การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ ทำไมขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2394 (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ภายหลังการเสด็จสวรรคตอย่างฉับพลันของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชสำนักบ้างเล็กน้อย อันเนื่องมาจากพระเจ้าลูกยาเธอที่อยู่ในชั้นที่สามารถจะสืบราชสมบัติต่อไปได้ อันได้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่มีพระราชสมภพจากพระอัครมเหสีของรัชกาลที่ ๒ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ มิได้อยู่ในสภาวะที่จะสามารถเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อไปได้ เพราะไม่มีกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่จะสนับสนุนพระองค์อย่างเพียงพอ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงควบคุมการค้าและกรมพระคลังมหาสมบัติตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงมีฐานอำนาจที่เข้มแข็งและเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เจ้าฟ้าที่ประสูติภายใต้เศวตฉัตร (พระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดร)

ในทางกลับกัน ปรากฏว่าได้มีเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเป็นจำนวนมากที่ได้สนับสนุนให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระองค์เจ้าชายทับ) พระราชโอรสองค์หัวปีของรัชกาลที่ ๒ ที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเรียม ให้ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เพราะถึงแม้ว่าโดยลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จะอยู่ในชั้นที่ต่ำกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎก็จริง แต่ด้วยความพร้อมด้านอื่นๆ ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน การเป็นที่สนิทสนมกับพระบรมวงศานุวงศ์และกลุ่มขุนนาง รวมถึงอำนาจบารมีส่วนพระองค์ที่มีอยู่ในราชสำนักขณะนั้น จึงทำให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงได้รับการทูลเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไปโดยไม่ยากเท่าใดนัก

Advertisement

อนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าความสำเร็จในเหตุการณ์คราวนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุน และเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการของขุนนางตระกูลบุนนาคที่นำโดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เสียเป็นสำคัญ ด้วยเหตุที่ว่าขุนนางจากตระกูลนี้ได้มีความสนิทชิดเชื้อกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาก่อน รวมทั้งมีอำนาจบารมีอยู่โดยมากในบ้านเมืองขณะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการที่ขุนนางตระกูลบุนนาคได้สนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ให้ได้รับราชสมบัติ ก็เพราะว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันมาก่อน ทั้งในเรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์ และหน้าที่การงานเป็นปัจจัยสำคัญ

เพราะฉะนั้นถ้านำไปเปรียบกับเจ้าฟ้ามงกุฎแล้ว จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของขุนนางตระกูลบุนนาคกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้มีความแนบแน่นยิ่งกว่าอยู่มาก

จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งว่าอำนาจบารมีของขุนนางตระกูลบุนนาคโดยเฉพาะผู้นำทั้ง ๒ ท่าน คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก อันนำมาสู่การสะสมความมั่งคั่ง กำลังคน และโภคทรัพย์อื่นๆ ได้อย่างมากมายตามมา ทำให้พอถึงปลายรัชกาล ขุนนางตระกูลนี้จึงได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจเป็นอันดับหนึ่งในแผ่นดินได้อย่างโดดเด่นกว่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางจากตระกูลอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ปรากฏว่าในช่วงท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ภาระที่สำคัญประการหนึ่งที่ขุนนางตระกูลบุนนาคจะต้องรับดำเนินการให้เป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อก่อนจะเสด็จสวรรคต ก็คือการเลือกสรรผู้ที่จะรับสืบราชสมบัติต่อไป

ภารกิจดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นด้วยความไว้วางพระราชฤหทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อขุนนางตระกูลบุนนาคเอง หรือเป็นเพราะความมากด้วยอำนาจบารมีของขุนนางตระกูลนี้ จนทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงจำยอมมอบหน้าที่ดังกล่าวให้ก็ตาม ปรากฏว่าได้ทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดที่สามารถกุมชะตาและทิศทางของสยามประเทศได้โดยเต็มที่

ในขณะเดียวกันพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในข่ายที่สามารถรับราชสมบัติได้ในเวลานั้น ก็มิได้มีอยู่แต่เจ้าฟ้ามงกุฎเพียงพระองค์เดียว หากแต่กลับมีพระองค์อื่นๆ ที่อยู่ในฐานะซึ่งขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถเลือกสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ได้อีกหลายพระองค์ด้วยกัน

ยิ่งไปกว่านั้นหากนับถึงเรื่องความรู้ ความสามารถของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์เปรียบเทียบกับเจ้าฟ้ามงกุฎด้วยแล้ว อาจจะทำให้เห็นได้ชัดว่า หากพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นทรงได้รับ การสถาปนาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็น่าจะสร้างคุณูปการให้แก่บ้านเมืองได้ไม่แพ้เจ้าฟ้ามงกุฎเช่นกัน หรือบางทีอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป

แต่ในที่สุดการณ์กลับได้ปรากฏว่าขุนนางตระกูลบุนนาค ได้ตัดสินใจเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ประเด็นที่เกี่ยวกับรายละเอียดและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคตัดสินใจเช่นนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยทำให้ทราบถึงเนื้อหา และบริบทของเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ก็ยังจะเป็นการช่วยทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันของกลุ่มตัวแสดงที่สำคัญทั้ง ๓ ฝ่ายในการเมืองตามระบอบราชาธิปไตย (Limited Monarchy) ในขณะนั้น อันได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ และที่สำคัญคือ กลุ่มขุนนาง อีกด้วย

ทั้งนี้จากการที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์นี้ ทำให้ได้พบว่าเหตุสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ขุนนางตระกูลบุนนาคได้ตัดสินใจกระทำการเช่นนั้น เป็นเพราะว่าขุนนางตระกูลนี้มีความมุ่งหมายที่จะรักษาและสืบสานผลประโยชน์ของตระกูลตนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การทหาร หรือการเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจัยที่ทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคเรืองอำนาจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และโดดเด่นกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัยของรัชกาลที่ ๓ ก็เนื่องมาจากปัจจัยสนับสนุน ๓ ประการด้วยกัน คือ ประการแรก การที่เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ทำให้ขุนนางตระกูลนี้ได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนัก อันส่งผลมาถึงทายาทของตระกูลบุนนาครุ่นถัดๆ มา อันได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหกลาโหม (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งได้มีโอกาสไต่เต้าเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ และสามารถครองตำแหน่งหลักๆ ของบ้านเมืองไว้ได้อย่างต่อเนื่องในที่สุด

ประการที่สอง จากการที่ขุนนางตระกูลบุนนาค โดยเฉพาะเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) และพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลการค้าขายของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้ขุนนางจากตระกูลบุนนาคทั้งสองท่านนี้และรุ่นถัดๆ มา ได้มีโอกาสในการสร้างกิจการการค้าแบบผูกขาดเป็นของตระกูลตนได้อย่างมากมาย รวมทั้งเป็นผู้อุปถัมภ์เจ้าภาษีนายอากรทั้งหลายอีกด้วย เป็นผลให้ขุนนางจากตระกูลนี้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และร่ำรวยมากกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และความมั่งคั่งดังกล่าวนี้เองก็ได้นำมาซึ่งการจัดซื้อ จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และนำมาบำรุงบ่าวไพร่ในสังกัดกันได้อย่างเต็มที่

ประการสุดท้าย การที่ขุนนางตระกูลบุนนาคได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญทางราชการหลายคน จึงทำให้มีโอกาสในการได้ควบคุมไพร่พลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะไพร่พลในเขตรอบๆ ราชธานี ซึ่งเป็นผลให้ขุนนางตระกูลนี้สามารถควบคุมกำลังทางทหารได้อย่างหนาแน่น และมีแสนยานุภาพมากกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ อยู่พอสมควร

