ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์นานถึง 27 ปี ระหว่างนั้นทรงศึกษาภาษาบาลีกระทั่งแตกฉานเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับในหมู่สงฆ์และฆราวาส ยกเว้น กรมหลวงรักษ์รณเรศ ที่เป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับรัชกาลที่ 4 มานาน ถึงขั้นเอ่ยวาจาประชดประเทียดอยู่หลายครั้ง จนมีคราวหนึ่งที่ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถูกหักหน้าอย่างจัง จนความทราบถึงรัชกาลที่ 3
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 และทรงมีบทบาทในการสนับสนุน กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ที่มีสกุลยศเป็น “พระองค์เจ้า” (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา) ให้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งที่ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีสกุลยศสูงกว่า (ประสูติแต่สมเด็จพระบรมราชินี)
อ่านเพิ่มเติม : ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ 3 คำนี้ใช้ต่างกันอย่างไร?
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎผนวช ทรงมีฉายาทางธรรมว่า “วชิรญาณภิกขุ” รัชกาลที่ 3 ก็ทรงให้การสนับสนุนกิจกรรมทางพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และเมื่อทรงทราบกิตติศัพท์ความเป็นปราชญ์ด้านภาษาบาลีของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ก็ทรงอาราธนาเข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมสนามหลวง
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ทรงขัดพระราชศรัทธา จึงทรงเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมถวาย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีรัชกาลที่ 3 เสด็จออกฟังการสอบนั้นด้วยทุกวัน
วันแรกของการสอบ ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงแปลคัมภีร์พระธรรมบท ซึ่งเป็นหลักสูตรชั้นบาเรียน (เปรียญ) ตรี หรือประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 3 ปรากฏว่าทรงแปลได้ตลอดไม่มีติดขัด
รัชกาลที่ 3 ประทับเป็นประธานในที่ประชุมพระมหาเถระ ทรงเห็นว่าภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า
“ไม่ต้องแปลประโยค 1-2 และประโยค ป. ธ. 3 อันเป็นหลักสูตรชั้นบาเรียนตรีก็ได้ ให้ข้ามไปแปลคัมภีร์มงคลทีปนี อันเป็นหลักสูตรบาเรียนโทเลยทีเดียวเถิด”
วันที่สอง พระองค์จึงทรงข้ามชั้นจากบาเรียนตรีไปสอบชั้นบาเรียนโท คือ แปลคัมภีร์มงคลทีปนีเลยทีเดียว ซึ่งก็ทรงแปลได้อย่างไม่ติดขัดเช่นเคย
จากนั้นในวันที่สาม พระองค์ทรงเข้าแปลคัมภีร์บาลีมุต ซึ่งเป็นหลักสูตรชั้นประโยค 5 ก็ทรงแปลได้ดีอีกเช่นกัน
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถูกหักหน้า
แต่หลังเสร็จสิ้นการแปลวันที่สาม กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งทรงกำกับกรมธรรมการ และเป็นคู่ปรับทางการเมืองของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้กราบเรียนถาม พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม ในที่ประชุมกรรมการแปลขณะนั้น ด้วยเสียงที่ให้ได้ยินทั่วถึงกันว่า “นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน”
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถูกหักหน้า ทรงทราบว่าถูกทักท้วงต่อหน้าสาธารณะเช่นนี้ จึงให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 3 ว่า ที่ทรงเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรม ก็ด้วยทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชศรัทธาในรัชกาลที่ 3 ที่ได้ทรงอาราธนาไว้ หาได้มีความปรารถนาในทางยศศักดิ์หรือลาภสักการะอันใดไม่
ประกอบกับได้แปลถวายรัชกาลที่ 3 ให้ทรงฟังแล้ว 3 วัน เห็นว่าน่าจะพอเฉลิมพระราชศรัทธาได้ตามสมควรแล้ว จึงใคร่ขอพระบรมราชานุญาตให้หยุดแต่เพียงนี้
เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบความ ก็ไม่ทรงขัดพระศรัทธาในภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทั้งยังพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมขั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทย ให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์สืบมา
เป็นอันว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศสกัดภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไม่สำเร็จ และต่อมาช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ทรงถูกถอดลงเป็น หม่อมไกรสร ก่อนจะถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อ พ.ศ. 2391
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” ประชวรด้วยโรคอะไร?
- กิจวัตรประจำวัน “พระราชานุกิจ” รัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พระองค์ทรงทำอะไรบ้าง?
- คดีและความเดือดร้อนในหมู่เจ้านายจาก “หม่อมไกรสร”? รัชกาลที่ 4 ทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี. “‘ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ’ คาถาบาลีมีขึ้นเพราะเหตุวิวาทะระหว่าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ กับ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2547.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567