เปิดวิธีซักรีดผ้าของชาววัง และเคล็ดลับ “หอมติดกระดาน”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เจ้าคุณจอมมารดาสำลี สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ชาววัง ฝ่ายใน
จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

สำหรับสตรีในราชสำนัก หรือ “ชาววัง” ผ้าไม่ได้เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยสี่ แต่ยังเป็นเครื่องบอกสถานะ, บอกรสนิยม, บอกถึงความละเอียด และความรู้ในการแต่งกาย ถึงขั้นมีคำเรียกว่า เครื่องแต่งกายของชาววังนั้น “หอมติดกระดาน”

เสื้อผ้าหรือเครื่องฉลองพระองค์ของเจ้านายและข้าราชสำนักฝ่ายใน นอกจากจะแตกต่างจากเสื้อผ้าของคนสามัญด้านคุณภาพและสีสันของผ้าแล้ว ยังมีลักษณะพิเศษสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เสื้อผ้าชาววังจะต้องมีกลิ่นหอมรวยรินจากทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม

จนเป็นที่กล่าวขวัญกันมาถึงทุกวันนี้ว่า ไม่ว่าชาววังจะไปนั่งที่ไหน แม้จะลุกไปนานแล้วก็ตาม แต่กลิ่นหอมที่กรุ่นกำจายจากผืนผ้าก็จะติดอยู่ ณ บริเวณนั้น ถึงกับมีคำพูดว่า “ชาววังนั่งที่ไหนหอมติดกระดานที่นั่น”

ความหอมติดกระดานของผ้านุ่งผ้าห่มชาววัง เกิดจากการซักทำความสะอาด ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเสียทั้งเวลาและแรงงาน แต่ก็เป็นวิธีเฉพาะของชาววัง ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาอันเฉลียวฉลาด ความช่างสังเกต ช่างทดลอง และความอดทนเป็นสำคัญ

แม้ในสมัยโบราณจะยังไม่มีเครื่องมือทันสมัยอำนวยความสะดวกในการซักรีดเสื้อผ้า อีกทั้งผ้าที่เกิดจากกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างพิถีพิถัน เช่น มีการสอดเส้นโลหะประเภทเงินหรือทองผสมลงไปขณะถักทอ เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าเยียรบับ ผ้าอัตลัด บางครั้งก็ยังมีการปักเครื่องอัญมณีมีค่าต่างๆ ลงบนเนื้อผ้า ทำให้การทำความสะอาดยิ่งยุ่งยากขึ้นอีก

แต่กรรมวิธีของชาววังก็สามารถทำให้ผ้าชนิดต่างๆ นั้นมีพร้อมทั้งความสะอาดเรียบร้อย สวยงาม และหอมกรุ่น

กรรมวิธีซักผ้าสุดประณีตของ “ชาววัง”

กรรมวิธีการทำความสะอาดผ้าธรรมดาๆ ก็ต้องเริ่มแยกระหว่างผ้านุ่งและผ้าห่ม ผ้านุ่งทั้งผ้าพื้นและผ้าลาย ทำความสะอาดโดยกรรมวิธี “ต้ม” วิธีต้มผ้าของชาววังเริ่มตั้งแต่ต้มน้ำด้วยภาชนะใหญ่เล็กตามปริมาณของผ้า เมื่อน้ำเดือดจึงใส่ต้นชะลูดหอม

ต้นชะลูด เป็นต้นไม้เนื้อหอม มีดอกเป็นช่อเล็กๆ สีขาว นำส่วนต้นมาหั่นเป็นฝอยเล็กๆ ตากแห้ง เวลาใช้จึงนำมาใส่ในน้ำต้มเดือด เพื่อให้กลิ่นหอมจากน้ำที่ต้มซึมซาบเข้าไปถึงเนื้อในผ้า แล้วจึงใส่ ลูกซัด ลักษณะเป็นเมล็ดเล็กๆ สีน้ำตาล ขนาดเท่าเมล็ดองุ่น ประมาณ 1 กำมือ

ลูกซัดนี้เมื่อถูกน้ำร้อนจะคลายยางออกมาเป็นเมือกลื่นเหนียวๆ เหมือนแป้ง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อีกด้วย ลูกซัดจะทำให้ผ้าแข็งตัวเหมือนลงแป้ง เวลาตากแห้งแล้วนำไปรีดผ้าจะเป็นเงามันและอยู่ตัว ต่อจากนั้นจึงนำผ้าที่ต้องการต้มใส่ไปทีละผืน แล้วใช้ไม้เขี่ยกลับไปกลับมาให้คลายสิ่งสกปรกออกแล้วจึงนำขึ้น และใส่ผืนใหม่ลงไป ทำเช่นเดียวกันจนหมดผ้า แล้วจึงนำไปตากให้แห้ง

