“เจ้าจอมชาวมุสลิม” สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีใครบ้าง?

เจ้าจอมชาวมุสลิม เจ้าจอมตนกูสุเบีย
เจ้าจอมตนกูสุเบีย ในรัชกาลที่ 4 (ภาพ : มติชน)

โดยทั่วไปเรามักเห็นพระภรรยาในพระเจ้าอยู่หัวนับถือศาสนาพุทธ แต่ที่จริงแล้วในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีเจ้าจอมที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือ “เจ้าจอมชาวมุสลิม” ถึง 4 คน!

1. เจ้าจอมหงส์ เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นพระสนมมุสลิมนิกายชีอะห์ เกิดในสกุลของเฉกอะหมัด ชาวเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานที่กรุงศรีอยุธยา

เจ้าจอมท่านนี้เป็นบุตรสาวของพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) กับคุณหญิงเสม ผู้สืบวงศ์มาจากสุลต่านสุลัยมานแห่งเมืองสงขลา ไม่ปรากฏว่าเกิดและถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในเมื่อปีใด แต่หลังจากรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต เจ้าจอมหงส์ยังคงพำนักในพระบรมมหาราชวัง อย่างน้อย 10 ปี 

ต่อมา เจ้าจอมหงส์ได้กราบทูลลาออกไปช่วยงานด้านศาสนากับครอบครัว เมื่อท่านถึงแก่กรรม ศพของท่านถูกฝังอยู่ที่มัสยิดต้นสน กรุงเทพมหานคร

2. เจ้าจอมจีบ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เจ้าจอมจิตร เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ท่านเป็นบุตรสาวของพระยาจุฬาราชมนตรี (เถื่อน) กับคุณหญิงนก และเป็นอีกหนึ่งพระภรรยาชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ไม่ปรากฏว่าถวายตัวและเสียชีวิตเมื่อใดเช่นกัน

3. เจ้าจอมตนกูสุเบีย บ้างเรียกว่า ตนกูสะเปีย ตนกูสุปิยา หรือเติงกูซาฟียะห์ เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ท่านเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ เป็นธิดาของสุลต่านมุฮัมมัดที่ 2 มุอัซซัม ชาห์ กับ เติงกูจิก เลอบาร์ ธิดาของสุลต่านอะห์มัดแห่งตรังกานู 

ตนกูสุเบียถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2405 ชีวิตในรั้ววังของเจ้าจอมนั้นไม่ค่อยมีความสุขดีนัก เพราะในบันทึกของแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า 

“ในบรรดาสตรีคนโปรดมีเจ้าหญิง ตนกูสุเบีย ผู้งดงาม เธอเป็นน้องสาวของสุลต่านมาฮ์มุด อดีตราชาแห่งปะหัง พระองค์ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตกหลุมรักเธออย่างหนักหน่วงทันทีที่เธอถูกนำเข้ามาเฝ้าฯ ยังราชสำนัก และยังรับเธอมาอยู่ในฮาเร็มโดยที่เธอไม่เต็มใจ รวมถึงในฐานะเป็นตัวประกันความภักดีของพี่ชายเธอ

แต่ด้วยว่าเธอนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อพระองค์ ในที่สุดพระองค์ก็เบื่อหน่ายและปลดเธอให้ไปใช้ชีวิตล้าหลังตามมีตามเกิดในเขตกำแพงวังนั่นเอง” (ปรับย่อหน้าโดยผู้เขียน)

ต่อมา เจ้าจอมตนกูสุเบียได้กราบทูลขอลาออกจากราชสำนักฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2413 เสกสมรสใหม่กับเติงกูหลง อิสมาอีล เจ้านายตรังกานู มีบุตร 2 คน และมีความสุขจนปั้นปลาย

4. เจ้าจอมลม้าย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นบุตรสาวของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) และคุณหญิงแพ ท่านได้รับราชการอยู่ในสำนักของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ หรือ สำนักสมเด็จที่บน

ไม่ปรากฏว่า เจ้าจอมชาวมุสลิม ผู้นี้ถวายตัวเมื่อใด แต่ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2459 และฝังไว้ที่มัสยิดต้นสน ที่เดียวกับเจ้าจอมหงส์ มีเลขห้าไทยเขียนไว้บนไม้นิฉ่าน เพื่อทำให้ทราบว่าเป็นพระสนมในรัชกาลที่ 5

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์. พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์. วารสารประวัติศาสตร์ มศว 2566. ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 หน้า 379-408, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567