ดีเอ็นเอ “โลงผีแมน” ชี้! คนโบราณ 1,700 ปีบนแผ่นดินไทย เชื่อมโยงคนลุ่มแม่น้ำเหลือง-แยงซี

โลงผีแมน ดีเอ็นเอ คนโบราณ ที่ถ้ำลอด
โลงไม้ที่ถ้ำลอด (ภาพจาก ข่าวสด)

ผลวิจัยล่าสุดจากการศึกษา “คนโบราณ” ในดินแดนไทย ถูกตีพิมพ์ลงวารสารระดับโลก! โดยเป็นข้อมูลใหม่จาก “ดีเอ็นเอ” มนุษย์เมื่อ 1,700 ปีก่อน ณ ถ้ำลอด แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนลงรัก ใช้ตัวอย่างจากชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ในโลงไม้ซึ่งถูกค้นพบและขนานนามว่า “โลงผีแมน” เมื่อ 23 ปีก่อน (พ.ศ. 2544) ทำให้เราพบความเชื่อมโยง – ความแตกต่าง ระหว่างผู้คนในพื้นที่ประเทศไทยกับดินแดนภายนอก รวมถึงความสัมพันธ์ ความเป็นเครือญาติ และการเคลื่อนย้ายของคนโบราณบนผืนแผ่นดินไทย

การศึกษานี้เริ่มต้นจากงานของ ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูง ซึ่งได้เปิดเผยผลวิจัยโครงการ “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติ Nature Communications

งานวิจัยได้เผยการค้นพบครั้งใหม่ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในแวดวงวิชาการ ทั้งด้านโบราณคดีและพันธุศาสตร์ โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจ – ขุดค้นพบชิ้นส่วนคนโบราณกับร่องรอยวัตถุทางวัฒนธรรมภายในโลงไม้ตามถ้ำและเพิงผาต่าง ๆ บนพื้นที่สูง ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 2,300 – 1,000 ปีมาแล้ว

ความสำเร็จดังกล่าวมีผู้วิจัยร่วมคือ รศ. ดร. วิภู กุตะนันท์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และทีมนักวิจัยนานาชาติของสถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary anthropology ประเทศเยอรมนี ร่วมกันศึกษาดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกระดูกและฟัน จำนวน 33 ชิ้น ที่มีอายุกว่า 1,700 ปี

ผลคือ คนโบราณ ที่อำเภอปางมะผ้าอยู่ในสมัยเหล็ก มีพันธุกรรมเชื่อมโยงกับคนโบราณในสมัยหินใหม่จาก 2 พื้นที่ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีและที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองของประเทศจีน ซึ่งแตกต่างจากคนโบราณในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สมัยสำริด ในจังหวัดอุดรธานี 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายที่แตกต่างกัน การย้ายถิ่นของคนโบราณในภาคเหนือจะผ่านทางลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตพื้นที่สูงฝั่งทิศตะวันตกของไทย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะผ่านทางแม่น้ำด้านตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำแดงและแม่น้ำโขง

อาจารย์รัศมีระบุว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ข้อมูลดีเอ็นเอเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนโบราณที่อาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันหรือระหว่างถ้ำ (ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน) เพื่อสะท้อนโครงสร้างของประชากรขนาดใหญ่ และความสัมพันธ์ทางเครือญาติต่อพิธีกรรมการฝังศพ เหล่านี้มีส่วนทำให้เนสเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของชุมชนในอดีต เผยเรื่องราวในชีวิตประจำวัน และขยายผลไปสู่ความสัมพันธ์ของผู้คนในระดับภูมิภาค

ด้านอาจารย์วิภูชี้ว่า การศึกษาดีเอ็นเอโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างยาก เพราะสภาพภูมิอากาศแบบร้อนและชื้น ทำให้ดีเอ็นเอในซากโบราณเสื่อมสลายได้ง่าย ปัจจุบันจึงมีรายงานการศึกษาด้านนี้ค่อนข้างจำกัด หรือมีผลการศึกษาไม่สมบูรณ์นัก เพราะตัวอย่างน้อย อย่างเช่นแหล่งโบราณบ้านเชียง ที่มีเพียง 2 ชิ้น การศึกษาดีเอ็นโอโบราณของโลงผีแมนจึงเป็นผลการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ในแง่ของจำนวนตัวอย่างและคุณภาพของดีเอ็นเอ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ยังมีการแถลงข่าวผลการวิจัยนี้ ในหัวข้อ “โลงผีแมน ข้อมูลใหม่ สู่การถอดรหัส สืบรากมนุษย์ยุคโบราณ 1,700 ปี การบูรณาการศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์” ซึ่งนำโดย ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช และ รศ. ดร. วิภู กุตะนันท์

โอกาสนี้อาจารย์รัศมีได้เล่าถึงที่มาของการศึกษาว่า “เราค้นพบมนุษย์โบราณที่เก่าถึง 13,000 ปีมาแล้ว (ในดินแดนไทย) แสดงว่ามีหลักฐานร่องรอยของคนอยู่แล้ว จึงตั้งโจทย์วิจัยกับอาจารย์วิภูว่า กลุ่มคนที่เก่าแก่ขนาดนี้สัมพันธ์กับคนอีกกลุ่มที่เราพบเมื่อ 20 ปีก่อนที่ปางมะผ้าหรือเปล่า?

