4 มกราคม 2408 : พระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5)

พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬา
พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (ภาพจากหนังสือ "ประมวลภาพพระปิยมหาราช" โดย เอนก นาวิกมูล, 2532)

ภาพดังกล่าวเป็นภาพพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) ในภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงยืนอยู่บนเกยหน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประทับบนพระราชยานเสลี่ยงคานหาม

วันโสกันต์ตรงกับวันพฤหัส เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู เท่ากับ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2408 (หากนับแบบสากลจะเป็น พ.ศ. 2409)

Advertisement

ภาพนี้ไม่ได้ระบุวันเวลาไว้แต่คาดว่าถ่ายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2408 เป็นภาพถ่ายฝีมือจอห์น ทอมสัน สังเกตลายเซ็นมุมล่างซ้ายของภาพปรากฏไว้ว่า เจ.ทอมสัน ถ่ายจากภาพของเก่าอัดบนกระดาษ (ไม่มีกระจกต้นฉบับ) หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เนกาตีฟ 21369 (ภาพและข้อมูลจากหนังสือ “ประมวลภาพพระปิยมหาราช” โดย เอนก นาวิกมูล. 2532)

พิธีโกนจุกมีคำที่ใช้เรียกตามแต่ฐานะของบุคคลนั้น  กล่าวคือ ถ้าจัดพิธีสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ที่ทรงมีพระอิสริยยศตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้า จนถึงชั้นพระองค์เจ้า จะเรียกว่า “โสกันต์” แต่ถ้าจัดสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือสมาชิกในราชสกุลวงศ์อื่น  ในพระราชวงศ์ในลำดับชั้นหม่อมเจ้า จะใช้ว่า “เกศากันต์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีเช่นเดียวกับพระราชพิธีโสกันต์ ต่างกันที่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ตลอดจนพิธีแห่บางอย่างอาจเพิ่มลดตามลำดับพระเกียรติยศของเจ้านายพระองค์นั้น 

พิธีโสกันต์ในยุครัตนโกสินทร์สืบทอดแบบแผนมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีเจ้าฟ้าพันทวดี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้าในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพียงพระองค์เดียวที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงทราบขนบธรรมเนียมในวังเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันทรงเกรงว่า พิธีโสกันต์ตามแบบโบราณราชประเพณีจะสูญหายไป จึงได้ทรงบันทึกและทรงแจกแจงรายละเอียดไว้เป็นตำรา

อ่านเพิ่มเติมย้อนรอยพระราชพิธีโสกันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายพระองค์ใดโสกันต์คนแรก-คนสุดท้าย?


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 มกราคม พ.ศ.2562