ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“โขลน” เป็นคำที่คนยุคนี้ไม่ค่อยคุ้นหูหรือไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว เพราะไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ในอดีต โขลนมีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากมีบทบาทในพระบรมมหาราชวัง มี “เสด็จอธิบดี” เป็นผู้ดูแล “กรมโขลน”
โขลน เป็นพนักงานสตรี สังกัดกรมโขลน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทำหน้าที่คล้ายตำรวจนครบาลของพระราชสำนักฝ่ายหน้า
กรมโขลน สังกัดกระทรวงวัง มีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ตั้งแต่นายซึ่งเป็นชั้นต่ำสุด แล้วจึงถึงจ่า ชั้นสูงสุด คือ “หลวงแม่เจ้า” ทั้งหมดมีอธิบดีกรมโขลนเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอธิบดีกรมโขลน หรือที่เรียกกันว่า “เสด็จอธิบดี” คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา) ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสายสกุลบุนนาค
กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5
เสด็จอธิบดี ไม่เพียงทรงบังคับว่าราชการฝ่ายใน พระองค์ยังทรงทำหน้าที่อภิบาล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พระนามเดิมคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกด้วย
ที่ทำการหรือกองรักษาการกรมโขลน อยู่ชั้นล่างของพระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เรียกว่า ศาลากรมโขลน เครื่องแบบพนักงานโขลนที่ใช้ทั่วไปคือ นุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนสีน้ำเงินกรมท่า สวมเสื้อขาวคอกลมผ่าอกกระดุม 5 เม็ด แขนกระบอกยาวจรดข้อมือ มีผ้าห่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาวอีกผืนหนึ่งห่มเป็นสไบเฉียงไหล่ซ้าย
โขลน มีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย คอยดูแลกวดขันให้ทุกคนปฏิบัติตามขนบประเพณีที่อยู่ในขอบเขตของกฎมณเฑียรบาล
แม้โขลนจะเป็นชาววัง แต่ก็อยู่ในลำดับต่ำสุด จากการแบ่งกลุ่มชาววังออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มชั้นสูง ได้แก่ เจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์
กลุ่มชั้นกลาง ได้แก่ บุตรหลานเสนาบดี หรือคหบดีที่ถวายตัวกับเจ้านายตำหนักต่างๆ
กลุ่มชั้นต่ำ ได้แก่ ข้าทาสบริวารที่ต้องใช้แรงงาน รวมทั้ง โขลน แต่เพราะหน้าที่รักษากฎระเบียบธรรมเนียมวังของโขลน ทำให้โขลนมีอำนาจในการว่ากล่าวคนทำผิด หรือพลั้งเผลอทำผิดขนบประเพณีวัง ซึ่งโขลนจะใช้วิธีว่ากล่าวอบรมสั่งสอนต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ได้รับความอับอาย
ชาววังจึงเกรงกลัวโขลน ไม่อยากมีเรื่องราวด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ชีวิตสาวชาววัง ใครว่าสบาย? อาหาร-เครื่องแต่งกายล้วนละเอียดซับซ้อน
- เปิดวิธีซักรีดผ้าของชาววัง และเคล็ดลับ “หอมติดกระดาน”
- เปิดธรรมเนียมเข้า-ออก “พระราชฐานชั้นใน” หากใครนอนค้างห้ามกางมุ้ง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๓๒ วันประสูติสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา”.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567