เบื้องหลังสงครามปราบฮ่อ มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ใต้พรม

กองทหารไทย กองกำลังฝรั่งเศส เดินแถว สู่เมืองหลวงพระบาง สงครามปราบฮ่อ
ภาพวาดจากหนังสือฝรั่งเศส กองทหารไทยร่วมกับกองกำลังฝ่ายฝรั่งเศสเดินแถวเข้าสู่ตัวเมืองหลวงพระบางเพื่อไปปราบฮ่อ

สงครามปราบฮ่อ เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 และยืดเยื้อเป็นศึกใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะปราบปรามจนสงบเรียบร้อย หากใน สงครามปราบฮ่อ พ.ศ. 2428 กลับมีเบื้องหลังวุ่นวาย จนทำให้ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)) แม่ทัพคนหนึ่งในศึกครั้งนั้น ถึงกลับกล่าวว่า

“…ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชอาชญายอมตายเสียในกรุงเทพฯ ทีเดียว ดีกว่าที่จะต้องรับพระราชอาชญาเมื่อยกกองทัพไปแล้ว”

ซึ่ง “ประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค 1” (คุณหญิงสงวน สุรศักดิ์มนตรี พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีฯ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ 8 เมษายน พุทธศักราช 2476) บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ครั้นต่อมา ณ ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 พ.ศ. 2428 ทางกรุงเทพฯ ได้รับหนังสือใบบอกของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (มิ่ง) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงขึ้นไปกำกับราชการอยู่ที่เมืองหลวงพระบางบอกลงมาว่า พระยาพิชัยกับพวกนายทัพนายกองได้นำนายเยมช์แม็คคาที่ (พระวิภาคภูวดล) ขึ้นไปตรวจทางทำแผนที่ ได้ไปพบพวกฮ่อกับข่าเรื่องควบคุมกันเข้าเป็นกองทัพ ยกมาตั้งอยู่ที่เมืองสบแอดกองหนึ่ง ครั้นพระยาพิชัยกับพวกนายทัพนายกองจะคุมกำลังเข้าตีสู้รบกับพวกฮ่อ ให้พวกฮ่อและข่าเจืองแตกพ่ายไป และขึ้นไปทำแผนที่ให้ถึงเมืองไล ก็ขัดสนด้วยสะเบียงอาหารจึงได้เลิกทัพกลับลงมายังเมืองหลวงพระบาง

ครั้น ณ วันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 3 ได้รับหนังสือบอกของพระยาสุโขไทย และบอกของเจ้าอุปฮาดเมืองหลวงพระบาง กับใบบอกของพระยาราชวรานุกูล (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เวก บุญยรัตพันธุ์) และพวกนายทัพนายกองทางทุ่งเชียงคำบอกลงมาว่า ได้สู้รบกับกองทัพพวกฮ่อติดพันกันอยู่ แต่พวกฮ่อหาได้เลิกถอยไปไม่ กองทัพขัดสนด้วยสะเบียงอาหาร ไพร่พลได้รับความบอบช้ำป่วยไข้ล้มตายลงมาก พระยาราชวรานุกูลจะต้องเลิกกองทัพมาจากทุ่งเชียงคำ

………..

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขึ้นว่า “ข้าราชการทัพครั้งนี้พระองค์ท่านก็ได้ตั้งพระทัยฉลองพระเดชพระคุณโดยแข็งแรง ได้จัดกองทัพใหญ่ขึ้นไปปราบปรามพวกฮ่อเป็นหลายคราว ทั้งนายทัพนายกองที่ขึ้นไปทำราชการฉลองพระเดชพระคุณนั้น ก็ได้ตั้งใจกระทำการโดยเต็มสติกำลังความสามารถ…ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าจะทรงจัดการอย่างไร จึงจะให้เป็นผลสำเร็จลุล่วงไปได้ราชการทัพครั้งนี้ต้องอาศัยพระบรมเดชานุภาพ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงจัดการประการใด ก็จะได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ พร้อมกันปฏิบัติราชการฉลองพระเดชพระคุณ ให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำรินั้น”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าท่านไม่มีทางที่จะทรงจัดการให้เป็นการลุล่วงสำเร็จได้แล้ว หม่อมฉันก็จะขอจัดกองทัพเป็นอย่างใหม่ ให้ยกขึ้นไปให้ทันในแล้งนี้ เพื่อปราบปรามพวกฮ่อให้สำเร็จจนได้ คือหม่อมฉันจะจัดกองทัพเป็น 2 กอง คือกองทัพฝ่ายเหนือและกองทัพฝ่ายใต้ กองทัพฝ่ายเหนือนั้นหม่อมฉันจะให้พระนายไวยฯ เป็นแม่ทัพ เพราะพระนายไวยฯ คนนี้เป็นผู้ที่ชำนาญการทหารและการอาวุธ ทั้งเป็นผู้ที่เห็นแก่ราชการไม่ละทิ้งหน้าที่ และเป็นผู้ที่มีความซื่อตรงจงรักภักดี เสียแต่เป็นคนดุ และเป็นคนใจเร็ว”