เพราะฉะนั้นกล่าวได้ว่าด้วยปัจจัยทั้ง ๓ ประการนี้เอง จึงทำให้ขุนนางจากตระกูลบุนนาคได้กลายเป็นตระกูลเดียวที่กุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้โดยเด็ดขาดในช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ และขณะเดียวกันอำนาจดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ขุนนางตระกูลบุนนาคเองมีความประสงค์ที่จะรักษาให้คงอยู่กับตระกูลของตนต่อไปตราบนานเท่านานเช่นกัน ดังนั้นการเลือกสนับสนุนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ทรงเป็นพิษเป็นภัยต่ออำนาจบารมีของขุนนางตระกูลบุนนาค จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ขุนนางตระกูลนี้ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ในช่วงเวลาก่อนที่รัชกาลที่ ๓ จะเสด็จสวรรคต แม้นว่าพระองค์จะได้มีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับผู้สืบราชสมบัติในทำนองที่ว่าฝากไว้ให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ อันนำโดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกเอาตามที่เห็นเหมาะสมกับบ้านเมืองก็จริง

แต่เมื่อพิจารณาจากการกระทำหลายประการของรัชกาลที่ ๓ เมื่อก่อนจะเสด็จสวรรคต ไม่ว่าจะเป็นการตรัสตำหนิพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ อันได้แก่ วชิรญาณภิกขุ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ กรมขุนเดชอดิศร และกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ซึ่งทั้ง ๔ พระองค์นี้จัดว่าอยู่ในข่ายที่สามารถรับสืบราชสมบัติต่อไปได้ก็ดี หรือการที่มีพระราชดำริจะมอบพระประคำทองให้แก่พระราชโอรสของพระองค์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมอบราชสมบัติให้แก่รัชทายาท ตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณีของราชวงศ์จักรีก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า โดยแท้จริงแล้วรัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมอบราชสมบัติให้แก่พระองค์เจ้าอรรณพซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์

แต่ทว่าเจตนารมณ์ดังกล่าวของรัชกาลที่ ๓ ก็ได้รับการปฏิเสธจากขุนนางตระกูลบุนนาคโดยสิ้นเชิง รวมทั้งเป็นการปฏิเสธโอกาสของพระบรมวงศานุวงศ์อีก ๓ พระองค์ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ไปด้วยในคราวเดียวกัน

สาเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคไม่เลือกที่จะสนับสนุนให้พระองค์เจ้าอรรณพ และพระบรมวงศานุวงศ์อีก ๓ พระองค์ให้ได้รับสืบราชสมบัตินั้น วิเคราะห์ได้ดังนี้

(ซ้าย) สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ “สมเด็จพระองค์ใหญ่” ขุนนางผู้กุมอำนาจสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ ๔ เป็นผู้สนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชสมบัติ ซึ่งเป็นการฝังรากฐานของตระกูลบุนนาคให้มั่นคงต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕
(ขวา) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จองค์น้อย” น้องชายร่วมสายเลือดของสมเด็จองค์ใหญ่ ไต่เต้าจากตำแหน่งจมื่นเด็กชาในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนกระทั่งมีอำนาจทางการเมืองไม่ด้อยกว่าพี่ชาย

ในกรณีของพระองค์เจ้าอรรณพ น่าจะเป็นด้วยเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคมิได้รู้จักคุ้นเคยกับพระองค์สักเท่าไร ดังจะเห็นได้จากการที่ขุนนางคนสำคัญๆ ของตระกูลบุนนาคในขณะนั้นทั้ง ๔ คน ได้แก่ เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และจมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ต่างก็รับราชการอยู่คนละกรมกับพระองค์เจ้าอรรณพทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่น่าที่จะมีเหตุให้ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันพอที่จะอุปถัมภ์ค้ำชู และประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน ดังที่ขุนนางตระกูลบุนนาคเคยกระทำกับรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ เพราะฉะนั้นการเลือกที่จะสนับสนุนพระองค์เจ้าอรรณพ ที่มิได้มีความใกล้ชิดกันให้ได้รับราชสมบัติ จึงอาจเสี่ยงต่อการควบคุมได้ยาก ตลอดจนอาจนำมาซึ่งการกระทบกระเทือนต่ออำนาจ และผลประโยชน์ของขุนนางตระกูลบุนนาคในภายหลังได้