ดอกชะลูดที่ชาววังนำมาตากแห้งแล้วนำไปต้มกับผ้า ทำให้กลิ่นหอมติดเนื้อผ้า

ส่วน ผ้าแถบ หรือ ผ้าสไบ โดยมากเป็นผ้าที่เบาบาง ทำด้วยแพรไหม เช่น ผ้าวิลาศ ผ้าสาลู มักไม่ใคร่สกปรก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องซักหรือทำความสะอาดบ่อยนัก แต่วิสัย “ชาววัง” จะต้องทำความสะอาดและอบร่ำให้มีกลิ่นหอมอยู่เสมอ การซักผ้าชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องต้ม เพียงแต่ซักน้ำให้สะอาดตากให้แห้งแล้วจึงนำมาจีบ

วิธีจีบก็มีต่างๆ กัน บางคนใช้จีบด้วยมือ ช่วยกัน 2 คน จีบคนละข้าง วิธีนี้ผู้ทำจะต้องมีความชำนาญสูง เมื่อจีบแล้วจึงนำของหนักๆ มาทับไว้ให้เรียบและอยู่ตัว หรือบางคนใช้วิธีมัดหัวท้ายและกลางเพื่อให้จีบอยู่ตัว มีบางคนที่มีความสามารถจีบคนเดียวโดยใช้หัวแม่เท้ากับนิ้วถัดไปคีบไว้ แล้วจับจีบทีละข้าง วิธีเช่นนี้มักถูกตำหนิว่าเป็นวิธีของไพร่ ชาววังจึงไม่ใคร่จะนิยมทำกัน

อีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีของผู้มีฐานะ คือใช้ เครื่องอัดกลีบผ้า ลักษณะเป็นไม้ 2 แผ่นตั้งขนานกันบนไม้อีกแผ่นหนึ่ง ทำให้เกิดร่องระหว่างไม้ทั้ง 2 แผ่น เวลาใช้จีบผ้าสไบใส่ลงไประหว่างร่องทีละชิ้น จากนั้นใช้ไม้อีกชิ้นหนึ่งที่มีความกว้างเท่ากับร่องไม้เรียกว่าลิ้นอัดทับลงไป ใช้เชือกมัดปลายผ้าที่โผล่ออกมาทั้ง 2 ด้าน หรือใช้ไม้ใหญ่ทับหัวทับท้าย เมื่อเวลาแก้เชือกและดึงไม้ลิ้นออกจะได้ผ้าสไบที่มีกลีบงดงามและคงทน

ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้ลูกซัด เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าเยียรบับ ผ้าตาด และผ้าอัตลัด ก็จะใช้วิธีทำความสะอาดด้วย น้ำมะพร้าว แล้วนำมานึ่งแทนการต้ม การนึ่งก็เป็นวิธีการที่ทำให้ผ้ามีกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน โดยนำเครื่องหอมต่างๆ เช่น ชะลูด ลูกซัด ใบเตย ใบเนียม มาต้มกับน้ำ แล้วนำผ้าที่ทำความสะอาดแล้วแต่ยังเปียกอยู่ใส่ที่นึ่ง นึ่งด้วยไฟอ่อนๆ กลั่นน้ำเครื่องหอมอวลอบกำซาบเข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปตากให้แห้ง

ผ้าบางชนิดส่วนมากเป็นพระภูษาหรือผ้านุ่ง จะต้องผ่านกรรมวิธีอีกวิธีหนึ่งหลังจากซักตากแล้ว คือวิธีที่จะทำให้ผ้าเป็นมันวาวสวย โดยใช้ เปลือกหอยโข่ง หรือ หินโมรา นำด้านที่เกลี้ยงถูไปมาบนผ้าจนเนื้อผ้าขึ้นเงา ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายวิธีการขัดผ้าให้เรียบเป็นมันวาวไว้ว่า

“—แต่พระภูษาหรือผ้าลายที่เสด็จทรงนั้น เมื่อซักแล้วก็ส่งไปให้คนขัดหลังตำหนัก ซึ่งออกจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะขัดด้วยหินโมรา ผูกมัดไว้กับไม้ไผ่ลำหนา อีกปลายหนึ่งมัดด้วยหวายไว้กับขื่อ คลี่ผ้าลายที่ซักแล้วออกไปเบื้องล่าง แล้วก็โยกลำไม้ไผ่ไปมาให้หินโมรานั้นกดถูเนื้อผ้าจนขึ้นมัน ขัดไปทีละส่วนจนหมดผืน พลอยเคยลองโยกไม้ขัดผ้านี้ดูบ้างแต่ก็ไม่ไหวเพราะตัวยังเล็ก ต้องใช้ผู้ใหญ่ที่ล่ำสันแข็งแรงเอาการอยู่—“