(ตามที่มีพระกระแสรับสั่งโต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ในที่ประชุมด้วยพระโอษฐ์นั้น ภายหลังได้จดคำโต้ตอบ มีลายพระราชหัตถ์ไปถวายกรมสมเด็จเป็นทางราชการกับลายพระหัตถ์โต้ตอบนั้น พระราชทานสำเนามาให้แก่เจ้าหมื่นไวยวรนารถดูด้วย)

ส่วนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นั้น หม่อมฉันจะให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพ และให้นายพันตรี พระอมรวิไสย สรเดช (เจ้าพระยาสุริยวงษ์วัฒน์ศักดิ์ โต บุนนาค) ผู้บังคับกองปืนใหญ่กับนายทหารปืนใหญ่อีกหลายคนเป็นทัพหน้า กับนายร้อยโท หม่อมราชวงศ์ รุณ ฉัตรกุล ณ อยุธยา (เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต) และนายร้อยโท พรต บุตรพระยาวจี ข้าหลวงเดิม (หลวงจำนงยุทธกิจ) ให้เป็นผู้ช่วยพระอมรวิไสยสรเดชด้วย กับให้พระยานครราชเสนี (กาจ สิงหเสนี) แต่ครั้งยังเป็นพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาอยู่นั้นเป็นกองลำเลียงทัพหน้า ให้พระราชวรินทร์ (พระยาอภัยรณฤทธิ์ บุศย์ บุณยรัตพันธุ์) เจ้ากรมพระตำรวจ เป็นนายทัพคุมทหารกองหนุนทัพหนุนให้จมื่นไชยากร (พระยาอนุชิตชาญไชย สาย สิงหเสนี) ปลัดกรมพระตำรวจเป็นกองลำเลียงทัพหนุน ยกไปพร้อมกับแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้”

เมื่อขณะที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงจัดกองทัพชุดใหม่ ซึ่งจะให้ยกขึ้นไปทำ สงครามปราบฮ่อ คราวนี้นั้น เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ทราบข่าวแล้ว จึงทำหนังสือความเห็นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มีใจความ

“…ถ้าพวกราษฎรไม่รู้การตื้นลึกหนักเบาจะสำคัญไปว่า กองทัพฮ่อมีกำลังใหญ่โตมากมายหนักหรือจนถึงต้องให้พระเจ้าน้องยาเธอเป็นแม่ทัพออกไป การปราบฮ่อเพียงเท่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานเป็นแม่ทัพฉลองพระเดชพระคุณแต่ผู้เดียว ในการที่จะปราบปรามพวกฮ่อทางเมืองพวน และเมืองหัวพันห้าทั้งหก, สิบสองจุไทย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอทำการให้สำเร็จ มิให้เป็นที่ขุ่นเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามหนังสือ ตามที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถทูลเกล้าฯ ถวายนั้นแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้หาตัวเจ้าหมื่นไวยวรนารถขึ้นไปเฝ้า แล้วก็ทรงเปิดแผนที่ชี้แจงเหตุการณ์ตามพระราชดำริที่มีพระราชประสงค์จะจัดกองทัพเป็นสองกองทัพตามเดิม และมีพระกระแสรับสั่งว่า

