พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในสงครามปราบฮ่อ คืออะไร?

ช้างบรรทุกปืนใหญ่ ในกองทัพไทย เมื่อคราวสงครามปราบฮ่อ

สงครามปราบฮ่อ พ.ศ. 2428 รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งให้จัดทัพเป็น 2 กอง แม่ทัพใหญ่ฝ่ายเหนือคือ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)) แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้คือ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

ก่อนออกเดินทางนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้กราบบังคมทูลถามถึงพระราชประสงค์ในการศึกครั้งนี้ รัชกาลที่ 5 รับสั่งแก่เจ้าหมื่นไวยวรนารถว่า “เจ้าจะเป็นผู้ขึ้นไปทำการให้เจ้าเรียงข้อความเป็นคำถามข้ามาก่อน ตามความประสงค์ของเจ้าที่เจ้ามีความเห็นเป็นอย่างไร ข้าจะได้ชี้แจงตอบเจ้าเป็นข้อๆ ไป”

เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถทูลเกล้าฯ ถวายข้อคำถาม รัชกาลที่ 5 ตรัสชมว่ารอบคอบและตอบคำถามทั้งหมด ซึ่งเอกสาร “ประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค 1” (คุณหญิงสงวน สุรศักดิ์มนตรี พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีฯ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ 8 เมษายน พุทธศักราช 2476) ได้บันทึกพระบรมราโชวาทครั้งนั้นไว้ด้วย

เนื้อหาส่วนหนึ่งในบันทึกดังกล่าวมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม กับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ และแม่ทัพ นายกอง ซึ่งขึ้นไปปราบปราบพวกฮ่อข้าศึกทั้งฝ่ายที่ขึ้นทางเมืองหนองคาย เรียกว่าฝ่ายใต้ ที่ขึ้นทางเมืองหลวงพระบาง เรียกว่าฝ่ายเหนือ เพื่อจะให้ทราบพระราชประสงค์เป็นเลาๆ ในการที่จะได้จัดการทั้งปวงตลอดไป

ข้อ 1 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพขึ้นไปเพื่อจะปราบปรามพวกฮ่อในเมืองพวน, เมืองหัวพันห้าทั้งหกครั้งนี้ ด้วยทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร อันเดือดร้อนอยู่ในพระราชอาณาเขตต์ ซึ่งพวกฮ่อมาย่ำยีตีปล้น เก็บทรัพย์สมบัติสะเบียงอาหารจุดเผาบ้านเรือน คุมตัวไปใช้สอยเป็นทาสเป็นชะเลยได้รับความลำบากต่างๆ ไม่เป็นอันที่จะทำมาหากินจึงได้คิดจะปราบปรามพวกฮ่อเสียให้ราบคาบ เพื่อจะได้ให้ราษฎรทั้งปวงได้รับความอยู่เย็นเป็นสุข

เพราะเหตุฉะนั้นให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงกำชับห้ามปรามไพร่พลในกองทัพ อย่าให้เที่ยวข่มขู่ราษฎรทั้งปวงแย่งชิงสะเบียงอาหารต่างๆ เหมือนอย่างเช่นคำเล่าลือ ที่คนปกติมักจะเข้าใจว่า เป็นธรรมเนียมกองทัพแล้ว จะแย่งชิงหรือคุมเหงคะเนงร้ายผู้ใดแล้วไม่มีโทษ ในการซึ่งทรงพระมหากรุณาแก่ราษฎรจะให้อยู่เย็นเป็นสุขนั้น กลับเป็นความเดือดร้อนไปได้เป็นอันขาด

ข้อ 2 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบ ถิ่นฐานทั้งปวงอันเป็นพระราชอาณาเขตต์จะควรเป็นทางค้าท่าขายอย่างใด ซึ่งจะให้เจริญผลประโยชน์แก่บ้านเมืองเหล่านั้น และเป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวงทั่วไป จึงโปรดให้มีกองแผนที่ขึ้นมาตรวจสอบถิ่นฐานทั้งปวงให้ได้ความชัดแจ้ง