สำหรับกรณีของกรมขุนเดชอดิศรและกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ก็มีที่มาจากเหตุผลเดียวกัน คือ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้ง ๒ พระองค์นี้ ต่างก็เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่เจ้านายและขุนนางอยู่พอสมควร ดังนั้นหากพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้รับการสนับสนุนจากขุนนางตระกูลบุนนาคให้ได้รับราชสมบัติ ก็อาจจะเสี่ยงต่อการควบคุมได้ยากเช่นเดียวกัน และเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่ออำนาจบารมีของขุนนางตระกูลบุนนาคไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะในส่วนของกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ด้วยแล้ว ปรากฏว่าได้เคยมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความมักใหญ่ใฝ่สูงมาแล้วหลายคราวด้วยกัน จึงกล่าวได้ว่า โอกาสที่ขุนนางตระกูลบุนนาคจะเลือกสนับสนุนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง ๒ พระองค์นี้ให้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) รัชทายาทผู้มีสิทธิในราชสมบัติพระองค์หนึ่ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลบุนนาค เพราะทรงมีแนวคิดล้ำสมัยและความสามารถล้ำหน้าเกินไปจนเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจเป็นผลกระทบในภายหลัง

กรณีสุดท้าย สำหรับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์นั้น ด้วยความที่พระองค์ทรงมีความรู้ความสามารถในวิชาการทหาร และวิทยาการแบบตะวันตกจนเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาเจ้านาย และเหล่าขุนนาง อันจะเห็นได้จากการได้รับมอบภารกิจจากรัชกาลที่ ๓ ให้ทรงงานที่สำคัญๆ หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับบัญชาเหล่าทหารปืนใหญ่ การอำนวยการสร้างป้อมป้องกันข้าศึก หรือการเป็นแม่ทัพเรือในราชการสงครามที่เมืองบันทายมาศ เพราะฉะนั้นเมื่อผนวกเข้ากับการเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นฆราวาสเพียงพระองค์เดียวที่อยู่ในชั้น “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ด้วยแล้ว จึงยิ่งเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์มากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นหากพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์จริง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจบารมี และผลประโยชน์ของขุนนางตระกูลบุนนาคมากเสียยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง ๓ พระองค์ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้อีก จึงย่อมที่จะเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่ขุนนางตระกูลบุนนาคจะเลือกสนับสนุนให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ใช้ในฐานะของความเป็นพระเจ้าแผ่นดินสร้างอำนาจบารมีในแวดวงราชการเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นย่อมหมายถึง การลิดรอนอำนาจบารมี ผลประโยชน์ และความมั่งคั่งของขุนนางตระกูลบุนนาคที่สู่อุตส่าห์สร้างสมกันมาถึง ๒ ช่วงอายุคนให้ลดน้อยลงไปด้วยนั้นเอง

สรุปแล้ว การที่ขุนนางตระกูลบุนนาคไม่เลือกสนับสนุนพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พระองค์เจ้าอรรณพ กรมขุนเดชอดิศร กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ หรือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ น่าจะมาจากเหตุผลเดียวกันเป็นหลักก็คือ เสี่ยงต่อการควบคุมได้ยาก และอาจกระทบต่ออำนาจบารมี และผลประโยชน์ของขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีอยู่อย่างมากมายในขณะนั้น ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง ๔ พระองค์ ไม่น่าจะอยู่ในความประสงค์ของขุนนางตระกูลบุนนาคมาตั้งแต่แรกแล้วก็ว่าได้

