“ทหารอยุธยา” ใส่ชุดเกราะแบบไหนออกรบ?

ทหารม้า สวม ชุดเกราะ
ภาพลายเส้นแสดงถึงลักษณะการแต่งกายของทหารม้า จากลายประดับเชิงเสา วิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง

เราอาจเคยดูภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการรบสมัยกรีก-โรมัน หรือการรบในยุคกลางของยุโรป นอกจากจะได้เห็นกลศึกในแต่ละยุค ยังได้เห็นการแต่งกายของทหารอีกด้วย แล้วถ้ากลับมาดูในประวัติศาสตร์บ้านเรา “ทหารอยุธยา” ใช้ชุดเกราะแบบไหน?

เรื่องนี้ ภูมิไท ศศิวรรณพงศ์ เล่าในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนเมษายน ปี 2557 ไว้บางช่วงบางตอนว่า สมัยกรุงศรีอยุธยามีการรบทัพจับศึกกับอาณาจักรใกล้เคียงอยู่บ่อยๆ ประกอบกับมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ นำสู่การพัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภูมิไทยกตัวอย่างใน ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น กล่าวถึงการศึกสงครามระหว่างล้านนากับอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา กับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ซึ่งลิลิตยวนพ่ายได้ให้รายละเอียดว่า “ทหารอยุธยา” สวมชุดเกราะนวม บุเสริมความหนาด้วยสำลี เพื่อป้องกันคมอาวุธจากข้าศึกศัตรู ดังในความว่า

“ทุกพ้องพิรพ่าหเจ้า จอมเมลือง เลิศแฮ

สรรพเครื่องสรรพาวุธ เลิศล้วน

เกราะกรายสำลีเนือง นอกออก ไปแฮ

ทวนธนูหน้าไม้ถ้วน หมู่หมาย ฯ”

เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในวรรณคดีเรื่อง อนิรุทธคำฉันท์ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

“แผลงศรศิลปเฉียวฉับ

จับเสโลห์ทวนทอด

ผ้าชั้นสอดสำลีเลิศ

หมวกพรายเพริศประดับประดา…”

ในวรรคที่กล่าวถึง “ผ้าชั้นสอดสำลี” ได้ช่วยอธิบายลักษณะของชุดเกราะว่า ทำจากผ้าที่เสริมความหนาเป็นชั้นๆ ยัดไส้ด้วยสำลี ยืนยันได้ตรงกันว่า ทหารอยุธยา สวมเกราะผ้าบุนวมในการทำสงครามมาตลอด แม้ผ้าจะเป็นวัสดุอ่อน แต่ก็มีคุณสมบัติเด่นเรื่องความนุ่มเหนียวและยืดหยุ่น ซึ่งผ้าที่ซ้อนทับกันหลายชั้นสามารถช่วยลดแรงปะทะจากอาวุธของศัตรูได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีการพบหลักฐานเกี่ยวกับชุดเกราะที่วิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง ปรากฏเป็นลวดลายประดับเชิงเสาในวิหาร สันนิษฐานว่า อาจเขียนขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งอยู่ในสมัยอยุธยา เป็นลายภาพนักรบขี่ม้า สวมเกราะ มือถือหอก สวมหมวกปีกกว้างมีพู่ด้านบน

“ลักษณะหมวกเกราะของนักรบหลังม้า เป็นหมวกปีกกว้าง มีปกหู ยอดหมวกประดับพู่ขนยาว รอบใบหมวกประดับช่อใบไม้ไหว ซึ่งค่อนข้างคล้ายหมวกศึกของนักรบทั้งในไทยและพม่า ลักษณะเกราะของนักรบนั้นเป็นชุดเกราะเกล็ด (Scale armour) ทรงอย่างเสื้อแขนสั้น ชายยาวคลุมสะโพก โดยนักรบนั้นนุ่งผ้าสั้นมีลวดลาย” ภูมิไทให้รายละเอียด

ขณะเดียวกัน ก็มีการนำชุดเกราะแบบตะวันตกเข้ามาในอยุธยา เช่น รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีจดหมายเหตุชาวโปรตุเกสบันทึกไว้ว่า อฟอนโซ เดอ อัลบูเคิร์ก ได้ส่งผู้แทนของเขาให้ติดตามทูตสยามเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยา นำบรรณาการต่างๆ มาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน พร้อมด้วยเครื่องยุทธภัณฑ์ต่างๆ เช่น ชุดเสื้อเกราะทำด้วยกำมะหยี่สีแดง หมวกเหล็ก ชุดอาวุธสะพาย โล่หนังอย่างดีปักไหมยกดอก ชุดเครื่องเงิน ผ้าแขวนผนังทำด้วยไหม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าจดหมายเหตุฉบับต่างๆ ที่กล่าวถึงการติดต่อระหว่างฝ่ายอยุธยากับชาติตะวันตก ไม่พบข้อมูลใดๆ ที่กล่าวถึงการสั่งซื้อเกราะแบบตะวันตกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และไม่มีข้อมูลซึ่งชี้ชัดว่า มีการนำชุดเกราะเหล่านี้ไปใช้สำหรับการรบในศึกสงครามจริง

เป็นไปได้ว่า ชุดเกราะตะวันตกคงมีฐานะเป็นเครื่องบรรณาการ เพื่อแสดงถึงเกียรติยศของผู้ครอบครองเท่านั้น ขณะที่ในบันทึกการติดต่อค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับราชสำนักอยุธยา พบว่า “เกราะญี่ปุ่น” จัดเป็นยุทธภัณฑ์อีกชนิดหนึ่ง ที่อยุธยานิยมสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก

เห็นได้จากเมื่อครั้ง พ.ศ. 2149 โชกุนแห่งญี่ปุ่น ได้ส่งบรรณาการมาถวายแด่กษัตริย์แห่งอยุธยาประกอบด้วยเกราะญี่ปุ่น 3 สำรับ ดาบ 10 เล่ม จากนั้นใน พ.ศ. 2151 ก็ได้มีการส่งเสื้อเกราะมาเป็นบรรณาการอีก 6 สำรับ เป็นต้น

“จากบันทึกทางการค้าฉบับต่างๆ ที่ฝ่ายไทยได้ติดต่อกับญี่ปุ่น ระบุว่า อาวุธและชุดเกราะแบบญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อย ซึ่งข้อมูลเรื่องการสั่งซื้อชุดเกราะจากญี่ปุ่น สอดคล้องกับในรายงานการขุดค้นที่หมู่บ้านญี่ปุ่นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2476 โดยคณะสำรวจของ ดร. Higachionna Kanjun ได้ค้นพบอาวุธและชุดเกราะญี่ปุ่นด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นชุดเกราะของทหารในกรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยาเมื่อเวลานั้น” ภูมิไท สรุป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567