ให้แม่ทัพนายกองทั้งปวงช่วยกันอุดหนุนเจ้าพนักงานทำแผนที่ให้ได้ทำการตลอดไป และไต่สวน ตรวจตราทางเข้าทางออกที่ต่อเขตต์แดน จะควรจัดการรักษาป้องกันบ้านเมืองเหล่านั้นให้อยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโจรผู้ร้ายได้อย่างไร และมีโจรผู้ร้ายหรืออันตรายอันใดที่น่ากลัวจะเป็นเหตุการณ์ให้บ้านเมืองเหล่านั้นไม่เป็นสุข ควรจะปราบปรามจัดการแก้ไขเสีย ก็ให้ปราบปรามเสียให้สิ้นเสี้ยนหนามอย่าให้เป็นที่ขัดขวางแก่ประโยชน์บ้านเมืองอันเจริญขึ้นได้

ข้อ 3 กองทัพซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ยกแยกขึ้นไปเป็น 2 กองปันเขตต์ไว้ว่ากองทัพฝ่ายใต้ ให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูและโจรผู้ร้ายในเขตต์แขวงเมืองพวน ตลอดลงมาจนหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก กองทัพฝ่ายเหนือให้ปราบปรามข้าศึกศัตรูและโจรผู้ร้ายในหัวเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบางชั้นใน และเมืองหัวพันห้าทั้งหกตลอดจนถึงเมืองสิบสองจุไทย ถึงว่าปันไว้แล้วดังนั้นก็ดีจะถือว่าต่างคนต่างทำเป็นละทัพคนละกองไม่เกี่ยวข้องกันนั้นไม่ได้ ต้องตั้งใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปปราบปรามข้าศึกศัตรูและโจรผู้ร้าย เป็นสองฝ่ายดังนี้ เพราะเหตุที่พระราชอาณาเขตต์กว้างขวาง ครั้นจะให้ขึ้นไปแต่กองเดียว จะทำการไม่สำเร็จไปได้โดยเร็ว

จึงให้ทำการฝ่ายใต้กองหนึ่ง ฝ่ายเหนือกองหนึ่งบรรจบเข้าหากันให้เรียบร้อยพร้อมกัน เพราะฉะนั้นห้ามเป็นอันขาดว่า อย่าให้แม่ทัพทั้ง 2 ฝ่ายถือใจว่าเป็นการทำราชการประกวดกัน ใครจะดีกว่ากัน ใครจะเลวกว่ากัน เช่นกับเล่นโขนเล่นหนังประชันกันเป็นอันขาด การที่ไปทำควรช้าก็ต้องช้า ควรจะทำได้เร็วจึงทำเร็ว อย่าให้ถือเอาแต่การที่จะทำแล้วไปโดยเร็วเป็นประมาณ

หรือถ้าจะทำการดีข้างฝ่ายกองตัว แต่จะไปเป็นความลำบากแก่กองอื่น มีทางที่จะหลีกเลี่ยงแก้ไขให้ได้ดีเพียงใด ก็ให้คิดอ่านแก้ไขจัดการนั้นอย่าให้เป็นความลำบากแก่กันทั้ง 2 ฝ่ายจนสุดกำลังสุดปัญญา และให้กองทัพทั้ง 2 ฝ่าย มีหนังสือส่งข่าวคราวไปมาถึงกัน ให้ทราบการที่กองของตัวได้ทำการอย่างไรตั้งอยู่ที่ตำบลใด อย่าให้กองทัพพลัดกันจนไม่รู้ ว่ากองหนึ่งอยู่แห่งใดได้เป็นอันขาด…

เมื่อมีการจะทำจะต้องอาศัยกำลังกันช่วยแก้ไขก็ให้ขอร้องกัน และรีบไปช่วยให้ทันอย่าให้เสียท่วงที ถ้าการที่จะปราบปรามข้าศึกสัตรูเป็นการใหญ่ จพจะต้องทพพร้อมกันทั้ง 2 กอง ก็ให้รวมกันเข้าทพการให้พร้อมเพรียง อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งกันไป ให้ทำกิติศัพท์ ให้ปรากฏทั้ง 2 กองว่ากองทัพที่ยกขึ้นไปทางเหนือกองหนึ่งใต้กองหนึ่งนี้ เพื่อจะช่วยกันปราบปรามพวกฮ่อ ตีกะทับบีบคั้นให้พวกฮ่อพ่ายแพ้จงได้