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของสมเด็จองค์ใหญ่ เข้ารับราชการและมีบทบาทสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับตำแหน่งสูงสุดคือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ

ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ต้องการจะเลือกสนับสนุนพระบรมวงศานุวงศ์ที่สามารถควบคุมได้ และมั่นใจได้ว่าจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ของตระกูลตนอย่างแน่นอน ชื่อของ “วชิรญาณภิกขุ” จึงได้กลายมาเป็นตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่ขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกที่จะสนับสนุนให้ได้รับราชสมบัติ ดังจะเห็นได้จากการที่พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะยังเป็นจมื่นไวยวรนาถ และจมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ได้ดำเนินการติดต่อ และสร้างความสนิทสนมกับวชิรญาณภิกขุมาก่อนหน้านั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะมีการเตรียมการเกี่ยวกับติดต่อ ทาบทามให้วชิรญาณภิกขุ เตรียมเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากรัชกาลที่ ๓ ก็แต่คราวนั้น

เหตุผลสำคัญที่เป็นสาเหตุให้ขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกที่จะสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น วิเคราะห์ได้ว่าคงจะมาจากปัจจัย ๓ ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก เป็นเพราะว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นพระมานาน จึงไม่ทรงมีไพร่พลที่จะเป็นฐานอำนาจให้แก่พระองค์เหมือนกับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ทำให้โอกาสที่จะลิดรอนอำนาจทางการเมืองของขุนนางตระกูลบุนนาคจึงเกิดขึ้นได้ยาก

ประการที่สอง เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีความรอบรู้ในเรื่องศิลปวิทยาการตะวันตก การเมืองระหว่างประเทศ และสถานการณ์ของสยามในขณะนั้น ดีพอที่จะเป็นองค์ประมุขของประเทศได้อย่างเหมาะสมกับกาลเวลาที่กำลังปรับเปลี่ยน ขณะเดียวกันความเข้าใจในสถานการณ์ระหว่างประเทศดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้พระองค์สามารถปกครองประเทศได้สอดคล้องกับแนวทางที่ขุนนางหัวสมัยใหม่ของตระกูลบุนนาค เช่น พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และจมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ต้องการให้เป็นอีกด้วย

ประเด็นที่สำคัญก็คือ ความไม่เชี่ยวชาญในเรื่องการทหารสมัยใหม่ของเจ้าฟ้ามงกุฎ ก็จะยิ่งทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถควบคุมกิจการด้านการทหารไว้ในกำมือได้ง่ายยิ่งขึ้น

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) มีตำแหน่งจมื่นราชามาตย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ผู้พี่ ทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์

ประการสุดท้าย ฐานะของเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทรงมีสิทธิในราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลแต่เดิมเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นสาเหตุรวมกันที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการที่ขุนนางตระกูลบุนนาคจะเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เพื่อที่จะได้เป็นการสะดวกต่อการควบคุมพระเจ้าแผ่นดินใหม่พระองค์นี้ มิให้มาเกี่ยวข้องหรือลิดรอนอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ และความมั่งคั่งของตระกูลตนได้ อันนับได้ว่าเป็นเหตุผลทางการเมืองโดยแท้เลยทีเดียว

ภายหลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นการยืนยันให้เห็นว่าการตัดสินใจของขุนนางตระกูลบุนนาค ที่เลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎให้ได้รับราชสมบัติเป็นเรื่องที่ถูก ก็คือขุนนางตระกูลบุนนาคได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากการที่ขุนนางจากตระกูลนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นจำนวนหลายคนด้วยกัน คือ

ขุนนางระดับเจ้าพระยาและพระยาได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นระดับสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน ๒ คน

ขุนนางระดับพระยาและจมื่นได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นระดับเจ้าพระยา จำนวน ๒ คน

ขุนนางระดับจมื่นได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นระดับพระยา จำนวน ๑ คน

