“หมอบรัดเลย์” เผย ทำไมการสอนภาษาอังกฤษ “เจ้าจอม” ช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ถึงล้มเหลว

หมอบรัดเลย์ เคย เข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ส่วน ภรรยา คือ มิสซิสบรัดเลย์ เคย ทำ กาสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม หมอบรัดเลย์เข้าบางกอก
หมอบรัดเลย์

รัชกาลที่ 4 ทรงเปิดรับองค์ความรู้แบบตะวันตก หนึ่งในนั้นคือภาษาอังกฤษ ไม่เฉพาะพระองค์เท่านั้น แต่ทรงตั้งพระทัยให้ผู้แวดล้อมได้รับประโยชน์จากภาษาอังกฤษด้วย จึงโปรดให้มี “การสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม” ในพระองค์ แม้ช่วงเริ่มต้นจะไปได้ดี แต่ท้ายสุดก็ล้มเหลว สาเหตุเพราะอะไร “หมอบรัดเลย์” มีคำตอบ

หมอบรัดเลย์ คือมิชชันนารีชาวตะวันตก ที่เข้ามาสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนำวิทยาการทางการแพทย์และการพิมพ์เข้ามาด้วย

ระหว่างใช้ชีวิตในสยามเกือบ 40 ปี หมอบรัดเลย์มักบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทำให้ทราบถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตของชาวสยามยุคนั้น ทั้งชีวิตในรั้วในวังไปจนถึงชีวิตชาวบ้าน

ประเด็น “การสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมอบรัดเลย์บันทึกไว้ว่า

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2394 รัชกาลที่ 4 โปรดให้มีการสอนวิชาภาษาอังกฤษแก่ฝ่ายในของราชสำนัก ทรงขอให้มิชชันนารีหญิงโปรเตสแตนต์ 3 คนในบางกอกตระเตรียมการสอนนี้ เพื่อที่คนหนึ่งจะได้ไปสอนในวังหลวงทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดตามเทศกาลของสยาม

เหล่ามิชชันนารีรับคำขอนี้ด้วยความยินดี และผู้ที่รับหน้าที่สอนภาษาอังกฤษก็คือ มิสซิสบรัดเลย์ ผู้เป็นภรรยาของหมอบรัดเลย์ มิสซิสโจนส์ และ มิสซิสแม็ททูน

หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน การสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม ก็เริ่มต้นขึ้น และดำเนินต่อเนื่องไปอีกราว 3 ปี โดยมีหยุดชะงักบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

ช่วง 5 เดือนแรก มีเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 มาเรียนไม่น้อยกว่า 30 คน จำนวนนี้มีราว 21 คน ที่เป็นนักเรียนมาตั้งแต่เริ่ม นอกนั้นเป็นพระขนิษฐาที่มิได้เสกสมรส ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเคยสอนให้หลายวิชาแล้ว เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตอนที่ยังทรงอยู่ในสมณเพศ ทั้งยังมีพระนัดดาในรัชกาลที่ 4 และนางสนองพระโอษฐ์ ซึ่งไม่ใช่เชื้อพระวงศ์อีก 1-2 คน ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเจ้าจอมมาเรียนด้วย

สถานที่สอนภาษาอังกฤษเหล่าเจ้าจอม คือ ที่พักของหัวหน้าผู้ดูแลเจ้าจอม ซึ่งเป็นพี่สาวคนโตของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สันนิษฐานว่า คือ เจ้าคุณหญิงแข หรือ “เจ้าคุณตำหนักใหม่” ผู้ดูแลการฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง) ส่วนพระขนิษฐาและพระนัดดาแต่ละพระองค์จะทรงเรียนในตำหนักของพระองค์เอง

การสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม จะเน้นหนักด้านการอ่านและการเขียน ขณะที่การสอนพระขนิษฐาและพระนัดดาเน้นด้านภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติพระคัมภีร์

หลังจัดการเรียนการสอนได้พักใหญ่ บรรดาครูก็มีความเห็นว่า สตรีเชื้อพระวงศ์อ่านหนังสือภาษาไทยได้ดี โดยเฉพาะหนังสือที่มิชชันนารีพิมพ์เป็นภาษาไทยนั้นเป็นประโยชน์มากกับทั้งครูและนักเรียน เนื่องจากไม่มีอุปสรรคเรื่องที่ต้องใช้ภาษาต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม หลังการสอนดำเนินไปได้ราว 3 ปี ก็เป็นอันต้องยุติลง ดังที่หมอบรัดเลย์บันทึกว่า

“ทั้งนี้ไม่ใช่พระราชบัญชาของพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้หยุดสอน แต่เป็นเพราะอุปสรรคที่เราไม่รู้ในตัวสังคมนั่นเอง ซึ่งครั้งแรกเห็นได้ว่าการสอนเป็นพระราชประสงค์ขององค์พระเจ้าอยู่หัว แล้วต่อมานักเรียนเริ่มไม่ค่อยมาเรียน แล้วจึงเป็นที่เปิดเผยว่าอุปสรรคนั้นเป็นเพราะสาเหตุใหญ่ๆ หลายประการ”

ประการแรก เนื่องจากความกลัวครูผู้สอน ซึ่งเป็น “มิชชันนารี” ผู้อุทิศชีวิตจิตใจให้การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในสยาม หากสอนไปนานเข้า อาจปลูกฝังความเชื่อให้นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ จนที่สุดก็อาจเปลี่ยนใจไม่นับถือศาสนาเดิมของตนอีกต่อไป

ประการที่ 2 นักเรียนหลายคนกลายเป็นแม่ไปแล้ว จึงต้องใช้เวลากับการเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 การเรียนภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ ในชีวิตอีกต่อไป

ประการสุดท้าย นักเรียนที่ยังไม่ได้แต่งงานก็มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในวัง จึงไม่มีเวลาหรือความสนใจจะเรียนภาษาอังกฤษอีกต่อไป

ในที่สุด การสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าจอม ก็เป็นอันต้องจบลงในราว พ.ศ. 2397 ก่อนที่อีกหลายปีต่อมา คือ พ.ศ. 2405 “แหม่มแอนนา” หรือ แอนนา เลียวโนเวนส์ จะเดินทางมาสยาม ในบทบาทครูสอนภาษาอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิลเลียม แอล. บรัดเลย์. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง, แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2567