ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นแล้วนั้น ในการเสด็จนิวัติพระนคร ได้มีการจัดงานรับเสร็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งนับเป็นงานสำคัญงานแรกที่ถนนราชดำเนินถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงาน ที่มีการตกแต่ง “ซุ้มรับเสด็จ” ตลอดถนน โดยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน และชาวต่างประเทศ พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรับพระขวัญพระพุทธเจ้าหลวง
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปรารภว่า การเสด็จนิวัติพระนครครั้งนี้ ไม่ควรจะจัดการรับเสด็จให้เอิกเกริกเหมือนครั้งก่อน ซึ่งมีงานมหรสพงานรื่นเริงนานนับเดือน ทรงเห็นว่า “…ที่จะจัดการรับเสด็จฯ ไม่ควรจะให้เปลืองทุน และเสียเวลาของคนทั้งหลาย พากันเหน็ดเหนื่อยเหมือนอย่างครั้งก่อน…”
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ การรับเสด็จเฉพาะในกรุงเทพฯ จะจัดให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่การพระราชพิธีส่วนพระองค์ ก็ได้จัดให้เป็นตามปกติที่ต้องดำเนินการ สรุปแล้วในการเฉลิมฉลองครั้งนี้ กินเวลา 3 วัน นับแต่วันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450
การจัดเตรียมงานรับเสด็จมีขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2450 โดยที่ประชุมเสนาบดีสภา ซึ่งมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานเสนาบดีสภา ได้มีการหารือการรับเสด็จ ซึ่งมีเวลาเตรียมการไม่ถึงสามเดือน
การรับเสด็จนอกจากส่วนพิธีการและระเบียบการต่าง ๆ แล้ว การสร้างซุ้มรับเสด็จและการตกแต่งสถานที่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โดยที่ประชุมเสนาบดีสภาได้มอบหมายหน้าที่ให้แต่ละหน่วยงานได้ประดับตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ท่าราชวรดิษฐ์ พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ถนนราชดำเนินตลอดแนวตั้งแต่หัวถนนไปจรดปลายถนนที่พระราชวังดุสิต
หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 รายงานข่าวเกี่ยวกับการตกแต่งพระนครเพื่อรับเสด็จไว้ว่า ประชาชนจำนวนมากมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นบริเวณสวนดุสิต เพื่อชื่นชมซุ้มรับเสด็จทั้งหลายที่สร้างตลอดแนวถนน ซุ้มรับเสด็จ ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตบรรจง หากรื้อนั่งร้านออกไปจะสวยงามยิ่งขึ้น ซุ้มรับเสด็จเหล่านี้ยิ่งงดงามขึ้นอีกเมื่อตอนกลางคืน มีการเปิดไฟนับพัน ๆ ดวง
หนึ่งคืนก่อนวันรับเสด็จ หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์รายงานข่าวว่า ในตอนกลางคืนได้มีฝนตกลงมา จนเกรงว่าจะทำความเสียหายแก่ซุ้มรับเสด็จ และปะรำพิธีต่าง ๆ แต่ฝนก็ตกลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผิดกับวันที่เสด็จพระราชดำเนินถึงแล้ว ที่หลังจากนั้นก็มีฝนตกใหญ่ทั่วทั้งพระนคร
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินถึงยังท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพิธีต่าง ๆ ตามธรรมเนียม จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาสนามหลวง ซึ่งประชาชนมาเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณ ที่นั่น แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งไปยังพระราชวังดุสิต ผ่านถนนราชดำเนินที่ตกแต่งซุ้มรับเสด็จอย่างงดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติยศ
นอกเหนือจากซุ้มรับเสด็จของกรมทหารเรือ ที่ตกแต่งบริเวณท่าน้ำราชวรดิษฐ์ และซุ้มรับเสด็จของกรมวัง ที่ตกแต่งบริเวณพระบรมมหาราชวังแล้ว ซุ้มตลอดแนวถนนราชดำเนินมีทั้งหมด 10 ซุ้ม เรียงตามลำดับตั้งแต่ซุ้มแรกที่สนามหลวงไปถึงซุ้มสุดท้ายที่พระราชวังดุสิต ดังนี้
ซุ้มรับเสด็จกรมยุทธนาธิการ ตกแต่งบริเวณท้องสนามหลวง สร้างเป็นช้างสองเชือกชูงวงเทิดพระเกี้ยว
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงกลาโหม ตกแต่งบริเวณสะพานผ่านพิภพ สร้างเป็นคชสีห์สองตัวรองรับพระมหาฉัตร ด้านบนเป็นตราจักรีขนาดใหญ่อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ และซุ้มมีข้อความ “ส์ วาคต เต มหาราช” หมายถึง “Good Coming” หรือ “Pronouncing Welcome”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงมหาดไทย ตกแต่งบริเวณถนนตะนาว สร้างเป็นหอสูง 4 หอ ลักษณะคล้ายหอไอเฟลเฉพาะส่วนตรงกลาง (ตัดส่วนยอดและฐานออก) เหนือทางเชื่อมมีตรา จปร.ภายใต้พระมหามงกุฎ มีข้อความประดับไฟฟ้าว่า “ยินดีต้อนรับ” นอกจากนี้ ยังตกแต่งด้วยสายมาลัยจำนวนมาก ถักสานสลับไปมา ประดับด้วยโคมไปแบบญี่ปุ่นตลอดความยาวสองฝั่งถนน
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงยุติธรรม ตกแต่งบริเวณถนนราชดำเนินกลาง สร้างเป็นซุ้มสีทองหรูหรา มีดุสิตเทวบุตร นั่งบนปัทมบัลลังก์ อยู่ใต้รัศมีดวงอาทิตย์ มีเทวดานั่งขนาบ องค์หนึ่งถือพระแส้จามรี อีกองค์ถือพัดวาลวิชนี และซุ้มมีข้อความว่า “ทรงพระเจริญ”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงนครบาล ตกแต่งบริเวณสะพานผ่านฟ้า ด้านเหนือ สร้างเป็นประตูแบบจีน หลังคาแบบจีน 3 ชั้น เสาประตูมีมังกรพันรอบเสา โคมไฟเขียนเป็นภาษาจีน แปลว่า “โอรสสวรรค์” และ “หมื่น ๆ ปี” ยังมีการตกแต่งด้วยโคมแบบญี่ปุ่นตลอดแนวถนน และซุ้มมีข้อความประดับไฟฟ้าว่า “ยินดีรับเสด็จ”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงธรรมการ ตกแต่งบริเวณสยามแยกถนนจักรพรรดิ หรือถนนจักรพรรดิพงศ์ สร้างเป็นซุ้มสามคูหา ทำทรวดทรงอย่างไทย มีพระเพลิงทรงระมาด พญานาค และพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านบน และซุ้มมีข้อความอักษรขอมว่า “จิรัป์ปวาสิํ สยามิน์ทํ อภินัน์ทาม อาคตํ” หมายถึง “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายยินดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประเทศสยาม ซึ่งเสด็จประพาสมานาน ได้เสด็จมาถึงแล้ว” ส่วนที่อยู่เหนือถนน แขวนธงผืนใหญ่เขียนข้อความว่า “ทรงพระเจริญ”
