“พระมหาเถรศรีศรัทธา” คือใคร? ตีแผ่ตัวตนของผู้สร้างจารึกวัดศรีชุม

มณฑป พระอจนะ วัดศรีชุม สุโขทัย
มณฑป "พระอจนะ" วัดศรีชุม สุโขทัย ก่อนการบูรณะ ภาพถ่ายในราวสมัยรัชกาลที่ 6

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์หรืออ่านจารึกสุโขทัยน่าจะคุ้นชื่อของ พระมหาเถรศรีศรัทธา ในฐานะผู้สร้าง จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 หรือ จารึกวัดศรีชุม หลักฐานสำคัญที่อธิบายประวัติศาสตร์สุโขทัยได้เป็นอย่างดี

พระเถระรูปนี้เป็นใคร หรือมีบทบาทอย่างไรในสมัยสุโขทัย?

การทำความรู้จักท่าน อาจเริ่มได้ด้วยการถอดความหมายจากชื่อ กล่าวได้ว่า “ศรีศรัทธา” เป็นฉายาของท่านเท่านั้น เพราะนามและยศเต็ม ๆ ในจารึกคือ “สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุณี (มณี) ศรีรัตนลังกาทวีปมหาสามีเป็นเจ้า”

ในสมัยสุโขทัย “สมเด็จ” ไม่นิยมนำมาใช้นำหน้าชื่อภิกษุ ไม่ว่าสมณศักดิ์สูงแค่ไหน เนื่องจากไม่ใช่คำในตระกูลภาษาไทย-ลาว แต่ในวัฒนธรรมเขมรมีการใช้ สมเด็จ นำหน้าชื่อพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะระดับ “มหาเถร” ซึ่งหากถือตามคติลังกา การใช้ มหาเถร แปลว่าท่านบวชมาแล้วอย่างน้อย 20 พรรษา 

“ราชจุฬามุณี (มณี)” อาจเป็นราชทินนามคู่สมณศักดิ์ หรืออาจเป็นชื่อเดิมของท่าน คือ เจ้าฟ้าจุฬามณี

“ศรีรัตนลังกาทวีปมหาสามี” น่าจะเป็นราชทินนามที่รับมาจากลังกา โดย “มหาสามี” อาจเทียบได้กับ สังฆราช และ “ศรีรัตนลังกาทวีป” แปลตรงตัวคือ แก้วอันประเสริฐแห่งเกาะลังกา

ส่วน “เป็นเจ้า” ที่ลงท้ายนามท่าน แสดงว่าท่านเกิดมาเป็นราชกุมาร

ความเป็นราชกุมารของท่านศรีศรัทธาค่อนข้างชัดเจน เพราะ จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ระบุว่าท่านเป็น “หลาน” พระยาผาเมือง เจ้าเมืองราด และในวัยเยาว์ท่านยังทรงช้างไปรบในสงครามอย่างน้อย 3 ครั้ง ในขณะเดียวกัน ท่านนิยมเลื่อมใสพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์อย่างมากด้วย ดังจารึกบอกว่า “มีวัตรปฏิบัติเยี่ยงสิงหล” ซึ่งสิงหลคือชนพื้นเมืองลังกาที่นับถือพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม หลักฐานยืนยันว่าท่านเป็นคนที่ไหนค่อนข้างกระจัดกระจาย เพราะอย่าง ตำนานพระปฐม-ประโทน ระบุว่า ท่านเป็นคนเชื้อสายพราหมณ์ไวษณพนิกาย เติบโตอยู่ในราชสำนักกรุงละโว้ (ลพบุรี)

พระมหาเถรศรีศรัทธา เสด็จออกผนวชเมื่ออายุ 30 ปี แล้วเสด็จไปแสวงบุญที่ลังกา (ในจารึกระบุว่า “เมืองสิงหล”) ถึง 10 พรรษา แล้วนำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากลังกามาปลูกที่กรุงสุโขทัย ท่านคือผู้แต่งความในจารึกหลักที่ 2 หรือจารึกวัดศรีชุม เมื่อ พ.ศ. 1893 ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นมหาเถรแล้ว แปลว่าต้องมีสมณายุ 20 พรรษาเป็นอย่างน้อย จึงน่าจะผนวชก่อน พ.ศ. 1873 และเกิดก่อน พ.ศ. 1843

จารึกวัดศรีชุมระบุด้วยว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาได้บำเพ็ญการกุศลและสร้างวัดสร้างเจดีย์ต่าง ๆ รวมถึงปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุสุโขทัย ไม่มีหลักฐานว่าท่านสิ้นพระชนม์เมื่อใด แต่เข้าใจว่าท่านคงสิ้นพระชนม์ในสมณเพศ

เมื่อวิเคราะห์สภาพสังคมของรัฐต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ช่วงเวลานั้น พระมหาเถรศรีศรัทธาจึงอยู่ในวัยฉกรรจ์ ในยุคที่สังคม “พุทธใหม่” หรือพุทธลังกาวงศ์กำลังเติบโตอย่างมั่นคงในโลกของกลุ่มชนไทย-ลาว ขณะที่สังคม “พราหมณ์เก่า” โรยราและดิ้นรนเฮือกสุดท้ายเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดต่อไป

หากเจาะลึกตัวตนของท่านศรีศรัทธาในแง่ที่ท่านคือราชกุมาร หรือราชสกุลในสายพระยาผาเมือง ถือว่าท่านมีบทบาทในอาณาจักรสุโขทัยไม่น้อย ต่อให้ไม่อยู่ในสมณเพศ

เพราะในสมัยสุโขทัย ราชสกุลหลัก ๆ คือสายศรีอินทราทิตย์ (ขุนบางกลางหาว) ที่ครองกรุงสุโขทัย กับสายผาเมืองที่ครองเมืองราด ซึ่งทั้งสองถือเป็นเครือญาติผ่านการแต่งงานมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัยแล้ว ลูกหลานสายผาเมืองที่เมืองราดจึงมีศักดิ์เป็นเจ้า แม้ไม่ได้ถือสิทธิสืบราชสมบัติที่กรุงสุโขทัย

ท่านศรีศรัทธา เป็นบุตรของพระยาคำแหงพระราม ซึ่งเป็นบุตรของพระยาผาเมือง โดยธิดาอีกคนของพระยาผาเมืองคือ “นางเสือง” ได้เป็นมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทั้งสองเป็นมารดา-บิดา ของ พ่อขุนรามคำแหง ท่านศรีศรัทธากับพ่อขุนรามคำแหงจึงเป็นลูกพี่-ลูกน้องกัน คือท่านศรีศรัทธาเป็น “ลูกน้าชาย” ของพ่อขุนรามคำแหง

ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ช่วงที่พระมหาเถรศรีศรัทธาทำศิลาจารึกหลักที่ 2 ท่านจึงได้รับความเคารพจากเจ้านายราชวงศ์สุโขทัยอย่างมาก เพราะนอกจากจะอยู่ในสมณเพศแล้ว ท่านยังเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ไมเคิล ไรท. “ยุคมืด” หรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม ใน ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุริยา รัตนกุล. พระมหาเถรศรีศรัทธา : วีรบุรุษอีกองค์หนึ่งในสมัยสุโขทัย. วารสารภาษาและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567