“ข้าก็เชื่อสติปัญญาและความสามารถของเจ้า ว่าคงทำการให้สำเร็จได้…แต่เวลานี้พวกฮ่อซึ่งตั้งอยู่ที่สบแอดเชียงค้อมีกำลังมากกว่าแห่งอื่น ได้ตั้งค่ายเป็นรกเป็นรากใหญ่โต ถ้าแม้เจ้าจะทำการคนเดียว ทางที่พวกฮ่อตั้งอยู่นั้นห่างไกลกันมากนัก ทั้งหนทางก็กันดารเป็นห้วยและเขาทั้งสิ้น ถ้าเจ้ากำลังทำการอยู่ทางหนึ่งอีกทาง หนึ่งพวกฮ่อก็จะกำเริบมากขึ้น แม้เจ้าจะยกออกไปปราบปรามให้ทันท่วงทีก็ยากอยู่”

เมื่อได้ทรงพระกรุณาชี้แจงเช่นนี้แล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ไม่มีถ้อยคำอันใดที่จะกราบบังคมทูลโต้แย้งในพระราชดำรินั้นได้ เป็นอันเห็นชอบด้วยตามพระบรมราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกระแสรับสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถตระเตรียมทหาร ซึ่งได้ฝึกหัดไว้ชำนิชำนาญ และให้ทำบัญชีไปถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกระทรวงมหาดไทยให้ลงในตารางทัพด้วย และมีพระกระแสรับสั่งว่า “แล้วให้เจ้าไปเฝ้ากรมสมเด็จขอดูตารางทัพที่ท่านเสียด้วย”

จำนวนทหารที่ได้เข้ากะเข้าในตารางทัพมีดังนี้คือ

กองกลาง นายพันเอก 1 นายพันตรี 2 นายทหารฝรั่งมียศเท่านายร้อยเอก 3 นายแพทย์ใหญ่ 1 ปลัดกอง 1 นายเวร 1 ยกกระบัตร 1 เกียกกาย 1 นายแพทย์รอง 2 จ่านายสิบ 2 นายสิบ เอกแตรเดี่ยว 1 นายสิบเอกประจำธง 1 นายสิบเอกผู้ช่วย 12 เสมียน 4 พลแตรเดี่ยว 4 นักเรียนนายร้อย 20 นายสิบเอกในการครัว 2 ทหารคนใช้และคนทำครัว 30 คน รวม 41 คน

กองพลรบ กองทหารราบ 4 กองร้อย มีนายร้อยเอกประจํากอง 4 คน นายร้อยโท 8 ในกองร้อย 1 มีจ่านายสิบ 1 นายสิบเอกเกียกกาย 1 นายสิบเอก 4 นายสิบโท 4 พลแตรเดี่ยว 4 พลทหาร 100 คน รวม 4 กองร้อยทั้งนายและพล 468 คน

กองทหารช่าง นายร้อยเอก 1 นายร้อยโท 1 นายร้อยตรี 1 นายสิบเอกเกียกกาย 1 นายสิบเอก 4 นายสิบโท 4 พลทหารแตรเดี่ยว 2 พลทหารช่าง 12 คน รวมทหารช่างทั้งนายและพล 26 คน

กองทหารรักษากะสุนดินดำ นายร้อยโท 1 จ่านายสิบ 1 นายสิบเอกเกียกกาย 1 นายสิบเอก 4 นายสิบโท 2 พลทหารคุมกะสุนดินดำ 20 คน รวมทั้งนายและพล 29 คน

รวมกองทหารหน้าทั้งนายและพลที่จะขึ้นไปราชการทัพด้วยแม่ทัพฝ่ายเหนือคราวนี้ 614 คน กับมีทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรสมทบขึ้นไปอีกด้วย มีปลัดกรมทหารปืนใหญ่ 1 พลทหาร 100 คน

คนหัวเมือง กระทรวงมหาดไทย เกณฑ์สมทบตามจำนวนในสำเนาท้องตรา มีจำนวนไพร่ 200 คนๆ คุมโคต่าง 50 คน ควานช้าง 300 คน รวม 550 คน

ข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย พระอินทรแสนแสง (ปลัดเมืองกำแพง) กับขุนหมื่น 25 คน