อย่าให้ทำการแก่งแย่งให้เป็นที่ข้าศึกสัตรูหมิ่นประมาท เพราะได้รู้กิติศัพท์กองทัพทั้ง 2 กองว่าไม่เข้ากัน มีอุบายที่จะแก้ไขได้ต่างๆ ถ้ากองทัพทั้ง 2 กองนี้กองใดกองหนึ่งทำการแก่งแย่ง ปรากฏเป็นการไม่สามัคคีปรองดองกันตามสมควรแก่ทางราชการก่อนแล้ว ถึงจะทำความดีความชอบสักเท่าใดๆ ก็คงไม่พ้นความผิดเป็นแน่

อนึ่งอย่าให้ถือทิษฐิมานะในการซึ่งเห็นว่าเหลือกำลังกองตัวจะทำกองเดียว หรือจะทำไปได้กับเสียเท่ากัน จะต้องมีกำลังมากขึ้นอีกจึงจะเอาชัยชะนะได้ฝ่ายเดียว แต่ไม่ขอร้องให้ช่วยกัน เพราะจะชิงความชอบความดีจนเสียราชการไป ให้ละทิษฐิมานะอย่างนี้เสีย คิดมุ่งหมายเอาแต่ราชการที่จะสำเร็จไปได้โดยแน่นอนนั้นเป็นประมาณ

ข้อ 4 เมื่อกองทัพยกขึ้นไปถึงเมืองพิชัย, เมืองพิษณุโลก การที่จะส่งกองทัพขึ้นไปให้ถึงเมืองหนองคายและเมืองพิชัยนั้น ได้มอบให้พระยาศรีสหเทพเป็นผู้จัดส่ง แต่เวลาที่จะยกจากที่ใด ตำบลใด เวลาใดนั้น ต้องแล้วแต่แม่ทัพจะเห็นสมควร ไม่ต้องมีคำสั่งขึ้นไปจากกรุงเทพฯ จำเดิมแต่ยกขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ก็ต้องตั้งใจที่จะให้ขึ้นไปได้ถึงที่สนามรบ ทำการปราบปรามพวกฮ่อให้สำเร็จได้ก่อนเวลาฤดูฝน ซึ่งจะเป็นที่ลำบากแก่ไพร่พล และจะทำการไม่ถนัด ต้องถอยกองทัพกลับลงมาให้เสียเวลา เพราะฉะนั้นแม่ทัพต้องคิดผ่อนผันจัดการตามที่เห็นสมควรอย่างใด สุดแต่จะให้ได้ดังความหมายซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น

ข้อ 5 การสะเบียงอาหารนั้น ได้จัดส่งขึ้นไปแต่กรุงเทพฯ เท่าใด การที่จะขนลำเลียงขึ้นไปส่งอย่างใด แม่ทัพต้องตรวจตราคิดกะการให้ตลอดไป เข้าจะควรเกณฑ์เอาจากหัวเมืองใดเพิ่มเติมขึ้นอีกมากน้อยเท่าใดก็เกณฑ์ได้ทุกเมือง ตามอำนาจแม่ทัพ แต่เมืองน่านซึ่งเป็นเมืองประเทศราช อันเห็นว่าบางทีจะเป็นที่ขัดข้องอยู่บ้างนั้น ก็ได้ศุภอักษรให้จ่ายเข้าในฉาง และให้อนุญาตให้ราษฎรขายเข้าไปแต่ก่อนแล้ว และได้ข่าวว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือเข้าแพงยิ่งนัก กลัวเจ้าเมืองน่านจะไม่ปล่อยให้เข้าออกนั้น จึงได้มีท้องตรากำชับถึงพระยามนตรีสุริวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ข้าหลวงสำหรับห้าหัวเมืองให้เป็นธุระดูที่จะให้ได้เข้าส่งไปบ้าง

