ผู้เขียน | โชติกา นุ่นชู |
---|---|
เผยแพร่ |
ย้อนรอย พระราชพิธีโสกันต์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวัฒนธรรม การไว้จุก ของเด็กไทยโบราณ เจ้านายพระองค์ใดโสกันต์คนแรก-คนสุดท้าย?
วัฒนธรรมการไว้ผมของเด็กไทยโบราณคือ การไว้จุก ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง นับตั้งแต่พระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ ลงมาถึงบุตรธิดาของขุนนาง ตลอดจนบุตรหลานของสามัญชน เมื่อเด็กอายุครบโกนจุก ( 7 ขวบ 9 ขวบ หรือ 11 ขวบ สำหรับเจ้านายผู้หญิงเมื่อครบ 11 ชันษา สำหรับเจ้านายผู้ชายเมื่อครบ 13 ชันษา ) ทางครอบครัวของเด็กจะจัดพิธีโกนจุกขึ้นตามแต่ฐานะและความสะดวก
พิธีโกนจุกถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอันเกี่ยวข้องกับการเกิด โดยจะมีความเชื่อในเรื่องขวัญมาเกี่ยวข้อง ทั้งยังบอกว่าเด็กกำลังก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่
พิธีโกนจุกมีคำที่ใช้เรียกตามแต่ฐานะของบุคคลนั้น ๆ กล่าวคือ ถ้าจัดพิธีสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ที่ทรงมีพระอิสริยยศตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้า จนถึงชั้นพระองค์เจ้า จะเรียกว่า “โสกันต์” แต่ถ้าจัดสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือสมาชิกในราชสกุลวงศ์อื่น ๆ ในพระราชวงศ์ในลำดับชั้นหม่อมเจ้า จะใช้ว่า “เกศากันต์” ซึ่งเป็นพระราชพิธีเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ ต่างกันที่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ตลอดจนพิธีแห่บางอย่างอาจเพิ่มลดตามลำดับพระเกียรติยศของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ
พระราชพิธีโสกันต์ เจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่สมพระอิสริยยศ และฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ สิ่งก่อสร้างที่จำลองขึ้นในพระราชพิธีโสกันต์คือ “เขาไกรลาส” อันเป็นสมมุติบรรพต “ภูเขาจำลอง” ในการประกอบพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณี
พระราชพิธีโสกันต์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พิธีโสกันต์ในยุครัตนโกสินทร์นั้น ได้สืบทอดแบบแผนมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีเจ้าฟ้าพันทวดี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้าในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพียงพระองค์เดียวที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงทราบขนบธรรมเนียมในวังเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันทรงเกรงว่า พิธีโสกันต์ตามแบบโบราณราชประเพณีจะสูญหายไป จึงได้ทรงบันทึกและทรงแจกแจงรายละเอียดไว้เป็นตำรา เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงเข้าพิธีโสกันต์ตรงตามตำราที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงบันทึกไว้คือ “เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประสูติแต่เจ้านางคำสุก ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ เจ้ากรุงสัตนาคนหุต
ธรรมเนียมการโสกันต์ในครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น นิยมจัดในเดือน 4 พร้อมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย) การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ถือเป็นการปัดเป่าเสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายทั้งปวงให้สิ้นไป ดังนั้นการโสกันต์ หรือเกศากันต์ในพิธีตรุษเดือน 4 นี้จึงไม่ต้องหาฤกษ์ยามใด ๆ ด้วยเหตุดังกล่าว ในสมัยโบราณจึงนิยมจัดพระราชพิธีโสกันต์ หรือเกศากันต์พร้อมไปกับงานพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เลย กระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมเนียมการตั้งพิธีโสกันต์พร้อมการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์จึงค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวายแทน
สำหรับพระราชพิธีโสกันต์เจ้านายระดับเจ้าฟ้า ตามตำรับเดิมของเจ้าฟ้าพินทวดีนั้น จะมีการแห่และการสมโภชจนกระทั่งเชิญพระเกศาไปลอย รวมระยะเวลาถึง 7 วัน คือเริ่มตั้งแต่ตั้งพระราชพิธีที่พระมหาปราสาท มีการสร้างเขาไกรลาส เพื่อใช้เป็นที่สรงน้ำ และให้เจ้านายที่ทรงโสกันต์เสด็จขึ้นไปรับพรพระอิศวร บริเวณรอบเขาไกรลาส ตั้งราชวัตร ปักฉัตรเงินฉัตรทอง ฉัตรรายทาง มีพนักงานนั่งกลาบาศ (นั่งขัดสมาธิเรียงต่อกัน โดยเว้นระยะห่างไม่เกินศอกต่อศอก) พร้อมด้วยการละเล่นต่าง ๆ ส่วนขบวนแห่มีดังนี้
1. นางเชิญมยุรฉัตร เด็กหญิงแต่งชุดละครรำ คือนุ่งจีบ ห่มผ้าหน้านาง สวมชฎา เดินถือพุ่มที่ทำด้วยหางนกยูง
2. นางเชิญเครื่อง แต่งตัวแบบเดียวกับนางเชิญมยุรฉัตร แต่เชิญเครื่องสูง เช่น บังสูรย์ บังแทรก
3. นางแต่งตัวสะ ผู้หญิงแต่งตัวสวมเกี้ยว นุ่งผ้าลาย พื้นเขียวห่มผ้าแพรพื้นแดง เดินประนมมือตามขบวนแห่ เดินหน้านำขบวน
เจ้าฟ้าที่เข้าพิธีโสกันต์ทรงเครื่องขาว ประทับพระราชยานเสด็จไปฟังสวดมนต์สามวัน ถึงวันที่ 4 จึงโสกันต์ สรงน้ำ และเสด็จขึ้นเขาไกรลาสเพื่อรับพรพระอิศวร จากนั้นเสด็จลงมาทรงเครื่องต้น แห่เวียนรอบเขาไกรลาส 3 รอบ และแห่กลับในตอนเช้า ตอนบ่ายทรงเครื่องแดงเข้าพระราชพิธีสมโภช และมีกระบวนแห่สมโภชอีก 2 วัน ถึงวันที่ 7 แห่พระเกศาไปลอย เป็นอันเสร็จพระราชพิธีลงสรงโสกันต์ตามตำรับเดิมสำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า หากเป็นเจ้านายชั้นพระองค์รองลงมา ในกระบวนแห่จะไม่มีนางมยุรฉัตร ไม่มีเขาไกรลาสสำหรับสรง แต่จะทำเป็นพระแท่นสำหรับสรงแทนและกระบวนแห่ก็ทำย่อลงตามพระอิสริยยศ
แต่เมื่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การต่าง ๆ ได้ปรับให้เหมาะกับยุคสมัย จึงเหลืองานราชพิธีรวมเวลา 4 วัน แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ อาทิ มีนางเชิญเครื่อง นางมยุรฉัตร นางสะ เข้าขบวนแห่ มีการสร้างเขาไกรลาส สำหรับโสกันต์เจ้าฟ้าเหมือนเดิม ส่วนการละเล่นประกอบพิธีสมโภชก็เป็นไปตามแผนโบราณราชประเพณีคือ มีการเล่นกุลาตีไม้ ระเบง โมงครุ่ม รำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และมหรสพอื่น ๆ เป็นการเฉลิมฉลอง เช่น กระตั้วแทงควาย ญวนหกสูงไม้ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าพระราชพิธีโสกันต์นั้นจัดเป็นพิธีใหญ่ บางปีมีเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าทรงโสกันต์หลายองค์ก็จะมีขบวนแห่แหน การละเล่นต่าง ๆ อย่างครึกครื้น ชาววังจึงตั้งหน้าตั้งตาคอยที่จะดูกระบวนการแห่และมหรสพสมโภชกันอย่างตื่นเต้น
แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมา เจ้านายในชั้นหลัง ๆ “มิได้ไว้พระเมาลีกันอีกแล้ว” ประเพณีโสกันต์ หรือเกศากันต์จึงค่อย ๆ เลือนหายไป
พิธีโสกันต์ครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นในประเทศไทยคือพิธีโสกันต์ “พระองค์เจ้าอินทุรัตนา” พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่ประสูติแต่หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยาที่จัดขึ้นในปี 2475 อันเป็นปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นพิธีโสกันต์ก็กลายเป็นอดีต เหลือเพียงแค่การรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และอลังการเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม รัชกาลที่ 5 งดเงินเดือนเสนาบดี-ปลัดทูลฉลองที่ขาดเฝ้าในพระราชพิธีโสกันต์?
- 4 มกราคม 2408 : พระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5)
- รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระราชลัญจกร “พระเกี้ยว” (จุลมงกุฎ) ครั้งแรกเมื่อใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นิพัทธพงศ์ พุมมา. (2557, กรกฎาคม–ธันวาคม). เขาไกรลาส: เครื่องประกอบในพระราชพิธีโสกันต์. วารสาร มฉก.วิชาการ. 18(35) : 121-122.
ธาดาพร. (2551). 50 ปีความรู้คือประทีป. โสกันต์ พระราชพิธีที่เหลือแต่ความทรงจำ. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน). ฉบับที่ 4. หน้า 3-5.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มิถุนายน 2562