รวมคนทั้งสิ้นทั้งทหารและคนหัวเมืองที่ไปในกองทัพฝ่ายเหนือเป็นจำนวน 1,316 คน

เมื่อขณะที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ทราบข่าวว่า จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นแม่ทัพใน สงครามปราบฮ่อ แน่แล้ว จึงได้ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ เพื่อหวังจะดูตารางทัพที่ท่านจะทรงกะให้ ขณะที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถไปเฝ้านั้น กรมสมเด็จยังไม่เสด็จออกจากข้างใน มีแต่พระยาศรีสหเทพ (พระยาราชวรานุกูล อ่วม) ซึ่งเป็นปลัดทูลฉลอง เป็นพระกรขวาของกรมสมเด็จ) กับข้าราชการกระทรวงมหาดไทย นั่งคอยเฝ้าอยู่ที่ท้องพระโรงพร้อมกัน

พระยาศรีสหเทพได้นั่งวางภูมิไว้อำนาจอยู่ และหันมาถามหลวงทรเนนทร์ซึ่งเป็นผู้ไปสำรวจสัตว์พาหนะช้าง, ม้า, โคต่าง, ทางมณฑลพายัพว่า “มีจำนวนเท่าใด” และซักถามไปทุกๆ หัวเมืองจนถึงเมืองเถิน หลวงทรเนนทร์จึงตอบว่า “ช้างเมืองเถินเวลานี้ไม่มีเลยจนเชือกเดียว” พระยาศรีสหเทพก็พูดว่า “จะให้เกณฑ์ช้างเมืองเถิน 20 ช้าง” หลวงทรเนนทร์จึงตอบว่า “ผมก็ได้เรียนแล้วว่าช้างเมืองเถินไม่มี ใต้เท้าจะให้กระผมปั้นช้างที่ไหนมาให้เล่าขอรับ” พระยาศรีสหเทพก็ตอบว่า “อ๋าย แกต้องหาให้ได้ชิ” แล้วก็จะจดลงในตารางทัพว่าให้เกณฑ์ช้างเมืองเถิน 20 ช้าง โคต่าง 60 โค และได้จัดเกณฑ์ตามหัวเมืองประเทศราชระไปจนครบ ช้าง 60 ช้าง โคต่าง 600 ซึ่งกะเกณฑ์ไปกับกองทัพนั้น

เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้เห็นพระยาศรีสหเทพแผลงฤทธิ์ไว้อำนาจต่อหน้าต่อตาเช่นนั้น จึงได้ขอดูตารางทัพซึ่งพระยาศรีสหเทพได้จดเกณฑ์สัตว์พาหนะ ก็เห็นจำนวนช้างและโคต่างซึ่งจดเกณฑ์ไว้ให้นั้นเท่ากันกับของพวกนายทัพหน้าและลูกกองของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้เท่านั้น จึงได้ร้องคัดค้านต่อพระยาศรีสหเทพว่า

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ทั้งคุมทหารกรุงเทพฯ มากกว่ากองทัพใหญ่ฝ่ายใต้ด้วย ทำไมเจ้าคุณจึงกะตารางทัพช้างและโคต่างให้ผมเท่ากับลูกกองของแม่ทัพฝ่ายใต้เล่า? กับอีกข้อ 1 เจ้าคุณได้ถามหลวงทรเนนทร์ซึ่งเป็นผู้ไปสำรวจสัตว์พาหนะมณฑลพายัพ หลวงทรเนนทร์ก็ได้บอกกับเจ้าคุณแล้วว่าช้างเมืองเถินไม่มี เจ้าคุณกลับจดบัญชีลงในตารางทัพว่าให้เกณฑ์ช้างเมืองเถิน 20 เชือก ดังนี้ถ้าเกณฑ์สัตว์พาหนะได้ไม่พอแก่กิจการในกองทัพ ความผิดมิตกอยู่แก่ผมหรือ?

