รัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระราชลัญจกร “พระเกี้ยว” (จุลมงกุฎ) ครั้งแรกเมื่อใด?

พระเกี้ยว พระเกี้ยวยอด

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรียกว่า พระราชลัญจกรพระเกี้ยว จุลมงกุฎ พระเกี้ยวยอด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 เป็นตรางา ลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวมีรัศมี ประดิษฐานบนพานรอง 2 ชั้น ปากพานชั้นล่างมีรูปดอกกุหลาบ เคียงด้วยฉัตรตั้ง 2 ข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้าง มีพานรอง 2 ชั้น วางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง

พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

โดยเหตุที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเกี้ยวขึ้นองค์หนึ่ง เพื่อให้รัชกาลที่ 5 (ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ) ใช้ทรงในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. 2408 จึงได้เรียกกันว่า “จุลมงกุฎ” มาแต่ครั้งนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง รัชกาลที่ 5 จึงทรงถือเอาพระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎนี้มาเป็นสัญลักษณ์หรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ต่อมา

พระราชพิธีโสกันต์ รัชกาลที่ 5
พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือ “ประมวลภาพพระปิยมหาราช” โดย เอนก นาวิกมูล. 2532)

พระราชลัญจกรนี้ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสาร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงประทับพระราชลัญจกรพระเกี้ยวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2410 กล่าวคือ

เมื่อ พ.ศ. 2410 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ส่งมองซิเอแบลกัวต์เป็นราชทูตพิเศษเข้ามาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญากับสยาม ต่อมาวันหนึ่ง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรเรือรบฝรั่งเศสตามคำกราบบังคมทูลเชิญของราชทูต

พระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก www.chula.ac.th)

จากนั้น “ราชทูตฝรั่งเศสจัดการรับเสด็จอย่างเต็มยศใหญ่ ชักธงบริวารและให้ทหารขึ้นยืนประจำเสาเรือรบ แล้วยิงปืนสลุตตามพระเกียรติยศรัชทายาททุกประการ อาศัยเหตุที่ราชทูตฝรั่งเศสแสดงความเคารพโดยพิเศษนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (หมายถึงรัชกาลที่ 5) ลงพระนามและประทับพระลัญจกร ในหนังสือสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนสัญญา กับกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย…”

ดังนั้น รัชกาลที่ 5 ขณะดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ จึงน่าจะทรงใช้ตรา “พระเกี้ยว” ประจำพระองค์ ทรง “ลงพระนามและประทับพระลัญจกร” ในหนังสือสำคัญดังกล่าว เช่นเดียวกับเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยาม ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ข้างต้น

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “ดูเหมือนตราพระลัญจกรรูปพระจุลมงกุฎ (เกี้ยวยอด) จะคิดขึ้นในคราวนี้ แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2555). พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

ส. พลายน้อย. (2527). ความรู้เรื่องตราต่าง ๆ เล่ม 1 พระราชลัญจกร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงสาส์น


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564