ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การเสียดินแดน ครั้งแรกจาก 5 ครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ แคว้น “สิบสองจุไท” ที่เสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2431 เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากสงครามปราบ “จีนฮ่อ” ที่เข้ามาปล้นสะดมหัวเมืองลาวในสังกัดของหลวงพระบาง จนนำไปสู่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือสิบสองจุไทของฝรั่งเศส
การเสียดินแดนครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานของความเพลี่ยงพล้ำครั้งต่อ ๆ ไปที่สยามต้องเผชิญจากฝรั่งเศส โดย ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนหนังสือ ไขปริศนาประเด็นอำพรางในประวัติศาสตร์ไทย (สนพ. มติชน. พิมพ์ครั้งแรก : 2558) อธิบายเรื่องนี้ว่า การเสียแคว้นสิบสองจุไทนั้นมีเบื้องหลังมากกว่าการรับรู้โดยทั่วไปที่นักประวัติศาสตร์มักสรุปง่าย ๆ ว่า ฝรั่งเศสยึดไปเฉย ๆ เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นของญวน (เวียดนาม) มาก่อน
คำถามคือ ราชสำนักสยามในยุคนั้นยอมรับเรื่องนี้ง่าย ๆ เลยหรือ?
ไกรฤกษ์ นานา จึงศึกษาจนพบทฤษฎีหนึ่งที่อาจเป็นคำตอบว่า แท้จริงแล้วสยามถูกฝรั่งเศส “หักหลัง” จากสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่าจะไม่ล่วงล้ำอธิปไตยของกันและกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เท่ากับเป็นการคว่ำบาตรข้อตกลงที่ให้แก่กัน การทำความเข้าใจสัญญาฉบับนี้และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจช่วยล้างมลทินให้บรรพชนไทยในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการเสียดินแดนครั้งนี้ได้
“สิบสองจุไท” เผชิญภัยจีนฮ่อ
จีนฮ่อ คือกลุ่มที่แตกออกมาจากกบฏไท่ผิง กองกำลังนี้เข้ามาปล้นสะดมและกดขี่ราษฎรในเขตปกครองของหลวงพระบาง รวมถึงบริเวณแคว้นสิบสองจุไท เมืองบริวารของหลวงพระบาง ที่ติดต่อกับแคว้นตังเกี๋ยของญวน ซึ่ง ณ ห้วงเวลานั้น ตั๋งเกี๋ยถูกฝรั่งเศสยึดเป็นอาณานิคมไปเรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายอำนาจรุกล้ำเข้ามาอีกในดินแดนที่สยามนับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาเขต
เมื่อเจ้านครหลวงพระบางไม่สามารถคุ้มครองผู้คนจากปัญหาจีนฮ่อได้ ภัยคุกคามนี้จึงเป็นปัญหาของราชสำนักสยามไปด้วย เพราะมันอาจลุกลามบานปลายหากกรุงเทพฯ ไม่เคลื่อนไหวใด ๆ ซึ่งเจ้านครหลวงพระบางก็มีท้องตราเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อขอความช่วยเหลือด้วย เป็นที่มาของการส่งกองทัพไปปราบจีนฮ่อ หรือเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ศึกฮ่อ” ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่แม่ทัพในศึกฮ่อ ได้แก่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น กับ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ที่ยังเป็นนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอาณาเขตในตอนหนึ่ง ความว่า
