หนทางไปลังกา: พระภิกษุสยามออกไปลังกาทวีปในยุคก่อนสมัยใหม่ ภาค ๑ ครั้งหลวงพ่อศรีศรัทธาฯ

แผนที่ระยะทางจากอุษาคเนย์ไปลังกาทวีป (ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐/ก)

ความนำ

เราไม่อาจจะทราบได้ว่า ชาวอุษาคเนย์เริ่มนับถือพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์มาตั้งแต่เมื่อไร เพราะหลักฐานขาดหรือกำกวม หลังจากที่สังเวชนียสถานในอินเดียเหนือ (รัฐพิหารและเบงกอล) เสียแก่ทัพมุสลิมในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ รามัญเทศ (เมืองมอญ) และมรัมมเทศ (พม่า-พุกาม) หันหน้าไปทางลังกาก่อน ถึงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ราว พ.ศ. ๑๘๕๐-๑๘๙๙) มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ทั้งจารึก และตำนาน ว่าเมืองสุโขทัยคุ้นกับพุทธศาสนาลังกาวงศ์อยู่แล้ว นอกจากนี้หลักฐาน (ที่ใช้ผูกมัดไม่ได้) ชวนให้สงสัยว่าลังกาวงศ์อาจจะเข้าไปถึงลพบุรี-อยุธยา และพระนครธมอีกด้วย

ต่อมาพุทธศาสนิกชนสยามคงออกไปลังกาหลายสิบชุดหลายสิบครั้ง แต่โดยมากไม่ทิ้งหลักฐานหรือไม่มีรายละเอียด ที่ออกไปครั้งสำคัญๆ และทิ้งหลักฐานรายละเอียดพอสมควร (เท่าที่ผมสืบทราบได้) มี ๖ราย คือ

๑. พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทวีปมหาสามี (สุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ ๑๙)

๒. พระธรรมคัมภีร์ (เชียงใหม่, พ.ศ. ๑๙๖๒)

๓. พระอุปาลีมหาเถร (อยุธยา, พ.ศ. ๒๒๙๖)

๔. พระวิสทราจารย์ (อยุธยา, พ.ศ. ๒๒๙๙)

๕. คณะสมณทูตครั้งรัชกาลที่ ๒ (กรุงรัตนโกสินทร์, พ.ศ. ๒๓๕๘-๒๓๕๙)

ในบทความนี้ผมไม่สนใจการพระศาสนาหรือการเมือง ผมสนใจเฉพาะภูมิศาสตร์และการคมนาคมข้ามสมุทรในยุคก่อนสมัยใหม่ที่มีเรือกลไฟสู้ลมและกระแสน้ำไปไหนมาไหนได้สะดวก ชะรอยหากเราเข้าใจวิธีเดินทางในสมัยโบราณให้ถูกต้อง เราก็อาจจะเข้าใจการพระศาสนาและการเมืองสมัยโบราณได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

อนึ่งผู้วิเคราะห์เส้นทางสมณทูตแต่ก่อน (รวมทั้งผม) เคยตีความผิดๆ บ้าง ในบทความนี้ผมจึงตั้งใจรวบรวมเส้นทางเท่าที่ระบุในเอกสารชั้นต้น ให้ถูกต้องที่สุด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของคนที่จะศึกษาในชั้นต่อไป และท่านจะได้ไม่สืบทอดความผิดพลาดของผมอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ภาคที่ ๑ หลวงพ่อศรีศรัทธาฯ

หลวงพ่อศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ ออกไปลังกาในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ครึ่งแรกคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔) เอกสารชั้นต้นไม่ระบุว่าปีใด แต่นักศึกษาโดยมากเชื่ออย่างนั้นจากหลักฐานภายใน

หลักฐานอ้างอิง

จารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม (สุโขทัย)

จารึกวัดเขากบ (นครสวรรค์)

เส้นทางขาออก

จารึกวัดเขากบด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๓-๑๖ มีความว่า

สำเนาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ด้านที่ ๒

(จากนครสรลวง) “จึงคลายังสุโขทัย(ศรี)สัชชนาลัย……….คลาดยังฝาง แพล ระพุน ตาก เชียง……รอดถึงดงที่โปรดช้าง นครพัน กลิงคราฐ ปาตาลิบุตร์…….นคร ตรีโจฬมัณฑลา มัลลราช รอดถึงลังกาทวีป”