พระยาศรีสหเทพก็หัวเราะตอบเสียงเป็นเชิงเยาะเย้ย เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้จดจำถ้อยคำที่พระยาศรีสหเทพกล่าว และตราหน้าผู้ที่นั่งอยู่ในที่นั้นจดจำไว้ในใจทุกๆ คน ทันใดนั้นเอง กรมสมเด็จก็เสด็จออก “มีรับสั่งให้พระยาศรีสหเทพนำตารางทัพมาตรวจดู” ขณะที่ทรงทอดพระเนตรตารางทัพอยู่นั้น เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็คลานเข้าไปเฝ้าและกราบทูลขึ้นว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าต้องมีอำนาจเต็มเท่ากับแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ กับข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นตารางทัพฝ่ายเหนือจ่ายสัตว์พาหนะให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าเท่ากับลูกกองของแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ กับอนึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ยินพระยาศรีฯ ถามหลวงทรเนนทร์เมื่อตะกี้นี้ว่า ช้างเมืองเถินมีมากน้อยเท่าใด? หลวงทรเนนทร์ตอบว่าช้างเมืองเถินไม่มีเลย พระยาศรีฯ กลับจดบัญชีลงในตารางทัพให้เกณฑ์ช้าง 20 เชือกเช่นนี้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าทำประการใดต่อไป”

กรมสมเด็จเมื่อได้ทรงฟังคำที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถทูลเช่นนั้น ก็ทรงกริ้วพระยาศรีฯ และทรงรับสั่งว่า “พระยาศรีฯ ทำผิดนี่ ให้แก้ตารางทัพเสียใหม่ พระนายไวยเขาเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือ ต้องเกณฑ์กำลังสัตว์พาหนะช้างและโคต่างให้เขาเท่ากับกรมประจักษ์ซิจึงจะถูก”

ครั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถกลับจากเฝ้ากรมสมเด็จแล้ว จึงรู้สึกว่าการที่จะไปในการสงครามครั้งนี้ถ้าไม่รบศึกภายในเสียให้แตกก่อนหน้าที่จะยกกองทัพไปแล้ว เมื่อมีอุปสรรคขัดข้องอยู่เช่นนี้แล้ว ความผิดก็จะต้องตกอยู่แก่เจ้าหมื่นไวยวรนารถแต่ผู้เดียว ทั้งการที่ตั้งใจไว้โดยแน่แน่วว่าจะตั้งหน้าทำการแผ่นดินฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที ก็จะกลับกลายเป็นความเสียไป เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงทำเป็นเรื่องราว เป็นรายงานชี้แจงตามข้อความซึ่งได้โต้ตอบกันนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในท้ายรายงานนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

“การที่ข้าพระพุทธเจ้าจะขึ้นไปฉลองพระเดชพระคุณคราวครั้งนี้นั้น ข้าพระพุทธเจ้ามิได้คิดแก่ชีวิตและร่างกาย ตั้งใจจะสละโลหิตทุกๆ หยดในกายตัวของข้าพระพุทธเจ้าเป็นราชพลี ทำการฉลองพระเดชพระคุณให้ลุล่วงไปตามพระราชประสงค์ให้จงได้ แต่มาติดขัดด้วยกำลังพาหนะในชั้นต้นเสียแล้วเช่นนี้ กองทัพจะยกขึ้นไปถึงสนามรบได้อย่างไร? เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชอาชญายอมตายเสียในกรุงเทพฯ ทีเดียว ดีกว่าที่จะต้องรับพระราชอาชญาเมื่อยกกองทัพไปแล้ว”

ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้นำรายงานนั้นขึ้นไปถวายถึงบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระกระแสรับสั่งให้หาตัวเจ้าหมื่นไวยวรนารถเข้าเฝ้าข้างในพระที่นั่งวโรภาศพิมาน ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า

ข้าจะจัดการเองอย่าให้เจ้ามีความวิตกไปเลย เมื่อเจ้าได้ยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิชัยแล้ว ถ้าไม่มีกำลังสัตว์พาหนะที่จะยกขึ้นไปได้ ความผิดไม่ต้องตกอยู่กับเจ้า ข้าจะสั่งการไปที่กรมสมเด็จฯ และให้พระยาศรีสหเทพล่วงหน้าขึ้นไปจัดการก่อนในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะได้จัดกำลังพาหนะและสะเบียงอาหารไว้ให้พรักพร้อมให้ทันตามกำหนด เจ้าจงนำหนังสือของข้าไปถวายกรมสมเด็จต่อพระหัตถ์ท่านเอง แม้จะเป็นเวลาดึกดื่นสักเพียงไรก็ดี ให้เจ้านำไปถวายด้วยตนเองให้จงได้น่ะ”

