ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ” หรือรัชกาลที่ 4 ครั้งยังทรงผนวช กับการแปลพระปริยัติธรรมถวายรัชกาลที่ 3 แสดงพระอัจฉริยภาพท่ามกลางพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ หลังทรงศึกษาภาษาบาลีจนแตกฉานด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว
เรื่องราวนี้เริ่มจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อครั้งยังเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ” เมื่อพระชนมายุได้ 20 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามโบราณราชประเพณี เมื่อ พ.ศ. 2367 โดยมีพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์
จากนั้นเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย (ปัจจุบันคือ วัดราชาธิวาส) เพื่อทรงศึกษา “วิปัสนาธุระ” หรือการปฏิบัติกรรมฐานด้านสมถะและวิปัสสนาเพื่อหลุดพ้นจากกิเลส
แต่หลังทรงผนวชได้ 18 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระบรมชนกนาถ ทรงพระประชวรเสด็จสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระองค์ชายทับ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระองค์จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะดำรงสมณเพศศึกษาวิปัสสนาธุระที่ได้ทรงเริ่มไว้ให้ถ่องแท้
ในการณ์นั้นได้เสด็จไปมาระหว่างวัดสมอรายกับวัดราชสิทธาราม สำนักวิปัสสนาที่สำคัญอีกแห่ง ตลอดจนสำนักอื่น ๆ ที่ปรากฏว่ามีการเล่าเรียนวิปัสสนาธุระในยุคนั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำ ว่า “ไม่ช้าเท่าใด ก็ทรงทราบสิ้นตำราที่พระอาจารย์เคยสอนเจ้านายมาแต่ก่อน ความข้อใดในตำราที่ทรงสงสัย ตรัสถามพระอาจารย์ก็ไม่สามารถชี้แจงถวายให้สิ้นสงสัยได้ ทูลแต่ว่าครูบาอาจารย์เคยสอนมาเพียงเท่านั้น”
พระองค์จึงเสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ เพื่อเรียน “คันถธุระ” คือการศึกษาปริยัติธรรม คือภาษามคธหรือภาษาบาลี เพื่อให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกศึกษาหาความรู้ได้โดยลำพังพระองค์ มี พระวิเชียรปรีชา (ภู่) เจ้ากรมราชบัณฑิต เป็นพระอาจารย์สอนภาษามคธถวาย “ทรงขะมักเขม้นเรียนอยู่ ๓ ปี ก็รอบรู้ภาษามคธผิดกับผู้อื่นอย่างเป็นอัศจรรย์”
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ “สอบไล่” พระปริยัติธรรม
กิตติศัพท์ความรอบรู้แตกฉานในภาษาบาลีของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเลื่องลือไปถึงรัชกาลที่ 3 วันหนึ่ง มีพระราชดำรัสถามว่า จะแปลพระปริยัติธรรมถวายให้ทรงฟังได้หรือไม่ จึงถวายพระพรรับว่า จะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์
เป็นที่มาของการแปลพระปริยัติธรรมของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเทียบได้กับการ “สอบไล่” หรือสอบเลื่อนระดับในปัจจุบัน โดยโปรดให้จัดขึ้นเป็นการพิเศษ และทรงแปลได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่พอพระทัยของรัชกาลที่ 3 ดังที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง วัดสมอราย อันมีนามว่าราชาธิวาส ความว่า
“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ประชุมสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นการชุมนุมวิเศษ มิใช่ไล่หนังสือในสนามพร้อมกับพระสงฆ์สามัญ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจับประโยคธรรมบทแปลครั้งแรก ด้วยความคล่องแคล่วสละสลวยหาที่ทักท้วงมิได้ จึงปรากฏว่าหนังสือธรรมบทซึ่งกำหนดว่าให้ไล่ ๓ ครั้งนั้น เป็นอันหาต้องการไม่ ด้วยพระปรีชาสามารถความที่ทรงทราบ ปรากฏว่าเกินกว่าชั้นหนังสือธรรมบทเสียเป็นอันมาก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสว่า อย่าให้แปลถึง ๓ เที่ยวเลย ให้ข้ามไปแปลมงคลทีปนีทีเดียวเถิด
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงจับประโยคแปลมงคลทีปนี เป็นประโยคที่ ๒ ด้วยความคล่องแคล่วอย่างเดียวกันกับเมื่อครั้งแปลธรรมบท ในเวลาเมื่อทรงแปลนั้น พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการพร้อมกันฟังอยู่เป็นจำนวนมาก”
ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎตั้งพระราชหฤทัยแปลถวาย 5 ประโยค พอเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธา รัชกาลที่ 3 ก็พระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก 9 ประโยค ให้ถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา ทั้งทรงสถาปนาเป็นพระราชาคณะ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสถาปนาเมื่อใด
อ่านเพิ่มเติม :
- การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ ทำไมขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ?
- “พระสงฆ์” กับ “การเมือง” ในสยามเมื่อต้องปฏิรูปสู่รัฐสมัยใหม่ ห้วงตะวันตกล่าอาณานิคม
- ช่วงผลัดแผ่นดิน เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ถูก “ข่มขู่” ถึงกับ “พระบังคนไหลออกมาเปียกสบงเป็นครึ่งผืน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คณะธรรมยุต, มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2567). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เนื่องในวาระ ๒๐๐ ปี นับแต่ทรงพระผนวช 7 กรกฎาคม 2567. นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2567