นักโบราณคดีมีคำถามว่า มนุษย์ที่อยู่ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสัมพันธ์กันหรือเปล่า? โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามีการเคลื่อนย้ายของประชากรมาจากจีน คนเหล่านั้นพูดหลายตระกูลภาษาและนำความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวกับการทำโลหกรรมมายังบ้านเรา

ไม่ว่าจะเป็นตระกูลภาษาไท ภาษามอญ-เขมร ตระกูลออสโตรเอเชียติก หรือออสโตรนีเซียน คือพวกภาษายาวีหรือมลายูที่อยู่ทางใต้ ตรงกับคนที่อยู่ในภูมิภาคของเรา จึงตั้งคำถามว่า เรามีคนเหล่านี้ (ที่ปางมะผ้า) อยู่ด้วยไหม เพราะถ้าอธิบายตรงนี้ได้ เราจะอธิบายความซับซ้อนของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทยก็ต้องมีที่มาที่ไป” 

เป็นที่มาของความพยายามในการสกัดดีเอ็นเอคนโบราณจาก โลงผีแมน ที่อำเภอปางมะผ้า โดยมีชุดหลักฐานประกอบการศึกษาคือ 1,600 ปีก่อน มีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-กะได ในพื้นที่ประเทศไทย ส่วน 1,800 ปีก่อน มีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร เป็นคนดั้งเดิม ขณะที่ตัวอย่างดีเอ็นเอจากโลงผีแมนเป็นกลุ่มคนในช่วง 1,700 ปี ซึ่งอาจารย์รัศมีย้ำว่า เป็นกลุ่ม “ชาติพันธุ์” ไม่ใช่ประชากรกลุ่มหลักของไทย ก่อนจะได้ผลการศึกษาตามที่กล่าวไปข้างต้น

ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช โลงผีแมน
ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมากกว่า 20 ปี (ภาพจาก ข่าวสด)

ทั้งนี้ อาจารย์วิภู ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ดีเอ็นเอโบราณที่ปางมะผ้านั้นมีความใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ได้แก่ ละว้า (ลัวะ) กะเหรี่ยง ปะด่อง มอญ ขณะที่คนโบราณบ้านเชียงใกล้กับกลุ่มขมุ โดยเน้นว่าความใกล้เคียงข้างต้นเป็นความใกล้เคียงเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าตรงกัน สะท้อนให้เห็นว่า ตลอด 1,700 ปีที่ผ่านมา คนโบราณแถบนี้มีการเคลื่อนย้ายจนเกิดการผสมผสานทางพันธุกรรมมาตลอด

เมื่อเทียบดีเอ็นเอที่ปางมะผ้าของคนโบราณด้วยกัน พบว่านอกจากจะเชื่อมโยงกับกลุ่มคนแถบแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีแล้ว พวกเขายังสัมพันธ์กับคนโบราณสมัยหินใหม่จากประเทศลาวด้วย ซึ่งที่บ้านเชียงไม่มีความเชื่อมโยงกับแถบลุ่มแม่น้ำเหลืองเลย สะท้อนการอพยพของในอดีตที่แบ่งออกเป็นสองฝั่งค่อนข้างชัดเจน

อาจารย์วิภูระบุด้วยว่า จุดเด่นที่ทำให้ผลการศึกษาครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Communications คือเราสามารถนำดีเอ็นเอโบราณมาหาความเป็นเครือญาติของมนุษย์ได้ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่มาก

อาจารย์รัศมียังขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาและทิศทางการศึกษาต่อจากนี้ว่า “เราเห็นเส้นทางของการเคลื่อนย้ายผู้คนในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ และก่อนที่เราจะพัฒนาเป็นดินแดนที่รียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’ มันมีการเคลื่อนของผู้คนทางภาคตะวันตก คือ แม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านเชียง มันทำให้เราเข้าใจว่า การเคลื่อนย้ายของผู้คนเป็นเรื่องปกติและมีมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้น ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราอาจจะต้องมองใหม่อย่างเข้าใจในเรื่อง ‘การผสมผสานทางวัฒนธรรม’ จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผู้คนในภูมิภาคเรามากขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567