ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนน่าจะพอคุ้นชื่อ แอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ “แหม่มแอนนา” ครูสอนภาษาอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 4 กันบ้าง ยุคนั้นผู้เรียนส่วนใหญ่คือเจ้าจอมและพระราชธิดาในพระองค์ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปทำให้ทรงมีพระราชประสงค์ฝึกหัดคนเพื่อดูแลกิจการบ้านเมือง หนึ่งในนั้นคือต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จึงทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวังขึ้น แล้ว คลาสภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 เรียนกันอย่างไร ในเมื่อคนสอนพูดไทยไม่ได้ ส่วนคนเรียนก็พูดอังกฤษไม่เป็น
ดร. อาวุธ ธีระเอก เล่าในหนังสือ “ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ ๕” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า
คลาสภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเมื่อราว พ.ศ. 2415 เมื่อ ฟรานซิส จอร์ช แพทเทอร์สัน ครูชาวอังกฤษเดินทางมาสยาม เพื่อเยี่ยมน้าชายคือ หลวงรัถยาภิบาลบัญชา (กัปตันเอม) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างไว้เป็นครู และให้ตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษคู่กับโรงเรียนไทยที่มีอยู่เดิม
โรงเรียนภาษาอังกฤษนี้จัดสอนเจ้านายช่วงเช้า และสอนทหารมหาดเล็กช่วงบ่าย ตอนแรกก็คึกคัก มีนักเรียนมาเรียนกว่า 50 คน แต่ต่อมาส่วนใหญ่เลิกเรียนกลางคัน เจ้านายที่อายุมากหน่อยก็ออกไปทำราชการ ชั้นรองลงมาก็มักถึงเวลาผนวชเป็นสามเณร ส่วนทหารมหาดเล็กก็ต้องเรียนวิชาอื่นมาก จึงมาเรียนภาษาอังกฤษได้น้อยลง
ปีถัดมา นักเรียนจึงเหลือไม่ถึงครึ่ง และเริ่มลดลงเรื่อยๆ ซ้ำยังไม่มีนักเรียนใหม่มาเพิ่ม เมื่อถึงปีที่สามจึงเหลือเพียงนักเรียนเจ้านาย 5 พระองค์ และย้ายที่เรียนไปยัง “หอนิเพธพิทยา” ที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จากนั้นโรงเรียนก็เป็นอันเลิกไป เมื่อครูแพทเทอร์สันเดินทางกลับหลังครบสัญญา 3 ปี
คลาสภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 เรียนกันอย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างพูดภาษาของอีกฝ่ายไม่เป็น
คำตอบคือ สมัยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงทันเรียนภาษาอังกฤษกับ “แหม่มแอนนา” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ล่าม พอแปลคำง่ายๆ ได้บ้าง คำศัพท์ที่เกินความรู้ก็ใช้พจนานุกรมที่เรียกว่า “หนังสืออภิธานศัพท์” เข้าช่วย
ผู้สอนใช้หนังสืออภิธานศัพท์ของหมอแมคฟาร์แลนด์ ที่แปลศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยชี้ให้นักเรียนดูความหมายในภาษาไทย ส่วนผู้เรียนใช้หนังสือ “สัพพะจะนะภาษาไทย” ของสังฆราชปัลเลกัวซ์ ตีพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2397 (สมัยรัชกาลที่ 4) แปลคำภาษาไทยเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาละติน
ส่วนเนื้อหาและวิธีการสอน ผู้สอนสอนทั้งภาษาและเนื้อหาวิชาควบคู่กันไป โดยใช้หนังสือและแผนที่ฝรั่งเป็นหลัก วิชาเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ ทั้งยังสอนให้รู้ความเป็นไปในต่างประเทศ และสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ เช่น เยอรมนีทำสงครามชนะฝรั่งเศส การเปลี่ยนระบอบการปกครองของฝรั่งเศสจากราชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หนึ่งในผู้ที่ทรงเล่าเรียนกับครูแพทเทอร์สัน เห็นว่าวิธีดังกล่าวไม่เพียงแต่ให้หัดแปลความ แต่ให้หัดพูด หัดอ่าน แนะให้เข้าใจความ เป็นประโยชน์ต่อพระองค์อย่างยิ่ง ทำให้ทรงใช้งานภาษาอังกฤษได้จริง
ตอนหลังเมื่อต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ภาษาของกันและกันมากขึ้น การใช้พจนานุกรมช่วยในการสื่อสารระหว่างกันก็ลดน้อยลงไป
อ่านเพิ่มเติม :
- แหม่มแอนนา เล่าเรื่องเจ้าจอมในพระปิ่นเกล้าฯ ส่วนใหญ่เป็นหญิงลาว ชี้ สวย-ละมุนกว่าไทย
- ไฉน “แหม่มแอนนา” ปลื้ม “พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์” พระราชธิดาผู้สิ้นชีพในคุกหลวง
- “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดร. อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ :มติชน, 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2567