เส้นทางเดินดงในอุษาคเนย์นี้ตีความได้ไม่ยาก

ท่านเดินจากนครสรลวง (ไม่แน่ว่าอยู่ไหน) ไปยังสุโขทัย, ศรีสัชชนาลัย, ฝาง, แพล (แพร่), ระพุน (ลำพูน), ตาก, เชียง (ทอง?), ดงที่โปรดช้าง (พระธาตุอินแขวน Kyaik Hti Yo) ถึงเมืองพัน (เมาะตะมะ Martaban) เมืองท่าบนฝั่งอ่าวเบงกอลในเมืองมอญ

ที่ว่าดงที่โปรดช้าง หมายถึง พระธาตุอินแขวน (Kyaik Hti Yo) เพราะจารึกหลักที่ ๒ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๘ มีความว่า “….ที่ดงโปรดช้างในเขานางตายเอาช้างไปบูชาพระเป็นเจ้าโปรดที่นั่น” “โปรด” (โปรส) แปลว่า “ปล่อย” “พระเป็นเจ้า” คือ “พระธาตุพระพุทธเจ้า” ที่เขาพระธาตุอินแขวนมีตำนานว่า นานมาแล้วพระเจ้านครพันได้นางจากทิศตะวันออก (สุโขทัย?) มาเป็นมเหสี แต่ละเลยไม่ได้ขอขมาลาผี พระนางทรงครรภ์จึงส่งกลับไปทำคลอดที่บ้านเดิม พอถึงบริเวณพระธาตุอินแขวนมีเสือสมิงมาแผลงฤทธิ์ยังให้บริวารเผ่นหนี พระนางจึงกราบลงไหว้พระธาตุ ตายแล้วกลายเป็นเทพารักษ์พระธาตุอินแขวนจนทุกวันนี้

ดังนั้นขอเสนอว่า ดงที่โปรดช้าง (ในจารึกวัดเขากบ) = ดงโปรดช้างในเขานางตาย (ในจารึกหลักที่ ๒) = เขาพระธาตุอินแขวน (ที่รู้จักทุกวันนี้)

ว่าโดยสรุปท่านศรีศรัทธาฯ ได้เดินทางตามเส้นทางพ่อค้าขึ้นไปทางเหนือ เบนไปทางตะวันตก ข้ามเทือกเขาเข้าไปในแดนรามัญ ผ่านพระธาตุอินแขวน แล้วไปลงเอยที่นครพัน เมืองท่าปากน้ำสาละวิน

ท่านไม่บอกว่าท่านข้ามสมุทรอย่างไร แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่า ท่านคงลงเรือพ่อค้าแล้วข้ามอ่าวเบงกอลไปขึ้นฝั่งที่กลิงคราฐ (Kalinga, Andhra Pradesh ปัจจุบัน) บนฝั่งตะวันออกของอินเดียใต้

สำเนาจารึกวัดเขากบ (ซ้าย) ด้านที่ ๑ (ขวา) ด้านที่ ๒

เส้นทางในอินเดียใต้

ท่านไม่ระบุชื่อเมืองท่าที่ท่านขึ้นบก แต่น่าจะอยู่บนฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐ อานธรประเทศ เพราะจารึกหลักที่ ๒ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๖-๔๐ มีความ (กำกวมพอสมควร) ว่า “…..พระศรีรัตนมหาธาตุเป็นเจ้าชื่อศรีธาญกัฏกา…….พระเจดีย์สูงใหญ่รอบนั้นฉลักหินห้าร้อยชาติติรเทศงามพิจิตร์หนักหนาแก่กม ตรุกมล้างเอาทองตรธาน”

“ศรีธาญกัฏกา” น่าจะหมายถึงมหาเจดีย์ “อมราวดี” (Amaravati) ซึ่งเคยล้อมรอบด้วยแผ่นศิลาอ่อน สลักเป็นเรื่องชาดกและพุทธประวัติ (ปัจจุบันส่วนใหญ่แสดงในพิพิธภัณฑ์เมือง Madras, Delhi และ British Museum) ราว ค.ศ. ๑๓๒๐ (พ.ศ. ๑๘๖๓) กองทัพมุสลิม Delhi Sultanate ที่อ้างตนว่าเป็น Turks (ตรุก) มาปล้น ดังนี้หลักฐานของหลวงพ่อศรีศรัทธาฯ ในจารึกหลักที่ ๒ ก็ไปพ้องกับหลักฐานประวัติศาสตร์สากล

