ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครที่ไปเที่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเข้าไปแล้วมองทางซ้าย จะพบกับ “พระตำหนักแดง” พระตำหนักโบราณ ที่มีอายุเท่ากรุงรัตนโกสินทร์ หรือ 242 ปีมาแล้ว ประวัติความเป็นมาของพระตำหนักนี้เป็นอย่างไร?
บทความเรื่องพระตำหนักแดง ในเว็บไซต์กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมพระตำหนักแดงอยู่ในหมู่พระตำหนัก ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง 2 หมู่ พร้อมกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325
พระตำหนักหมู่หนึ่งเรียกว่า “พระตำหนักเขียว” รัชกาลที่ 1 พระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระเทพสุดาวดี ส่วนพระตำหนักอีกหมู่หนึ่งเรียกว่า “พระตำหนักแดง” พระราชทานให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ เสด็จประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ
พระตำหนักโบราณ แห่งนี้ มีลักษณะเป็นตำหนักหลังเดียวแบบตำหนักหอ ความยาว 7 ห้อง มีเฉลียงด้านหน้า หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันกรุด้วยไม้แบบลูกฟักหน้าพรหม กรอบคูหาหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ตัวเรือนทำฝาปะกน ดุมอก และเชิงบน-ล่างอกเลาบานประตูหน้าต่าง แกะสลักลวดลายอย่างงดงาม
ลักษณะเด่นของพระตำหนักแดงคือ “พระแกล” (หน้าต่าง) ที่มีฐานเท้าสิงห์ประกอบอยู่ตอนล่าง ซึ่งมักไม่ปรากฏในเรือนสามัญชน และมีเสานางเรียงรับชายคาทางด้านขวาและด้านหลังจำนวน 15 เสา ซึ่งเป็นลักษณะที่ปรากฏในเรือนที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อกรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระธิดาในกรมพระศรีสุดารักษ์ได้ประทับต่อ และทรงปกครองต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีเสด็จออกไปประทับ ณ พระราชวังเดิม ธนบุรี รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงทั้งหมู่ไปปลูกถวายเป็นที่ประทับ ซึ่งพระตำหนักแดงก็ได้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ด้วย
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จบวรราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายพระตำหนักแดงส่วนที่เป็นที่ประทับของพระองค์ มาปลูกใน “พระราชวังบวรสถานมงคล” ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่พระวิมาน
กระทั่ง พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จประพาสพิพิธภัณฑสถาน ทอดพระเนตรเห็นพระตำหนักแดงชำรุดทรุดโทรม ทรงปรารภว่าเป็นของโบราณสร้างอย่างประณีตพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์ และเคยเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระไปยิกา และสมเด็จพระอัยยิกา กับทั้งสมเด็จพระปิตุลาธิราชเจ้ามาแต่ก่อน
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อปฏิสังขรณ์ พระตำหนักโบราณ ให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีเช่นเดิม
เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2471 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระตำหนักแดง เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 66 พรรษา
จวบจน พ.ศ. 2506 กรมศิลปากรได้บูรณะและย้ายพระตำหนักแดงจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านหลังหมู่พระวิมาน มาตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ด้านหน้าหมู่พระวิมาน เช่นที่เห็นทุกวันนี้
ปัจจุบัน ภายในพระตำหนักแดงจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายโบราณ ได้แก่ สิ่งของส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเครื่องเรือนของใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์น่าชมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชดำรัส “เราเกิดมาเป็นไพร่” ของรัชกาลที่ 1 มีที่มาจากไหน?
- ขัติยราชปฏิพัทธ หนังสือรักเร้นของรัชกาลที่ 2 “พงศาวดารกระซิบ” เล่าราวกับตาเห็น
- “พี่เถรจะเอาสมบัติหรือไม่..ถ้าไม่เอาหม่อมฉันจะได้เอา” พระปิ่นเกล้า ตรัสเล่นหรือจริง?
- สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2567