เบี้ยสามารถนำมาขัดผ้าให้มันเป็นเงาได้

สมัยต่อมานอกจากหินโมราหรือเปลือกหอยโข่งแล้ว ยังใช้ลูกปืนโบราณ เบี้ย หรือก้นขวด ขัดผ้าให้มันเป็นเงาแทน การขัดผ้านี้เป็นงานค่อนข้างหนัก จึงมีผู้รับจ้างขัด คิดราคาตามเนื้อผ้า ถ้าผ้าเนื้อดีราคาก็แพง ผ้าเนื้อเลวราคาก็ถูก ในขั้นตอนนี้ชาววังยังมีวิธีย้อมผ้าหรือแต้มสีผ้าที่ใช้นานๆ จนดอกหรือสีซีดแล้ว ก่อนอื่นต้องลอกสีเดิม โดยชุบน้ำผ้าที่จะลอกสีให้เปียก แล้วนำไปขึงพืดตากแดดแรงๆ ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้งจนหมดสีเดิม แล้วจึงย้อมสีใหม่หรือแต้มดอกใหม่ด้วยสีที่ได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ และลูกไม้ที่หาได้ในวัง คือ สีจำปาได้จากลูกพุด สีแสดได้จากลูกคำ สีเหลืองได้จากขมิ้นชัน สีแดง สีส้มได้จากดอกกรรณิการ์ สีเขียวได้จากใบยอ สีเขียวอ่อนได้จากใบแค เป็นต้น เสร็จกรรมวิธีนี้แล้วก็ได้ผ้าใหม่ที่สดใสกว่าเดิม

เคล็ดลับ “หอมติดกระดาน”

จากการทำความสะอาดผ้า ก็ถึงขั้นตอนการทำผ้าให้เรียบ วิธีทำให้เรียบอย่างสวยงามคือ นำมาเข้า เครื่องหนีบ ลักษณะเป็นลูกเหล็กท่อนโตกลมยาววางซ้อนกัน 2 ลูกบนขาตั้งสูง มีลูกบิดเป็นมือถือจับหมุน เมื่อจะใช้ก็ปูผ้าแบทั้งผืนใส่เข้าไปในระหว่างลูกเหล็ก และหมุนให้ผ้าผ่านลูกเหล็กออกมาทีละนิด วิธีนี้จะทำให้ผ้าเรียบเหมือนรีดด้วยเตารีด แต่ผ้าบางชิ้นซึ่งเป็นฉลองพระองค์ที่รีดยากจะส่งไปรีดที่สิงคโปร์ก็มี

ชาววังจะนำผ้าที่ซักรีดเรียบร้อยมาอบร่ำด้วยควันของเครื่องหอมในหีบไม้อุโลก เพื่อให้กลิ่นหอมจับเนื้อผ้า

หลังจากผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดและรีดเรียบแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการ อบร่ำ ซึ่งก็เป็นกรรมวิธีหนึ่งที่ทำให้ผ้านุ่งผ้าห่มของชาววังนั้น หอมติดกระดาน

วิธีร่ำผ้า คือนำผ้าที่ซักรีดเรียบร้อยแล้วใส่ในโถหรือหีบซึ่งมีลักษณะแน่นทึบ เช่น ถ้าเป็นโถก็ต้องเป็นโถเคลือบขนาดใหญ่ทรงมัณฑ์หรือทรงกลอง ถ้าเป็นหีบไม้ก็ต้องเป็นหีบไม้อุโลก

ทั้งโถและหีบนี้เมื่อปิดแล้วกลิ่นและควันจะระเหยออกมาไม่ได้ เครื่องหอมที่ใช้ในการร่ำมีกำยาน กฤษณา จันทน์หอม ชะมดเช็ดหรือชะมดเชียง เทียนอบ น้ำตาลทรายแดง ทั้งหมดบดจนเป็นผงละเอียด เวลาใช้ตักผงเครื่องหอมโรยลงบนก้อนถ่านเล็กๆ ที่เผาไฟจนแดง โรยจนมิดก้อนถ่านเพื่อให้เกิดควัน แล้วจึงปิดฝาโถหรือฝาหีบเพื่ออบควันให้กลิ่นหอมจับเนื้อผ้า ทำเช่นนี้จนกลิ่นหอมชำแรกเข้าไปในเนื้อผ้า

