“ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ แห่งแรกตั้งอยู่ที่ไหน?

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กรมหลวงชุมพร เสด็จเตี่ย มี ผู้ ยกย่อง เป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มี ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร
กรมหลวงชุมพร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ถึง 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) หรือ “กรมหลวงชุมพร” องค์บิดาของทหารเรือไทย เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับการยกสถานะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ มีศาลเคารพกระจายอยู่ทั่วไทย รู้จักกันในชื่อ “ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” ซึ่งหากนับแล้วก็คงมีหลักร้อยแห่งทั่วประเทศ แล้วศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรแห่งแรกอยู่ที่ไหน?

คเณศ กังวานสุรไกร เล่าไว้ในบทความ “อนุสรณ์กรมหลวงชุมพรฯ จากเกาะไผ่ถึงสัตหีบ : การเปลี่ยนแปลงการระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ ในกองทัพเรือ พ.ศ. 2470 ถึงทศวรรษ 2510” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2565 ไว้ว่า

Advertisement

สังคมไทยเริ่มระลึกถึง “กรมหลวงชุมพร” ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นามว่า “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” ตั้งแต่ทศวรรษ 2470 หรือไม่ถึงสิบปีนับจากพระองค์สิ้นพระชนม์

ในพระประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (แรกประสูติคือ หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา) พระโอรสในกรมหลวงชุมพร ช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ระหว่าง พ.ศ. 2474-2476 นายเมืองเริง วสันตสิงห์ ผู้เขียนพระประวัติ ได้เล่าถึงคำเล่าลือในหมู่ชาวบ้าน ที่อธิบายความสำเร็จน่าอัศจรรย์ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาในการปราบปรามโจรผู้ร้ายว่า “กรมชุมพร…พระบิดาของท่านคงจะเสด็จมาช่วยพระองค์ท่านอยู่เสมอ”

นั่นคือเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของกรมหลวงชุมพร แล้ว “ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร” แห่งแรกอยู่ที่ไหน?

คเณศ บอกในบทความว่า ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร 2 แห่ง ปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 2480-2500 พร้อมเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์เหนือจริง

แห่งแรก คือ ศาลที่ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร อันเป็นบริเวณที่ประทับขณะทรงมีพระชนมชีพ ส่วนแห่งที่สองคือ ศาลที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร อันเป็นสถานที่สิ้นพระชนม์ เรียงตามลำดับที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์ยืนยัน และสามารถตรวจสอบเวลาที่ปรากฏขึ้นได้

กรมหลวงชุมพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หลักเมือง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2484 เรื่องเกี่ยวกับเสียงดังประหลาดที่เกิดขึ้นบริเวณศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร ย่านนางเลิ้ง ซึ่งผู้ให้ข้อมูลแก่นักหนังสือพิมพ์อธิบายว่า เสียงที่ดังขึ้นนั้นน่าจะเป็นเสียงแสดงความยินดีพระทัยของเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร เมื่อทรงทราบว่าประเทศไทยจะได้รับดินแดนคืนจากฝรั่งเศส (ภาพจากหลักเมือง, 10 มีนาคม 2484)

ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร ที่ย่านนางเลิ้ง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบย้อนไปได้อย่างน้อยถึงทศวรรษ 2480 โดยปรากฏครั้งแรกในข่าวหนังสือพิมพ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2484 เล่าถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ที่เป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์ของเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร ปรากฏในเนื้อข่าวว่า

“ตามข่าวที่เราได้เสนอไปแล้วในหนังสือของเราประจำวันศุกร์ที่ 31 มกราคมถึงเรื่องกรมหลวงชุมพรให้รบ คือได้มีเสียงประหลาดเกิดขึ้นณศาลจ้าวกรมหลวงชุมพร ตำบลนางเลิ้งในยามดึกสงัด…เป็นเสียงปึงปังดังสนั่นหวั่นไหว และผู้คุ้นเคยบนศาลจ้าวได้กล่าวกับผู้แทนของเราว่า จ้าวพ่อคงไม่พอพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนกล่าวว่า จ้าวพ่อไม่ปรารถนาจะให้หยุดรบ นอกจากจะรุกต่อไปให้เด็ดขาด

บัดนี้ได้มีข่าวคืบหน้าต่อไปอีกว่า หลังจากฝรั่งเศสได้ยินยอมตกลงในกรณีย์พิพาท…ในเวลาดึกสงัดราวตี 3 ราษฎรบางคนที่เช่าห้องอยู่ใกล้ๆ กับศาลจ้าวพ่อกรมหลวงต่างพากันตกใจตื่นและขนลุกขนพองตกใจกลัวไปตามกัน…ราษฎรผู้หนึ่งกล่าวกับผู้แทนของเราว่า คงเปนเสียงของจ้าวพ่ออีกนั่นแหละ”

ความศักดิ์สิทธิ์ของ “กรมหลวงชุมพร” ถูกย้ำอีกครั้งใน พ.ศ. 2493 เมื่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เสด็จไปร่วมสงครามเกาหลี

พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร ทรงเล่าถึงการประสบอิทธิปาฏิหาริย์ของกรมหลวงชุมพร ซึ่งช่วยสงบไต้ฝุ่นระหว่างที่พระองค์ทรงโดยสารเรือไปยังเกาหลีว่า “วันเดียวตามทางเจอไต้ฝุ่นหลายหนแต่เราบนกรมหลวงชุมพรหายเงียบไปทุกที ศักดิ์สิทธิ์มาก”

หลังจากนั้น ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรก็เกิดขึ้นทั่วประเทศ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในพื้นที่และผู้ที่ศรัทธาในกรมหลวงชุมพร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2567