ต่อไปขอกลับเข้าหาเนื้อความในจารึกวัดเขากบอีกครั้ง

กลิงคราฐ คือชายฝั่งรัฐอานธรและโอริสสา

ปาตาลิบุตร์ ไม่ใช่เมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราชที่อยู่ในภาคเหนือและตกอยู่ในมือของมุสลิมนานแล้ว แต่น่าจะได้แก่ กุดาลูร (Cuddalore ปัจจุบัน) ซึ่งวรรณคดีทมิฬเรียกว่า “เตนปาฏาลิบุติรัม” คือปาตาลิบุตร์ฝ่ายใต้

………นคร ไม่อาจจะสันนิษฐานได้

ตรีโจฬมัณฑลา ไม่น่าจะหมายถึงชายฝั่งแดนโจฬราชทั้งหมด (Coromandel) แต่อาจจะเพี้ยนมาจากคำทมิฬ “ติรุโจฬมัณฑลำ” คือ พระนคร (ราชธานี) โจฬะ ซึ่งยุคนั้นน่าจะอยู่ที่ Kumbakonam หรือ Chidambaram

มัลลราช น่าจะหมายถึง มามัลลปุรัม เมืองท่าแต่โบราณ

ว่าโดยสรุปท่านศรีศรัทธาฯ คงโคจรตามหัวเมืองชายฝั่งอินเดียใต้จนได้เรือพ่อค้าที่จะพาท่านไป “รอดถึงลังกาทวีป” ดังระบุในจารึก

ในลังกา

จารึกทั้งสองหลักไม่แจ้งรายทางเดินในเกาะลังกา แต่ระบุชื่อสถานที่สำคัญที่ท่านศรีศรัทธาฯ ไปประกอบบุญกิริยา เช่น

..ราทบูรมหานคร (๒.๒.๙๐-๙๑) น่าจะได้แก่อนุราธปุระ (Anuradhapura)

เขาสุมนกูฏ (๒.๑.๑๐๒) คือเขาพระพุทธบาท (Siri Pada)

มหิ (ยง) งคน (๒.๑.๔), มหิยงงคนมหาเจดี (๒.๒.๔๔) คือมหิยังคณะมหาเจดีย์ (Mahiyangana) “วัดชนะสงคราม” ของลังกาซึ่งเป็นต้นฉบับ “วัดมเหยงค์” ในสยาม

เมืองกำพไล (๒.๑.๖ และ ๒.๒.๘๓) คำนี้เขียนตามปากทมิฬ, สิงหลว่า “คัมโปละ” (Gampola) เป็นราชธานีลังกาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

น้ำมาวลิกคงคา (๒.๑.๖ และ ๒.๒.๔๓) ปาลีว่า “มหาวาลุกคงคา”, สิงหลว่า “มหแวลิคังค” (Mahaveli River) คือแม่น้ำสายหลักของลังกา

……..ที่นั่นก่อพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์มีสามอัน มียอดอันหนึ่ง (๒.๑.๗) น่าจะหมายถึงเมืองโปโลนนารุวะ (Polonnaruva) เพราะไม่มีสถาปัตยกรรมอย่างนั้นที่อื่นใดในลังกา

แผนที่โบราณในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี แสดงภาพชายฝั่งทะเล มีเกาะต่างๆ ปัจจุบันเก็บรักษาที่ Museen zu Berlin (ภาพจาก Early Mapping of Southeast Asia. Thomas Suárez. Periplus Editions, 1999)

เส้นทางขากลับ

หลักฐานเท่าที่มีอยู่ไม่ระบุว่าท่านลงเรือของใครที่ท่าไหนและเดินสมุทรโดยเส้นทางไหน

จารึกวัดศรีชุม (๒.๒.๔๐-๔๒) แจ้งเพียงว่า “สมเด็จพระมหาสามีจากแต่สีหลมาเอาฝูง………แบกอิฐแต่ต่ำขึ้นไปกระทำพระเก่าท่านคืนบริบูรณ์”

จารึกวัดเขากบ (๒.๑๙-๒๓) รับช่วงเสริมรายละเอียดว่า “ผสมสิบข้าวข้ามมาลุตะนาวศรีเพื่อเลือกเอาคนฝูงคนดี….สีหลทวีป………….เพชรบุรี ราชบุรี น(ครพระกริ)ส อโยธยาศรีรามเทพนคร………………รัตนกูดานคร ไทยว่ากำพงคลอง…..”

