ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งผนวชเป็น ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ประชวรถึงขั้นพระพักตร์ซีกขวาหย่อน และทรงอนุญาตให้ “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีชาวอเมริกัน เข้าเฝ้าถวายการรักษาแบบการแพทย์ตะวันตก คราวนั้น ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ประชวรด้วยโรคอะไร?
หมอบรัดเลย์ ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในสยามตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกความทรงจำเรื่องนี้ไว้ว่า ครั้งแรกที่ได้เข้าเฝ้า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” เป็นเวลาหลังจากเดินทางถึงบางกอกราว 9 เดือน
คราวนั้น หมอบรัดเลย์ได้เข้าเฝ้าถวายการเยี่ยมในฐานะแพทย์ ตามที่ทรงรับสั่งให้หา ณ วัดที่ประทับอยู่ ซึ่งภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงต้อนรับเป็นอย่างดี ทรงเชิญหมอบรัดเลย์และภรรยานั่งที่โต๊ะ แล้วเสด็จเข้ามาประทับ ณ ที่ประทับตรงกันข้ามทันที โดยไม่ทรงอิหลักอิเหลื่อแม้แต่น้อยที่มีมิสซิสบรัดเลย์อยู่ด้วย
หลังการเข้าเฝ้าครั้งนั้นไม่นานนัก เจ้าฟ้าจุฑามณี (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระอนุชาในภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีพระบัญชาให้หมอบรัดเลย์เข้าเฝ้าพระเชษฐาของพระองค์ เพื่อถวายการเยี่ยมไข้ ณ วัด ที่ประทับ โดยมีเจ้าฟ้าจุฑามณีและแพทย์ประจำพระองค์ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเข้าเฝ้าด้วย
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ประชวรด้วยโรคอะไร?
“ข้าพเจ้าตรวจพบว่า เจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงประชวรหนัก เดิมทรงประชวรพระโรคในพระกรรณข้างขวา ซึ่งทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามพระมังสาต่างๆ ในพระพักตร์เป็นอัมพาต ดังนั้นพระพักตร์ซีกขวาจึงหย่อนมาก และพระโอษฐ์ถูกดึงลู่ไปทางซ้าย เวลาจะทรงรับสั่งต้องทรงจับพระโอษฐ์ด้านขวาพยุงไว้ พระเนตรขวามีเส้นพระโลหิตคั่งเต็มและเปลือกพระเนตรหย่อนเล็กน้อย กับมีตุ่มปูดโปนใต้พระกรรณข้างขวาอีกด้วย” หมอบรัดเลย์ บันทึก
มีผู้บอกหมอบรัดเลย์ว่า โรคนี้เรียกว่า “โรคลม” กล่าวกันว่าครั้งแรกจะเริ่มที่เท้า และค่อยๆ แล่นขึ้นมาถึงที่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทรงได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่ใช้กันเป็นปกติ และเสวยพระโอสถที่ให้ความร้อน
เรื่องนี้ทำให้หมอบรัดเลย์ต้องใช้เวลาอยู่นาน เพื่อทำให้ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎและบรรดาแพทย์เชื่อว่า ความคิดที่ว่า “ลม” เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระอย่างที่สุด
หมอบรัดเลย์เล่าอีกว่า ตอนนั้น ทั้งภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณี เข้าพระทัยในสาระสำคัญของการรักษาแบบตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว และทรงพยายามชักชวนให้แพทย์ชาวสยามเชื่อถือด้วย แต่ดูเหมือนแพทย์กลุ่มนี้จะยังไม่ค่อยยอมรับการรักษาตามแนวทางของหมอบรัดเลย์สักเท่าไหร่
แม้ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎจะทรงยอมให้หมอบรัดเลย์ถวายการรักษาพระองค์แต่เพียงผู้เดียว แต่ให้หลังเพียง 1 สัปดาห์ พระองค์ทรงมีพระอักษรถึงหมอบรัดเลย์ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้พระองค์อยู่ในความดูแลใกล้ชิดของแพทย์หลวง ซึ่งสัญญาจะว่ารักษาให้ทรงหายได้ภายใน 10 วัน
ทั้งยังทรงเล่าอีกว่า ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 3 ว่า หมอบรัดเลย์ยินดีรับรักษาพระองค์ และได้ถวายพระโอสถ ซึ่งช่วยให้พระอาการประชวรหลายอย่างทุเลาจนทรงพระสำราญได้มากขึ้น และทรงกล่าวว่า ขอปฏิบัติตามพระบรมราชโองการก่อน หากแพทย์ชาวสยามไม่อาจรักษาให้หายได้ในเวลาที่กำหนด ก็อาจจะทรงตามตัวหมอบรัดเลย์ไปถวายการรักษาต่อไป
“ข้าพเจ้าทูลตอบไปว่า ข้าพเจ้าต้องยอมให้พระองค์อยู่ในความดูแลของแพทย์ของพระเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน แต่ไม่อาจถวายสัญญาได้ว่าจะรับรักษาพระองค์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเสี่ยงต่อชื่อเสียงความเป็นแพทย์ของข้าพเจ้าหากยอมรับรักษาต่อหลังจากที่การรักษาไว้แรกเริ่มเป็นอย่างดีต้องเสียหายไป
และทูลด้วยว่า พระองค์กำลังจะทรงพระสำราญเป็นปรกติ และการที่พระอาการดีขึ้นมากหลังจากวืธีการรักษาของข้าพเจ้าตามที่ทรงเห็นนั้น ก็ทำให้เชื่อได้ว่าอาจทรงพระสำราญดังเดิมโดยไม่ต้องถวายการเยียวยาเพิ่มขึ้นอีก
พระโรคที่ทรงประชวรคืออัมพาตซีกซ้ายของพระเศียร ทำให้พระโอษฐ์บิดเบี้ยวไปทางขวาอย่างมาก แม้ว่าต่อมาจะมีข่าวว่าทรงหายประชวรแล้วก็ตาม แต่ความผิดปรกติของพระโอษฐ์ยังคงเห็นได้ชัดอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ”
การวินิจฉัยโรคของหมอบรัดเลย์ เป็นไปตามวิทยาการการแพทย์สมัยนั้น ส่วนมุมมองของหมอบรัดเลย์ก็เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาทัศนคติแบบชาวตะวันตกที่มีต่อ “โลกตะวันออก” ได้ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ”
- “หมอบรัดเลย์” เผย ทำไมการสอนภาษาอังกฤษ “เจ้าจอม” ช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ถึงล้มเหลว
- “เจ้าจอมมารดาน้อย” หลานพระเจ้าตาก หม่อมคนแรกในรัชกาลที่ 4 แต่ไม่เป็นที่โปรดปราน!?
- กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส “พระราชโอรส” พระองค์แรกในรัชกาลที่ 4
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567