“…กองทัพฝ่ายใต้ (กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม-ผู้เขียน) ให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูและโจรผู้ร้ายในเขตต์แขวงเมืองพวน ตลอดจนมาถึงเมืองลาวฝ่ายตะวันออก กองทัพฝ่ายเหนือ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี-ผู้เขียน) ให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูและโจรผู้ร้ายในหัวเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางชั้นในและเมืองหัวพันห้าทั้งหกตลอดจนถึงเมืองสิบสองจุไทย”
การปราบจีนฮ่อเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจากตั่งเกี๋ย แต่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกองทัพฝรั่งเศสกลับปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้ายออกไปจากบริเวณแคว้นสิบสองจุไท โดยอ้างว่าสิบสองจุไทเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นตังเกี๋ย
ความเข้าใจเดิม
นายกี อยู่โพธิ์ นักประวัติศาสตร์ไทยยุคสงครามหาเอเชียบูรพา บรรยายถึงการชิงดินแดนสิบสองจุไทไปโดยพลการของฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นความรับรู้ของคนจำนวนมาก มีความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปปราบฮ่อครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ส่งนายทหารมากำกับไปด้วยสองนาย คือ นายร้อยเอก คูเปต์ และนายร้อยโท นิโคลอง เป็นทำนองว่ามาช่วย แต่ที่แท้ก็เพื่อป้องกันการปะทะกับกองทัพไทยและนอกจากนี้ก็จะคอยกำกับสังเกตดูลู่ทางด้วย
ส่วนทางเมืองญวน ฝรั่งเศสก็ส่งกองทหารมาทางตังเกี๋ย ในความบังคับบัญชาของนายพันเอก แปร์ โนต์ และนายพันตรี อูตรี อ้างว่าเพื่อช่วยตีกระหนาบฮ่อทางเขตตังเกี๋ย แต่ก็ยกมาจนถึงเมืองซ่อน และยึดสิบสองจุไทยซึ่งเป็นพระราชอาณาเขตของไทยไว้ ส่วนไทยก็คงทำการปราบฮ่อเฉพาะแค่ในหัวพันห้าทั้งหก และเมืองพวน
เพราะในแคว้นสิบสองจุไทยนั้น ฝรั่งเศสได้ตั้งทหารไว้และไม่ยอมถอยถ้าไทยจะยกเข้าไปก็จะต้องเกิดการปะทะกัน เมื่อปราบฮ่อเสร็จแล้วก็ยังคงให้มีกองทัพย่อยตั้งระวังเหตุการณ์อยู่ที่หัวพันห้าทั้งหก และฝรั่งเศสก็ยังยึดเอาแคว้นสิบสองจุไทยไว้ไม่ยอมปล่อย เป็นอันว่าเนื้อที่ในดินแดนพระราชอาณาจักรส่วนนี้ ฝรั่งเศสได้เข้ามาครอบครองเป็นเจ้าของเสียเฉยๆ”
ความจริงเบื้องหลังการเสีย “สิบสองจุไทย”
กองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี หรือที่เรียกว่า “กองทัพสยามฝ่ายเหนือ” ในศึกฮ่อ ยกไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองซ่อน ในเขตหัวพันห้าทั้งหก (ปัจจุบันคือแขวงหัวพันในประเทศลาว) แล้วแต่งทัพย่อยออกปราบพวกจีนฮ่อได้รับชัยชนะในศึกแล้วศึกเล่า จากนั้นยกขึ้นไปตั้ง ณ เมืองแถง (ปัจจุบันคือเดียนเบียนฟูในเวียดนาม) เมืองศูนย์กลางของแคว้นสิบสองจุไท เป็นอันเสร็จกิจในศึกปราบจีนฮ่อ จึงได้รับท้องตราราชสีห์จากกรุงเทพฯ ให้นำทัพกลับ