ตะนาวศรี คือ Tenasserim บนชายฝั่งอันดามัน

เพชรบุรี ราชบุรี ไม่ต้องสงสัย

น(ครพระกริ)ส น่าจะเป็นนครปฐม/นครชัยศรี

อโยธยาศรีรามเทพนคร ผมเห็นว่าน่าจะหมายถึงกรุงศรีอยุธยา แต่บางท่านเสนอว่า ศรีรามเทพนครเป็นอีกเมืองหนึ่งเหนืออยุธยาขึ้นไป

รัตนกูดานคร/กำพงคลอง บางท่านเสนอว่าคงหมายถึงนครสวรรค์ บางท่านว่าที่อื่น เช่น สิงห์บุรี-อ่างทอง

พอสรุปได้ว่า ท่านศรีศรัทธาฯ คงอาศัยสำเภาพ่อค้าข้ามอ่าวเบงกอลจากลังกามาขึ้นบกที่ท่ามะริด-ตะนาวศรี เดินข้ามคอคอดถึงเมืองกุยบุรีบนฝั่งตะวันออกของแหลม (ฝั่งตะวันตกของอ่าวสยาม) แล้วตามเส้นทางพ่อค้าขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาและเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านเพชรบุรี ราชบุรี นครชัยศรี ดังจารึกระบุ

อนึ่งเราไม่มีหลักฐานผูกมัดว่าท่านศรีศรัทธาฯ เดินทางไป-กลับเมื่อไร แต่น่าเชื่อว่าท่านคงกลับราวๆ พ.ศ. ๑๙๐๐ (ราวๆ ค.ศ. ๑๓๕๐) หลังจากที่กาฬโรคระบาดในอุษาคเนย์ราว ๑๐-๒๐ ปี แล้วกำลังทุเลา (เชื่อว่ากาฬโรคเริ่มที่เมืองจีนราว ค.ศ. ๑๓๒๐ แล้วแพร่ด้วยหมัดหนูในท้องเรือพ่อค้าไปขึ้นบกที่ยุโรป ค.ศ. ๑๓๔๗-๑๓๔๘) หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่แปลกที่ท่านศรีศรัทธาฯ กลับมาเจอะแต่เจดียสถานรกร้างที่ต้องบูรณปฏิสังขรณ์ตามที่ปรากฏในจารึก

 

ความเพิ่มที่สำคัญ

ในบทความแต่ก่อน ผมเคยเสนอว่า ท่านศรีศรัทธาฯ ออกไปลังกา คงไปผ่านนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์และหลักฐานชั้นต้นไม่รองรับ

ผมสันนิษฐานผิดว่า ชื่อเมืองปาตาลิบุตร์ในจารึกวัดเขากบ (๒.๑๕) อาจจะหมายถึงนครศรีธรรมราช เพราะเมืองนครฯ เคยปกครองโดย “ศรีธรรมาโศกราช” และวรรณคดีบางฉบับเรียกนครฯ ว่า “ปาฏลิบุตร์” แต่เมื่อพิจารณาให้ดี คำ “ปาตาลิบุตร์” ในจารึกวัดเขากบ (๒.๑๕) ต้องหมายถึงเมืองในอินเดียใต้ จะหมายถึงนครศรีธรรมราชของสยามเป็นไปไม่ได้

หากใครหลงเชื่อผมว่า ท่านศรีศรัทธาฯ เดินทางไปลังกาผ่านนครศรีธรรมราช ผมต้องขออภัยว่า ไม่เป็นความจริง หลักฐานไม่รองรับ และเป็นความผิดของผมทั้งหมดไม่ใช่ใครอื่น

(เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ. 2560)


เชิงอรรถ

๑. กรมศิลปากร. จารึกสมัยสุโขทัย. ๒๕๒๘.

๒. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารชุดตำนานวัดป่าแดง เล่ม ๑. ๒๕๓๘.

๓. กรมศิลปากร. จารึกสมัยสุโขทัย. ๒๕๒๘, หน้า ๕๘.

๔. เล่มเดียวกัน, หน้า ๑๘๒.

๕. Khin Myo Chit. A Wonderland of Burmese Legends, p.121.

๖. Sastri, Nilakanta. A History of South India O.U.P., 1975.