แต่จะเชื่อเอาว่าจะได้เป็นกำลังมากนั้นเห็นจะวางใจไม่ใคร่ได้ ให้แม่ทัพคิดกะสะเบียงอาหารและกำลังที่จะขนส่งขึ้นไป จนตลอดสมควรแล้วจึงยกขึ้นไปทำการ เมื่อการไม่เป็นไปได้ตลอด ก็คงจะพิจารณาได้ว่า จะเป็นเพราะเหตุที่จัดการไว้ไม่ทั่วถึง หรือจัดการไว้เรียบร้อยดีแล้ว แต่หากมีผู้ไม่กระทำตาม คำสั่งก็คงได้ตัวผู้ซึ่งผิดนั้นทำโทษได้ตามอาญาแม่ทัพ

เมื่อการที่จะกะเกณฑ์สะเบียงอาหารไป โดยอำนาจแม่ทัพไม่ตลอดเป็นการขัดข้องจริง หรือกองทัพจะต้องตั้งแรมปีสะเบียงอาหารข้างฝ่ายเมืองเหนือขัดสนจะไม่พอเลี้ยงไพร่พล จะต้องอาศัยสะเบียงอาหารที่ส่งขึ้นไปจากกรุงเทพฯ และหัวเมืองชั้นในก็ให้มีบอกขัดข้องและขอร้องลงมาโดยเร็ว จะได้จัดการขึ้นไปให้ตลอด

ข้อ 6 ไพร่พลจะเข้าไปในกองทัพไปต่อรบด้วยข้าศึกนั้น ถ้าเบาบางจะต้องรู้เรียกเพิ่มเติม ก็เรียกตามหัวเมืองทั้งปวงได้ตามอำนาจแม่ทัพ สุดแต่จะปรึกษาหารือกับข้าหลวง เห็นควรเกณฑ์เมืองใดเพิ่มเติมก็ให้เกณฑ์ได้

ข้อ 7 การที่ต่อรบด้วยพวกฮ่อนั้น ถ้าได้ท่วงที่จะมีชัยชะนะแล้วไม่เป็นการจำเป็นที่จะป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นภายหน้าแล้ว ก็อย่าให้ประหารชีวิตคนซึ่งมิได้ต่อสู้ให้เป็นการเสียหาย แก่บ้านเมืองและเป็นบาปว่าฆ่ามนุษย์ทั้งโขลงโดยไม่มีความกรุณา ถ้าจับได้เป็นมากเพียงใดก็ยิ่งเป็นการดี พวกฮ่อเองก็ดี หรือไพร่บ้านพลเมืองที่มีชื่อเป็นชาวต่างๆ คือข่าแจะและข่าเจืองไทยทู้เป็นต้น ที่เป็นคนใจโลเลเข้าเป็นกำลังพวกฮ่อ ซึ่งจะทิ้งไว้ในเขตต์แขวงเหล่านั้น จะก่อเกิดความชั่วขึ้นอีกต่อไป ควรจะผ่อนเอาเข้ามาไว้ในพระราชอาณาเขตต์ชั้นในเข้ามา ก็ให้คิดการผ่อนผันเอาเข้ามาไว้ในที่ซึ่งจะเป็นที่ไว้ใจได้ และคิดอ่านป้องกันความลำบากของพวกนั้น ซึ่งแต่ก่อนๆ มาเคยได้ความลำบาก ในเวลาต้อนครอบครัวอย่าให้เป็นความลำบากแก่คนพวกนั้นได้มากเพียงใดก็ขอให้คิดจัดการป้องกันจนสุดกำลังที่จะทำได้