ซุ้มรับเสด็จโรงเรียนนายร้อยทหารบก ตกแต่งบริเวณหน้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก สร้างเป็นซุ้มขนาดเล็ก รูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่เหนือลูกโลก สองข้างเป็นราชสีห์ประคองฉัตร 7 ชั้น ใต้ลูกโลกมีข้อความว่า “ทรงพระเจริญ”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงเกษตราธิการ ตกแต่งบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้านใต้ สร้างเป็นหอสูง 4 หอ ลักษณะคล้ายหอสวดในมัสยิด ยอดเป็นโดมสีขาว บริเวณโดยรอบตกแต่งด้วยโคมไฟจำนวนมาก ประตูซุ้มส่วนบนสุดตอนกลางมีจุลมงกุฎครอบตราแผ่นดิน และซุ้มมีข้อความว่า “เพื่อทรงพระเจริญ”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงพระคลัง ตกแต่งบริเวณสี่แยกพิษณุโลก สร้างเป็นซุ้มโค้งรูปเกือกม้า สองข้างประดับด้วยเหรียญทศ ด้านหนึ่งเป็นพระราชลัญจกร พระครุฑพ่าห์ มีตัวอักษรว่า “สยามรัฐ รศ 126” ด้านหลังมีอักษร “ทรงพระเจริญ” อีกด้านเป็นพระบรมฉายาลักษณ์หันพระพักตร์ข้าง มีตัวอักษรว่า “จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช” ด้านหลังเป็นรูปนางฟ้าให้พรศิลปะแบบตะวันตก มีตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Long Live The King”
ซุ้มรับเสด็จกระทรวงโยธาธิการ ตกแต่งบริเวณวงเวียนดวงตะวัน หรือบริเวณหน้าพระลาน (ช่วงเวลานั้นยังไม่มีพระบรมรูปทรงม้า) สร้างเป็นหอสูง 2 หอ แบบตะวันออก สูงสง่าและรองรับด้วยแถวเสารูปโค้ง วัดความสูงจากฐานถึงยอดได้ประมาณ 40 เมตร ด้านหน้าซุ้มสร้างเป็นพระพฤหัสบดีทรงกวาง
โดยซุ้มรับเสด็จกระทรวงโยธาธิการสร้างขึ้นเพื่อจำลองลักษณะสิ่งก่อสร้างในอนาคตบริเวณนี้ นั่นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคมและพระบรมรูปทรงม้า ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่าพระพฤหัสบดีทรงกวาง “…ทำเทียบเป็นตัวอย่างที่จะสร้างพระบรมรูปทรงม้า…”
หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 รายงานข่าวว่า “…เส้นทางกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เริ่มตั้งแต่ เมื่อเข้าสู่ถนนราชดำเนิน ที่เสาธงมุมพระบรมมหาราชวัง ไปสิ้นสุดที่สวนดุสิต โดยมีซุ้มรับเสด็จที่ได้รับการออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง หลายซุ้มด้วยกัน
‘ซุ้มช้าง’ เป็นซุ้มที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นซุ้มที่สวยงามที่สุด ประกอบด้วยช้างเผือกสองเชือก ชูงวงขึ้นอันเป็นการถวายการต้อนรับ โดยปลายงวงได้เทินพระเกี้ยวขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ตรงกลางของถนน… หลังของช้างทั้งสองเชือกคลุมด้วยผ้าสีทอง เชือกและบังเหียนก็เป็นสีทอง…
ตลอดแนวระหว่างซุ้มช้างไปยังสะพานตอนที่หนึ่ง (สะพานผ่านพิภพลีลา) จะมีเสาสไตล์เวนิส (Venetian masts) ตั้งอยู่ตลอดแนว โดยมี โครงลูกไม้สีแดง และมีพระมหาฉัตรอยู่ที่ยอดทุกเสา นอกจากนั้น เหนือถนนยังมีมาลัยดอกไม้สีต่าง ๆ ทำเป็นเชือกจากสองข้างถนนมามัดรวมกันที่กลางถนน แสงไฟฟ้าที่ใช้เปิดในเวลากลางคืนตลอดสองฝั่งถนนและตามซุ้มต่าง ๆ นั้น ได้มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าย่อยที่มีการติดตั้งเป็นระยะ ๆ …”
อ่านเพิ่มเติม :
- “ซุ้มช้าง” สูงเท่าตึก 7 ชั้น สร้างรับเสด็จ ร.5 ทำจากอะไร?
- ตามหาเบื้องหลังของภาพหวิว สมัยรัชกาลที่ 5 ฤๅเป็นภาพหลุดฉบับยุคโบราณ
- หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ร.5
อ้างอิง :
ยุวดี ศิริ. (2549). ซุ้มรับเสด็จ พระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : มติชน.
ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563