ขณะที่มาถึงกรุงเทพฯ นั้นเป็นเวลา 9 ล.ท. เศษ เวลานั้นกรมสมเด็จได้เสด็จไปประทับอยู่ข้างในเสียแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้ชี้แจงเหตุการณ์ว่า “เป็นผู้เชิญลายพระราชหัตถเลขามาถวายฉะเพาะพระองค์กรมสมเด็จเป็นราชการด่วน” มหาดเล็กจะขอรับเอาลายพระราชหัตถ์เข้าไปถวาย เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ไม่ยินยอม ขอถวายต่อพระหัตถ์เอง จนกระทั่งกรมสมเด็จต้องเสด็จออกมารับลายพระราชหัตถ์นั้น

เมื่อกรมสมเด็จทอดพระเนตรลายพระราชหัตถ์จบลงแล้ว ก็มีรับสั่งเชิงประชดว่า “โฮย! กองทัพฮ่อครั้งนี้น่ะเป็นการใหญ่เสียกว่าทัพเวียงจันทร์อีก ข้าเจ้าจะจัดให้พระยาศรีฯ ขึ้นไปก่อน ถ้าไม่เพียงพอข้าเจ้าจะขึ้นไปจัดกองทัพเอง” แล้วก็มีรับสั่งให้ไปตามตัวพระยาศรีสหเทพ ให้เข้ามาเฝ้าในเวลานั้น จึงรับสั่งพระยาศรีว่า “ได้มีลายพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีฯ ล่วงหน้าขึ้นไปจัดการกำลังพาหนะและสะเบียงอาหารให้พระนายไวย จนกว่าจะยกกองทัพไปได้ เวลาบ่ายพรุ่งนี้ให้มาลงเรือที่ท่าช้าง ไม่ต้องวุ่นวายหาสะเบียงอาหารอันใดดอก พระองค์ท่านจะจัดส่งเสียให้เสร็จและจะจัดหรือปิกนิกของพระองค์ท่านให้เรือสตีมลอนช์นกบินลากขึ้นไปส่ง” เมื่อทรงสั่งเสียราชการเสร็จแล้ว ก็ทรงรับสั่งกับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ “จะทรงตอบลายพระราชหัตถ์ขึ้นไปเอง ให้พระนายไวยกลับไปก่อนเถิด”

ในวันรุ่งขึ้นแต่เวลาเช้า พระยาศรีสหเทพได้ไปหาเจ้าหมื่นไวยวรนารถที่บ้าน เพื่อปรึกษาหารือในการที่จะจัดสะเบียงอาหาร ขอความแนะนำของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ “ว่าจะคิด และจัดการเป็นประการใดดี?” สังเกตดูกิริยาท่าทางที่วางหยิ่งและน้ำเสียงที่กำเริบนั้นสงบลงมาก เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ตอบแนะนำให้ตามความเห็น พระยาศรีสหเทพก็เห็นชอบด้วย

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับลงมาประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ วันหนึ่ง เสด็จออกขุนนาง มีข้าราชการเข้าไปคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมหน้ากัน เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ได้เข้าไปคอยเฝ้าอยู่ด้วยเหมือนกัน เมื่อขณะที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถย่างขึ้นไปบนพระที่นั่งจักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เสด็จออก ได้มีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยซึ่งมีความกรุณาต่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถหลายคนต่างคนต่างก็มาแสดงความเสียใจด้วยเจ้าหมื่นไวยวรนารถในการที่จะต้องไปราชการทัพพร้อมกันกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นั้น ท่านเหล่านั้นมีความวิตกด้วยเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นอันมาก เพราะเห็นว่า…

เมื่อขณะที่อยู่ยังกรุงเทพฯ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นยังทรงคิดการที่จะทำลายล้างผลาญเจ้าหมื่นไวยวรนารถเสียให้แหลกลาญ บัดนี้ยังจะต้องไปราชการทัพร่วมกันอีก ท่านเกรงว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถจะเป็นอันตราย

