่า ภาพจำลองทำให้เราทราบลักษณะทางกายภาพของผู้หญิงคนนี้ว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์อย่างเรา ๆ หรือ โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) อย่างแน่นอน คือใบหน้ามีโหนกแก้มสูง ดวงตาคล้ายผลอัลมอนด์ ผิวสีน้ำตาล และผมออกสีน้ำตาล-ดำแบบคนเอเชีย

รศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
รศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาพจาก ข่าวสด, 8 ก.พ. 2561)

ด้าน ดร. ซูซาน (Susan Hayes) ให้ความเห็นว่า ผู้หญิงคนนี้มีหน้าตาคล้ายคนยุคปัจจุบันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจรวมถึงเอเชียตะวันออกกับแอฟริกา แต่ไม่ควรเจาะจงว่าเป็นบรรพบุรุษของคนเชื้อสายใด 

เราบอกได้เพียงนี่คือใบหน้าของผู้หญิงปลายยุคน้ำแข็ง ที่เคยดำรงชีวิตอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น

ย้อนกลับไปเรื่องรูปแบบการฝังศพ มีการวิเคราะห์ว่าการฝังศพท่างอตัวเพื่อสื่อถึงท่าของทารกตอนอยู่ในครรภ์มารดา สะท้อนการเกิดใหม่ (ในโลกหน้า) แต่เมื่อไม่มีหลักฐานยืนยันว่าความเชื่อดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ณ ช่วงเวลานั้น การจัดท่าทางของศพแบบนั้นอาจเป็นเพราะตอนแบกศพใส่คานเพื่อหามไปฝัง ต้องมีการมัดมือมัดเท้าสำหรับสอดคาน ศพมนุษย์โบราณจึงถูกฝังในท่านั้นเลย คืองอตัวเพราะมือ-เท้าถูกมัดประกบกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ที่ถ้ำลอดและความรู้ใหม่ ๆ ที่ตามมานี้ นับเป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการทั้งทางกายภาพและสังคมของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเข้าใจความเป็นมาของ “คน” ก่อนที่จะเป็น “คนไทย”

แต่อย่าลืมว่าใบหน้าของ “สตรีแห่งถ้ำลอด” ไม่ควรถูกระบุว่าเป็นตัวแทนหญิงไทยในอดีต เพราะเธอคือตัวแทนของคนเมื่อ 13,000 ปีก่อน บนที่สูงที่ปัจจุบันคือบริเวณพรมแดนไทย-พม่า นิยามเธอแบบนั้นน่าจะเหมาะสมที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, มติชนรายวัน. ผลงานระดับโลก ใบหน้าจำลอง บรรพบุรุษหญิงไทย (?) ปลายยุคน้ำแข็ง 13,000 ปีมาแล้ว. วันที่ 20 เมษายน 2560.

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์, National Geographic ฉบับภาษาไทย. พฤษจิกายน 2564. โบราณคดีที่ปางมะผ้า คลี่คลายความลับจากบรรพกาล. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

Thai PBS. โฉมหน้าบรรพบุรุษคนไทยยุคน้ำแข็งตอนปลาย อายุ 13,000 ปีครั้งแรก. 30 มกราคม 2561. จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/269779

Susan Hayes, Rasmi Shoocongdej, Natthamon Pureepatpong, Sanjai Sangvichien
and Kanoknart Chintakanon. A Late Pleistocene woman from Tham Lod, Thailand: the influence of today on a face from the past. Cambridge University Press. 04 April 2017. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2567