ข้อ 8 ถ้าฮ่อต่อสู้กำลังกองทัพไม่ได้ แตกหนีออกไปนอกพระราชอาณาเขตต์แล้ว อย่าให้ยกติดตามออกไป ให้ปรึกษาด้วยพระยาราชวรานุกูล พระยาพิชัยข้าหลวงคิดจัดตั้งด่านทางป้องกันรักษาบ้านเมือง จัดการให้ราษฎรตั้งทำมาหากินเป็นภูมิลำเนาขึ้น ควรจะช่วยข้าหลวงจัดการฝึกหัดทหารและโปลิศ (พลตำรวจพระนครบาล) รักษาบ้านเมืองประการใดก็ให้คิดช่วย กันจัดการขึ้นกองทัพนั้นจะควรตั้งทัพอยู่แห่งใดก็แล้วแต่จะปรึกษาเห็นชอบพร้อมกัน

ข้อ 9 ถ้าพวกฮ่อจะยอมเข้าสามิภักดิ์โดยดี เป็นที่เชื่อได้ว่ามิใช่จะเป็นอุบายหลอกลวง พอให้ถึงฤดูฝนที่จะทำการต่อไปไม่ได้ก็ควรจะรับได้ แต่ซึ่งจะให้ฮ่อตั้งอยู่ในเขตต์แขวงเมืองพวนหรือเมืองหัวพันห้าทั้งหกอย่างก่อนนั้น ไม่แลเห็นว่าจะต้องอยู่เป็นไพร่บ้านพลเมืองปกติได้ เพราะเหตุว่าพวกฮ่อนี้ไม่เคยทำการงานเลี้ยงชีวิตเหมือนราษฎรทั้งปวง คงจะก่อการจลาจลให้ต้องไปปราบปรามอีกร่ำไป จะต้องผ่อนเข้ามาไว้ในหัวเมืองชั้นใน อย่าให้คุมกันเป็นกำลังใหญ่โตจึงจะเป็นที่วางใจได้

ถ้าการที่จะให้เข้ามาอยู่ในหัวเมืองชั้นใน จะเป็นเหตุให้พวกฮ่อกลับใจไม่ยอมสามิภักดิ์ ก็ต้องต่อสู้ขับไล่ให้ออกจากพระราชอาณาเขตต์ไป หรือทำลายให้แตกไปเสียจนเชื่อว่าจะคุมกันไม่ติด เว้นไว้แต่จะมีเหตุการณ์อันใดที่จะเชื่อถือได้แน่ว่าฮ่อจะไม่กลับมาหากินโดยเป็นโจรผู้ร้ายเช่นแต่ก่อนได้อีก เหมือนกับมีข้าหลวงตั้งอยู่บังคับบัญชาเห็นว่า กำลังอำนาจข้าหลวงพอจะกดพวกฮ่อนั้นไว้ได้ จึงจะยอมให้พวกฮ่อตั้งอยู่ในเมืองพวนได้

ข้อ 10 ข้อซึ่งประมาณการไปว่าจีนหรือฝรั่งเศสจะมาช่วยฮ่อ ซึ่งไม่แลเห็นว่าจะเป็นไปได้จริงนั้น จะเป็นขึ้นก็ต้องให้ไต่สวนดูให้แน่นอนก่อนจึงให้เชื่อ หาไม่จะถูกการล่อลวงให้เป็นการเสียกำลังลงเอง ถึงโดยว่าจีนหรือฝรั่งเศสจะช่วยฮ่อจริง ถ้ากำลังฝ่ายเราที่ยกขึ้นไปพอจะปราบปรามได้ ก็ให้ทำการให้เต็มมือ อย่าท้อใจว่าเป็นรบจีนหรือรบฝรั่งเศส เพราะเราทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายศัตรูในแผ่นดินสยาม ไม่เป็นเหตุที่ชาติใดจะมาว่าได้โดยทางธรรม

แต่ถ้าเห็นว่าเป็นการเหลือกำลังที่จะทำได้ เพราะมีชาติอื่นเข้าช่วยดังนั้น หรือกำลังฮ่อเองแข็งแรงเหลือกำลังที่จะปราบปรามได้ ก็ให้คิดการนัดหมายกันทั้ง 2 กอง คิดตั้งรักษาไว้เพียงที่จะรักษาได้ แล้วเรียกกำลังหัวเมืองทั้งปวงตามอำนาจแม่ทัพที่จะทำได้มาช่วยป้องกันรักษา หรือถ้าได้กำลังมากควรจะทำต่อไปได้ก็ให้ทำการต่อไป ถ้าขัดข้องที่ให้มีใบบอกหารือลงมายังกรุงเทพฯ อย่าเพ่อให้ถอยกองทัพลงมาเสียทีเดียว