แต่สถานการณ์ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมด เพราะสยามยังไม่สามารถ “เคลียร์” พื้นที่สิบสองจุไทได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากฝรั่งเศสรักษาพื้นที่โดยรอบเมืองแถงไว้ แถมยืนยันหนักแน่นถึงสถานะเมืองขึ้นของสิบสองจุไทต่อตังเกี๋ยในอดีต หรืออ้างกรรมสิทธิ์ของฝรั่งเศสเหนือดินแดนแห่งนี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กองทัพสยามที่ยกไปคราวนั้นได้รับพระบรมราชโองการจากรัชกาลที่ 5 ก่อนศึกฮ่อแล้วว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอะลุ่มอล่วยกับทุกฝ่าย ทั้งเจ้านครหลวงพระบาง ข้าศึกอย่างพวกจีนฮ่อ ตลอดจนคู่ขัดแย้งอย่างฝรั่งเศส ให้ใช้ดุลพินิจและความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด หากเกิดข้อพิพาทใด ๆ กับฝรั่งเศส ให้อ้างถึงการปรึกษาหารือกันในภายหลังระหว่างรัฐบาลเป็นปฐม
ดังจะเห็นว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือจาก เจ้าสักกรินทรฤทธิ์ เจ้านครหลวงพระบาง ยังมีมิตรภาพอันดีกับ มองซิเอร์ปาวี หรือ ฌ็อง มารี โอกุสต์ ปาวี (Jean Marie August Pavie) กงศุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบาง หรือแม้แต่ กายตงนายกองฮ่อ หัวหน้ากองโจรจีนฮ่อผู้ยอมจำนน ยังให้ความนับถือท่านอย่างมาก นับว่าสยามประสบความสำเร็จไม่น้อยในการจัดการภัยคุกคามจากจีนฮ่อ
แต่ภัยคุกคามที่ตามมาติด ๆ คือ ฝรั่งเศส พวกเขาอาศัยจังหวะที่ไฟจากพวกจีนฮ่อเพิ่งมอด รุกคืบเพื่อผนวกดินแดนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้
มองซิเอร์ปาวีเองมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขาให้คำแนะนำฝรั่งเศสในตังเกี๋ยให้พุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนเรื่องการปกครองของสยามเหนือดินแดนห่างไกลราชธานีเหล่านี้ นั่นคือสถานะความเป็นพื้นที่ทับซ้อน การเป็น “เมืองสองฝ่ายฟ้า” และความเปราะบางของแคว้นสิบสองจุไทเอง เริ่มจากการสนับสนุน เจ้าเมืองไล (เมืองหนึ่งในแคว้นสิบสองจุไท) ให้แข็งข้อต่อสยาม ด้วยเหตุผลว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือในการปราบจีนฮ่อ
เมืองไลกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญของฝรั่งเศส เป็นสารตั้งต้นในการทำให้คนในพื้นที่สิบสองจุไทเอาใจออกห่างหลวงพระบาง ซึ่งหมายถึงราชสำนักที่กรุงเทพฯ และยอมรับการเป็นส่วนหนึ่งของญวนที่ฝรั่งเศสหนุนหลังอยู่
เหตุการณ์ความวุ่นวายทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีต้องทูลถวายรายงานปัญหาการแปรพักตร์ของเจ้าเมืองไล และปฏิกิริยาที่เปลี่ยนไปของมองซิเออร์ปาวีเรื่องแคว้นสิบสองจุไท เป็นสัญญาณว่าฝรั่งเศสต้องการผนวกดินแดนนี้อย่างจริงจัง โดยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราโชวาทตอบกลับว่า จะพูดคุยเรื่องการแบ่งเขตแดนกับฝรั่งเศสในอนาคต แต่ตอนนี้แคว้นสิบสองจุไทยังเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาเขตอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง
มองซิเอร์ปาวีบ่ายเบี่ยงที่จะรับรู้นโยบายดังกล่าวจากสยาม เขาขอให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีถอนทหารออกจากแคว้นสิบสองจุไทโดยเร็วที่สุด เมื่อไม่สามารถเผชิญหน้าแม่ทัพสยามด้วยตนเอง จึงส่งผู้แทนมาเจรจา นั่นทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีโกรธเคืองในความตลบตะแลงและอำนาจบาตรใหญ่ของฝรั่งเศสอย่างมาก ดังบันทึกของท่านตอนหนึ่งว่า