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำความสะอาดผ้าคือ อบผ้า โดยนำผ้าที่ผ่านการร่ำมาแล้ว นำมาใส่โถหรือหีบสำหรับเก็บ ก็จะนำดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น สารภี ประยงค์ จันทน์กะพ้อ ชะลูด ชมนาด เทียนกิ่ง การะเกด พุทธชาด เขี้ยวกระแต มะลิ หรือไม่ก็ใช้กระแจะดีดไว้บนฝาหีบ เมื่อถึงสมัยที่มีน้ำมันหอมที่หุงจากกลีบดอกไม้ต่างๆ ก็จะใช้น้ำมันหอมชุบกับผ้าขาวบางพับวางไว้ในหีบ แล้วจึงปิดฝา กลิ่นหอมเหล่านี้ก็จะกำซาบจับเนื้อผ้า ชนิดหอมติดกระดานดังว่า สำหรับชุดฉลองพระองค์นั้นเมื่อผ่านการอบร่ำแล้วจึงพับซ้อนกัน 3-4 ผืนยก แล้วห่อด้วยผ้าขาวสะอาดให้มิดชิด ใส่ในตะกร้าหวายถัก แบกขึ้นไปส่งเจ้าหน้าที่แต่งพระองค์บนตำหนัก

กรรมวิธีดังกล่าวใช้สำหรับผ้าทั่วไป แต่ยังมีผ้าบางชนิดที่ถักทอเป็นพิเศษ คือใช้เส้นโลหะเงินหรือทองเป็นส่วนผสมในการถักทอ เวลาซักจึงต้องระมัดระวัง มีวิธีซักแตกต่างจากผ้าธรรมดา คือต้องแผ่ผ้าให้อยู่ในแนวราบเสมอภาชนะที่ใช้ซัก ซึ่งต้องมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อผ้าจะได้มีรอยยับย่นน้อยที่สุด

น้ำที่ซักก็มิใช่น้ำธรรมดา จะต้องเป็นน้ำมะพร้าว เพราะคนโบราณเชื่อกันว่าในน้ำมะพร้าวมีสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติกำจัดความสกปรก รักษาสีของผ้าให้ติดทนนาน เมื่อน้ำมะพร้าวมีสีสกปรกก็รินทิ้งแล้วเปลี่ยนน้ำมะพร้าวใหม่ หรือใช้ผ้านุ่มๆ ค่อยๆ เช็ดเบาๆ เมื่อสะอาดดีแล้วจึงใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าเช็ดความหวานของน้ำมะพร้าวออก จากนั้นจึงนำไปนึ่งหรืออบร่ำต่อไป

รางอัดผ้าที่ชาววังใช้ทับผ้าสไบ ทำให้เกิดกลีบงดงาม

การเก็บฉลองพระองค์ที่เป็นผ้ายกทองหรือเงินนั้นจะพับเก็บไม่ได้ เพราะเส้นทองที่ทอไว้จะมีรอยหัก ไม่สวยงาม เวลาเก็บจึงต้องวางลงบนผ้าขาว แล้วเอาผ้าขาววางปิดทับอีกชั้นหนึ่ง จึงนำมาม้วนกับแกนกระดาษกลมโตแบบท่อน้ำ วางเก็บไว้ในตู้อบด้วยเครื่องหอมต่างๆ ในสมัยที่รับวัฒนธรรมต่างประเทศมาใช้นั้น ฉลองพระองค์เสื้อแบบยุโรปจะใส่ไม้แขวนและหนุนบริเวณไหล่ด้วยผ้านุ่มหนาๆ ทั้งสองข้างแขวนเรียงไว้ในตู้

ฉลองพระองค์ยกทองนี้ เมื่อเก่าหรือไม่ทรงใช้แล้วจะโปรดให้นำไปเผาไฟ เพื่อให้เส้นทองที่ทอหลอมละลายแยกตัวจากผ้า สามารถนำมาหลอมใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีก

วิธีการทำความสะอาดฉลองพระองค์หรือเสื้อผ้าของ “ชาววัง” เป็นกรรมวิธีที่ชาววังคิดค้นขึ้นมาจากสติปัญญาการสังเกตและการทดลองจนได้ผลลงตัว และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับชนกลุ่มนี้ แต่เมื่อวิทยาการสมัยใหม่หลั่งไหลเข้ามา วิธีการเหล่านี้ก็จะถูกลืมเลือนเพราะความไม่สะดวกต่างๆ ปัจจุบันแม้จะมีบางคนรำลึกถึงกลิ่นอายของกรรมวิธีนั้น แต่ก็รู้สึกว่าล้าสมัยและเสียเวลา จึงทำให้วิธีทำความสะอาดแบบชาววังที่ “หอมติดกระดาน” เป็นเพียงความทรงจำที่เล่าขานสืบต่อกันมาเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “การทำความสะอาด เครื่องนุ่งห่มของชาววัง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548 (ปีที่ 26 ฉบับที่ 6)


ปรับปรุงแก้ไขเพื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 14 มิถุนายน 2562 เพิ่มหัวข้อย่อย จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