ใครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หรือ วชิรญาณภิกขุ ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ประชวร ทรง เป็น ผู้กระทำ ทัฬหีกรรม 2 ครั้ง ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎถูกหักหน้า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงเป็น “ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” นอกจากจะทรงศึกษาวิชาความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน พระองค์ยังทรงเรียนรู้เรื่องทางโลก ด้วยทรงตระหนักว่าความรู้อันเป็นประโยชน์หลายอย่างมาจากซีกโลกตะวันตก จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อเป็นเครื่องมือเข้าถึงความรู้เหล่านั้น ทั้งการเรียนจากครูผู้สอน และการศึกษาด้วยพระองค์เอง จนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

แล้วพระองค์ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับใคร?

ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ กับการเรียนภาษาอังกฤษ

หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า ผู้สอนภาษาอังกฤษถวายภิกษุ ผู้ที่ต่อมาจะทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็คือ ศาสนาจารย์เจสสี แคสแวลล์

“แคสแวลล์ไม่ใช่คนประเภทที่มีเสน่ห์ชวนให้คนสนใจ เขาเป็นคนเก็บความรู้สึกและไม่มีความสามารถพิเศษใดๆ ที่จะนำตนเข้าไปผูกมิตรกับคนแปลกหน้า หรือใช้ความสามารถของตนโน้มน้าวเพื่อนๆ ได้

ครูบาอาจารย์ของเขาที่โรงเรียนสอนศาสนาที่แอนโดเวอร์และที่เลนไม่คาดว่าเขาจะได้ดีต่อไปนัก แต่ขณะที่เขาไม่ได้รับความใส่ใจจากเพื่อนๆ ชาวอเมริกัน เขากลับได้รับชดเชยจากชาวสยามจนเกินพอ

เขามีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์อย่างแรงกล้า ซึ่งดึงดูดความสนพระทัยของเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ (เจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณี-ผู้เขียนบทความ) และพระสหายหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งยังมีพรสวรรค์ในการใช้ภาษาสยามได้เป็นอย่างดี”

หมอบรัดเลย์ เล่าว่า ฤดูร้อน พ.ศ. 2388 เจ้าฟ้ามงกุฎที่ยังผนวชอยู่ ทรงเชิญแคสแวลล์ให้ไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่วัดบวรนิเวศ และได้ปรึกษากันถึงแผนการสอนหนังสือ

แคสแวลล์ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับวัดเป็นที่แสดงธรรมและเผยแพร่เอกสาร เป็นการแลกเปลี่ยนกับการถวายการสอนภาษาอังกฤษแด่เจ้าฟ้ามงกุฎ และพระลูกวัดของพระองค์อีก 2-3 รูป การเรียนมีขึ้นสัปดาห์ละ 4 วัน ซึ่งนักเรียนที่มาเรียนเป็นประจำ นอกจากเจ้าฟ้ามงกุฎแล้วก็ยังมีชายหนุ่มอีก 10 คนด้วย

แคสแวลล์ทุ่มเทเวลาเช้าทุกวันตั้งแต่ 09.00-11.00 นาฬิกา ให้แก่การสอนหนังสือ ชั่วโมงแรกสอนทั้งชั้น ส่วนชั่วโมงถัดมาสอนถวายเฉพาะภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งพระองค์ทรงใส่พระทัย และทรงกระตือรือร้นในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างยิ่ง

“ตลอดระยะเวลานั้นมิใช่แคสแวลล์จะได้รับความรู้กว้างขวางด้านภาษาและวัฒนธรรมของสยามเท่านั้น แต่ยังได้รับรู้หลายอย่างเกี่ยวกับกลุ่มใหม่ของเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทำการปฏิรูปศาสนา” หมอบรัดเลย์ เล่า

ครั้งหนึ่ง มีผู้ถามขึ้นว่า มีใครที่เห็นด้วยกับมิชชันนารีบ้างว่าโลกมีรูปร่างกลม เจ้าฟ้ามงกุฎทรงตอบว่า ทรงเห็นด้วยกับมิชชันนารี 15 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนมิชชันนารีจะเข้ามาในสยามด้วยซ้ำ สะท้อนถึงการรับและศึกษาความรู้จากตะวันตกอย่างไม่หยุดนิ่งของพระองค์

แคสแวลล์ พระสหายในรัชกาลที่ 4

หลังจากเจ้าฟ้ามงกุฎทรงเรียนภาษาอังกฤษกับแคสแวลล์ต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือน การเรียนการสอนก็เป็นอันต้องยุติ เนื่องจากสถานการณ์ภายในของคณะบอร์ดอเมริกัน ที่เป็นผู้อุปถัมภ์การเผยแผ่ศาสนาและภารกิจของหมอบรัดเลย์และแคสแวลล์

พ.ศ. 2391 แคสแวลล์ล้มป่วยกะทันหันด้วยโรคไฟลามทุ่ง ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะลามออกไป และเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน

หลายปีต่อมา เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงขึ้นครองราชย์ ทรงแสดงความรำลึกถึงพระสหายของพระองค์ ทั้งโปรดให้ทำอนุสาวรีย์เป็นเกียรติ ณ สุสานของโปรเตสแตนท์ ถนนเจริญกรุง และต่อมาพระราชทานของกำนัลแก่มิสซิสแคสแวลล์เป็นเงิน 1,000 ดอลลาร์ และ 500 ดอลลาร์ ตามลำดับ ผ่านทางแม็ททูนและเฮ้าส์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน

รัชกาลที่ 4 ยังทรงมีลายพระหัตถ์ถึงแฟรนซิส แคสแวลล์ ผู้เป็นบุตรของแคสแวลล์ ด้วยว่า

“ฉันคิดถึงพ่อของเธอมากเพราะเขาเคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษของฉัน ขอให้เธอเก็บบันทึกนี้ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกจากฉัน ศิษย์ของพ่อของเธอ”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567