“วันที่ ๒๓ พฤษภาคม เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ (๔ ล.ท. เศษ) กัปตันนิคอลองและดอกเตอร์มาเซได้มาหาข้าพเจ้า พูดถึงเรื่องทหารไทยที่เมืองแถง ได้พูดท่าโน้นท่านี้เพื่อให้ข้าพเจ้าสั่งถอนทหารกลับ ข้าพเจ้าขัดข้องไม่ยอมทำตาม คิดว่าทำการกับคนที่พูดกลับกลอกไม่รู้จบเช่นนี้ลำบากใจจริง ๆ ถ้าได้ทำการรบกับฮ่อจะง่ายและสบายใจกว่าที่จะพูดกับพวกคนพาลเกเรเกตุงเช่นนี้
ข้าพเจ้าจึงตอบห้วนๆ ว่า ข้าพเจ้าไม่รับเข้าใจอะไรทั้งหมด นอกจากเข้าใจว่าเมืองแถงนี้เป็นเมืองกลางตั้งรักษาอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ถ้าฝรั่งเศสเอาอาวุธเข้ามาในเขตต์แขวงที่เมืองไทยรักษาอยู่โดยไม่บอกกล่าวแล้วต้องรบกัน จะไม่ยอมให้เดินลอยนวลเล่นเป็นอันขาด ข้าพเจ้าจนใจว่าเวลานี้เกาเวอนแมนต์สั่งให้รักษาการสงบอยู่ มิฉะนั้นข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส…”
เมื่อการต่อล้อต่อเถียงกับฝรั่งเศสมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อไม่สิ้นสุด เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงร่างสนธิสัญญาขึ้นฉบับหนึ่งเพื่อหาข้อยุติ โดยให้ทั้งสองฝ่ายตรึงกำลังอย่างสงบในที่มั่นของตนจนกว่ารัฐบาลสยามและฝรั่งเศสจะหาข้อตกลงกันได้ เรียกว่า “สัญญาเมืองแถง” ซึ่งฝ่ายฝรั่งเศสเองยอมลงนามไว้เป็นหลักฐาน มีชื่อของมองซิเออร์ปาวีลงนามร่วมด้วย
สัญญาเมืองแถง ประกอบด้วยด้วยข้อมูกมัด 9 ข้อ เป็นความตกลงระหว่างแม่ทัพสยามกับมองซิเออร์ปาวี ประเด็นสำคัญคือทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สรุปว่าเมืองแถงเป็นเขตแดนของใคร และจะตั้งมั่นอยู่ที่เมืองแถงด้วยกันทั้งคู่จนกว่าจะมีคำสั่งจากรัฐบาลที่ตกลงกันได้แล้ว จึงจะกระทำการใด ๆ ต่อไป
ทั้งนี้กองทัพส่วนหนึ่งของสยามยังตั้งมั่นอยู่ที่เมืองหัวพันห้าทั้งหกและเมืองพวน ส่วนกองทัพฝรั่งเศสยังตรึงกำลังอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทเช่นเคย
หลังการทำสัญญาข้างต้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเชื่อถือในเกียรติของกงศุลฝรั่งเศส ตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้รับมอบหมายในการปราบปรามพวกจีนฮ่อแล้ว แต่ต้องล่าช้าเพราะท่าทีคุกคามจากฝรั่งเศส โดยวางกำลังบางส่วนเอาไว้ตามที่มั่นเดิม
ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น มองซิเออร์ปาวี ได้ฉีกสัญญาเมืองแถงทิ้งอย่างอุกอาจ แล้วประกาศว่าสัญญาเป็นโมฆะ เพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เรื่องกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในแคว้นสิบสองจุไท ที่เคยเป็นประเทศราชของตังเกี๋ย (ตามหลักฐานของฝรั่งเศส)
การเสียดินแดน “สิบสองจุไท” จึงไม่ได้เกิดจากความพ่ายแพ้ในสงครามหรือการนิ่งเฉยต่อคำกล่าวอ้างของฝรั่งเศส ไม่ได้ “เสียไปเฉย ๆ” แต่ถูกละเมิดอย่างไม่ชอบธรรมจากคู่สัญญาอย่างมองซิเออร์ปาวีนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลังสงครามปราบฮ่อ มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ใต้พรม
- พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในสงครามปราบฮ่อ คืออะไร?
- ความทุกข์ในพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามต้องเสียดินแดน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2567