ขุนนางระดับมหาดเล็กได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นระดับพระยา จำนวน ๒ คน

ขุนนางระดับมหาดเล็กได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นระดับจมื่น จำนวน ๑ คน

การได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยถ้วนหน้านี้ นอกจากจะทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ แล้ว ยังเป็นผลให้ขุนนางจากตระกูลนี้ได้ก้าวขึ้นมากุมอำนาจในกรมสำคัญๆ ไว้เกือบทั้งหมด อันได้แก่ กรมพระกลาโหม กรมพระคลัง กรมพระคลังสินค้า กรมท่า และกรมมหาดเล็ก ทำให้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของขุนนางตระกูลบุนนาคอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเอาเลยทีเดียว

ผลงานที่สำคัญๆ อันแสดงให้เห็นว่าขุนนางตระกูลบุนนาคได้กุมอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็เห็นจะได้แก่ การเป็นตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดินในการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง และสนธิสัญญากับประเทศตะวันตกอื่นๆ การเจรจากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องดินแดนเขตพระตะบองและปัตตาเวีย การสร้างเมืองเพชรบุรีและราชบุรีเพื่อเป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์ของตระกูลบุนนาค และการเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการด้านการทหารในบ้านเมืองขณะนั้น ทำให้เห็นได้ว่าตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ ด้วยอำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ของขุนนางตระกูลบุนนาคจากการบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระเจ้าแผ่นดิน จึงเป็นโอกาสให้ขุนนางตระกูลนี้สามารถสร้างความรุ่งเรืองและความมั่งคั่งให้แก่ตระกูลของตนเองเพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก

กล่าวโดยสรุปในท้ายที่สุดนี้ได้ ว่าสาเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกสนับสนุนให้เจ้าฟ้ามงกุฎได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็เพราะเจ้าฟ้ามงกุฎไม่มีกำลังทางทหาร ไม่มีความรู้ในวิชาการทหาร และไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน ทำให้ไม่สามารถที่จะมาก้าวก่ายหรือคัดง้างกับอำนาจ และผลประโยชน์อันมากมายในขณะนั้นของขุนนางตระกูลบุนนาคได้

เพราะฉะนั้นจึงทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถควบคุม ต่อรองและประสานผลประโยชน์กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ที่กลุ่มตระกูลตนเป็นผู้สนับสนุนขึ้นมาได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถรักษาและสร้างสมอำนาจบารมี และความมั่งคั่งของตระกูลตนให้มีอย่างต่อเนื่องและรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป


หนังสืออ้างอิง

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์. เล่ม ๑. พระนคร : ศรีธรรม, ๒๕๐๔.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๓๐.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน. พระนคร, ๒๔๗๒.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์แสงธรรม, ๒๕๑๑.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕. พระนคร : โรงพิมพ์จำลองศิลป, ๒๔๙๓.

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔. เล่ม ๑ และ ๒. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปาการ, ๒๕๓๘.

นฤมล ธีรวัฒน์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฉบับตัวเขียน. นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์วิชาการ, ๒๕๓๙.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพมหานคร : ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕๒๙.

บาวริ่ง จอห์น, เซอร์. หนังสือเรื่อง เซอร์ยอน โบวริ่ง เข้ามาเมืองไทยทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศสยาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘. แปลโดย เพ่ง พ.ป.บุนนาค. พระนคร : โรงพิมพ์แสงธรรม, ๒๕๐๙.

ปิยนาถ บุนนาค. บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูลบุนนาค. กรุงเทพมหานคร : ดวงกมล, ๒๕๒๐.

สมบัติ พลายน้อย. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : มติชน, ๒๕๔๓.

สมมตอมรพันธ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. ตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๒.

แสน ธรรมยศ. REX SIAMEN SIUM หรือพระเจ้ากรุงสยาม. พระนคร : โรงพิมพ์ ส.สง่า, ๒๔๙๕.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2560