ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
บันทึกฝรั่งฤดูกาลเมืองไทยสมัยกรุงศรีฯ หน้าหนาว 2 เดือน อีก 10 เดือนเป็น “หน้าร้อน”
“หน้าร้อน” เมืองไทยทุกวันนี้ร้อนขนาดไหน ไม่ต้องบรรยายเพราะรับรู้กันอยู่ แล้วหน้าร้อนในอดีตของไทย อย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นอย่างไร เรื่องนี้มีชาวต่างชาติบันทึกว่า หน้าร้อนสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นร้อนยาวนานถึง 10 เดือนทีเดียว
ชาวต่างชาติที่ว่านั้น ชื่อ “ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง” เป็นคนฝรั่งเศส เขาเขียนหนังสือชื่อ “Historie du Royuume de Siam” ซึ่งรวบรวมเรื่องต่างๆ ของไทย ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่เรื่องบ้านเมือง, วัฒนธรรม, ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ โดยอาศัยข้อมูลจากพระสังฆราชแห่งตาบรากา ประมุขมิสซังกรุงสยามและมิชชันนารีอื่นๆ ที่เคยเข้ามาและพำนักใน กรุงศรีอยุธยา
หนังสือดังกล่าวพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเผยแพร่ในต่างประเทศ ภายหลังกรมศิลปากรแปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ โดยใช้ชื่อว่า “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม”
ตอนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว กล่าวถึง “ฤดูกาล” ในไทยว่า
“ฤดูกาล ชาวสยามเห็นว่า มีแต่สองฤดูคือ หน้าหนาวกับหน้าร้อน สองเดือนแรกในปีของเขาซึ่งตรงกับเดือนธันวาคมและมกราคมของเราโดยประมาณเป็นฤดูหนาวของเขา อากาศตอนนั้นร้อนพอๆ กับอากาศในฤดูที่ร้อนที่สุดของเรา
ดูเหมือนว่าชาวสยามที่ไม่ใส่เสื้อผ้า ไม่ชอบหน้าหนาวนี้เลย เพราะลมเหนือที่พัดมาตอนนั้น ก็ยังแรงและหนาวเข้ากระดูก…
หน้าแล้งเป็นฤดูร้อน เดือนที่สามที่สี่และที่ห้าเป็น หน้าร้อนน้อยของเขา อีกเจ็ดเดือนที่เหลือเขาถือเป็นหน้าร้อนใหญ่ หน้าร้อนน้อยเป็นฤดูใบไม้ผลิของเขา…
แม้ชาวสยามจะว่ามีหน้าร้อนใหญ่แต่หน้าเดียว เขาจะพูดถูกกว่า ถ้ายอมรับว่ามีสองหน้าร้อนใหญ่ เพราะในปีหนึ่งๆ นั้น พระอาทิตย์ส่องตรงบนศีรษะเขาสองครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อขึ้นจากเส้นศูนย์สูตรมายัง เส้นโทรฟิก ออฟ แคนเซอร์ และครั้งที่สอง เมื่อกลับจากเส้นโทรพิกนี้ลงมายังเส้นศูนย์สูตร…” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
นอกจากนี้ หนังสือของตุรแปง ยังกล่าวถึง “สภาพอากาศ” เมืองไทย ที่มีผลต่อ “นิสัย” ของคนไทยว่า
“อุปนิสัยของชาวสยาม มีส่วนเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศในประเทศของเขาอยู่มาก…ตัวเขาหงุดหงิดเพราะอากาศร้อน จึงไม่มีความเข้มแข็ง และไม่ต้องการของอะไรมาก งานการที่ต้องใช้แรงทำ เขาถือเป็นงานต่ำและอะไรๆ ที่ลำบากยากเย็น เขาเห็นเป็นสิ่งเลวต่ำช้า
…พอใจในทรัพยากรที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้อย่างฟุ่มเฟือยแล้ว ไม่นึกอิจฉาผลิตผลที่เกิดในถิ่นที่มี ดินฟ้าอากาศอย่างอื่น ไม่เคยออกไปเผชิญทะเล เพื่อแสวงหาสมบัตที่ผู้อื่นนิยม เครื่องนุ่งห่มที่ชนชาติอื่นอยากได้นั้น ดูจะเป็นสิ่งน่าอึดอัดสำหรับเขาด้วยซ้ำ…” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
อ่านเพิ่มเติม :
- ทหารอยุธยา ใส่ชุดเกราะแบบไหนออกรบ?
- เจดีย์ทรงปรางค์ของ กรุงศรีอยุธยา เจดีย์ที่ผสมผสานวัฒนธรรม 3 ราชธานี
- ทำไม “อโยธยา” ถึงเป็นเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหาย?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง-เขียน, ปอล ซาเวียร์-แปล. ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม, กรมศิลปากร 2539.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2567