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) กับพระยาสมบัติยาภิบาลจึงเตือนเจ้าหมื่นไวยวรนารถว่า “ถ้าเจ้าหมื่นไวยวรนารถจะหาทางหลีกเลี่ยงอย่าไปร่วมทางกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมได้จะเป็นการดี”

เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงพูดตอบท่านว่า “กระผมจะหาทางหลีกเลี่ยงอย่างไรได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระผมไปทำการ ณ ที่ใดๆ กระผมผู้เป็นข้าทหารก็ต้องรับฉลองพระเดชพระคุณด้วยความยินดี ทั้งการที่กระผมจะต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปทำการคราวนี้ ก็มีหน้าที่เสมอกัน กระผมไม่มีความวิตกแต่อย่างใดเลย กระผมก็มีอำนาจเสมอกับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้น ถ้าท่านจะคิดประหารกระผม กระผมก็ต้องประหารท่านให้แหลกลงไปบ้างเหมือนกัน” กำลังพูดกันอยู่นั้นก็พอดีเสด็จออก ไม่ทราบว่าใครนำเอาถ้อยคำที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้กล่าวกับเพื่อนข้าราชการนั้นขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีกระแสรับสั่งให้หาตัวเจ้าหมื่นไวยวรนารถให้เข้าไปเฝ้าที่ตำหนักพระอรรคชายาเธอ (พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์) เพราะขณะนั้นกำลังจัดการที่จะขึ้นพระตำหนักอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระกระแสรับสั่งให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถเข้าไปเฝ้าฉะเพาะพระองค์ในห้องหนึ่ง แล้วมีพระราชดำรัสว่า

“การที่ข้าจะให้เจ้าขึ้นไปราชการทัพพร้อมกับกรมประจักษ์ซึ่งจะยกขึ้นไปอีกฝ่ายหนึ่งในครั้งนี้นั้น เจ้ากับกรมประจักษ์ก็เป็นปรปักษ์ซึ่งกันและกันอยู่ จึงทำให้ข้ามีความวิตก แต่ข้าเห็นว่าในการซึ่งเขาหาเหตุว่า เจ้าเป็นกบฏนั้นไม่มีใครเขาเชื่อกันดอกน่ะ และผู้ที่กล่าวหาเจ้านั้นก็เป็นบ้า เพราะด้วยอิจฉาเจ้า เพราะฉะนั้นแหละ เจ้าก็อย่าถือคำพูดเหล่านั้นเก็บเอามาเป็นอารมณ์เลยนะ การที่ข้าต้องจัดกองทัพเป็น 2 กอง ให้ขึ้นไปปราบฮ่อครั้งนี้นั้น ก็เพราะเป็นหน้าที่ของข้าโดยตรง ด้วยเหตุว่ากระทรวงมหาดไทย ได้จัดกองทัพให้ขึ้นไปปราบฮ่อก็นมนานกว่า 10 ปีมาแล้ว ถึงที่สุดกันคราวนี้

ทั้งกรมสมเด็จ ซึ่งท่านเป็นประธานในกระทรวงมหาดไทยก็ทรงหมดพระปัญญาและความสามารถ ที่จะทรงจัดกองทัพให้ไปทำการปราบฮ่อให้สําเร็จต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่ข้าจะต้องรับธุระจัดกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อให้สำเร็จลุล่วงไปให้จงได้ ข้าจึงต้องจัดให้เจ้าเป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือ และกรมประจักษ์เป็นแม่ทัพฝ่ายใต้ มีอำนาจรับผิดชอบคนละฝ่าย ถ้าแม้เจ้ายกกองทัพไปครั้งนี้ ไปทำการให้เป็นเหตุกับกรมประจักษ์ขึ้นแล้ว ราชการก็คงต้องเสีย ทั้งข้าผู้เป็นหัวหน้าจัดการของเจ้าก็ต้องเสียไปด้วย เจ้าต้องคิดตรึกตรองเสียให้รอบคอบ ขออย่าทำให้เกิดเรื่องและเป็นเหตุขึ้นในราชการครั้งนี้ได้”

เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ฟังพระบรมราชกระแสรับสั่งเช่นนั้น แล้วก็กราบถวายบังคมลงแทบฝ่าพระบาท

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2565