ข้อ 11 เมื่อเวลาไล่ฮ่อไปถึงปลายเขตต์แดน ถ้าฝ่ายฝรั่งเศสจะมาว่าด้วยเขตต์แดนประการใด ควรให้โต้ตอบได้ว่าการเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ ได้ปรึกษากับทูตเชาเดยาแฟ ฝรั่งเศสแล้วว่าเขตต์แดนข้างไหนใครว่าเพียงใดก็ให้ทำแผนที่ไว้ จะได้ปรึกษากันแบ่งปันให้ตกลงโดยทางไมตรีที่กรุงเทพฯ ไม่ควรจะแย่งชิงกัน ข้างไหนว่าเพียงใดจะเป็นที่เถียงกันมากน้อยเท่าใด ก็คงจะตกลงกันได้ภายหลัง

ของใครว่าเพียงใดก็ให้รักษาไว้เพียงนั้นก่อน ที่ตำบลใดที่ขนายคาบเกี่ยวกัน คือฝ่ายเราว่าที่ของเรา แต่ฝ่ายฝรั่งเศสมารักษาอยู่ หรือฝ่ายฝรั่งเศสว่าที่ของฝรั่งเศส ฝ่ายเรารักษาอยู่ก็ให้ต่างคนต่างรักษาไว้โดยทางไมตรี เหมือนหนึ่งช่วยกันรักษาไปก่อนว่าจะตกลงแน่ว่าเพียงใด จึงถอนคนเข้ามาตามแดนที่ได้ตกลงกัน การข้อนี้เป็นแต่ว่าเผื่อไว้ แต่ไม่แลเห็นเลยว่าฝรั่งเศสจะขึ้นมาถึงเขตต์แดนเหล่านี้ ด้วยปราบปรามฮ่อในแผ่นดินตังเกี๋ย หรือตองกินยังไม่ราบคาบ และจะต้องไปจัดเขตต์แดนกับจีนอยู่ทางฝ่ายเหนือ ยังไม่แลเห็นว่าจะมาทำการกับไทยให้เป็นสองหน้าขึ้น

ข้อ 12 กองทัพที่ยกไปครั้งนี้ เป็นสองกองตามที่หมายว่าฮ่อจะแยกกันอยู่เป็นสองตำบล ก็ถ้ากองทัพฝ่ายหนึ่งปราบปรามฮ่อแล้วสำเร็จได้โดยเร็ว แต่ฝ่ายหนึ่งยังทำการไม่สําเร็จ เมื่อควรจะช่วยกันทำการซึ่งยังไม่สำเร็จนั้นก็ให้ช่วยกันทำให้สำเร็จ ถ้าหากว่าไม่ต้องช่วยเหลือกัน กองซึ่งว่างเปล่าอยู่นั้น ให้ตรวจตราภูมิฐานบ้านเมือง จัดการให้ราษฎรได้ตั้งทำมาหากินอยู่เย็นเป็นสุข ช่วยพนักงานแผนที่ให้ได้ทำแผนที่ตลอดไปในเขตต์แดน ซึ่งได้ปราบปรามเรียบร้อยแล้วตามเวลาที่จะทำได้

ถ้าปราบปรามศัตรูราบคาบแล้วพร้องกันทั้ง 2 กอง ก็ให้ช่วยข้าหลวงทั้งสองฝ่ายจัดการรักษาเขตต์แดนบ้านเมือง ให้เป็นการรู้ถึงกันเห็นชอบพร้อมกันตลอด อย่าให้เป็นฝ่ายหนึ่งจัดการอย่างหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจัดการอย่างหนึ่งได้

ข้อ 13 ถ้ากองทัพฝ่ายหนึ่งปราบปรามฮ่อ ในเขตต์แดนของตัวเสร็จแล้ว ฝ่ายหนึ่งปราบปรามไม่สำเร็จไปได้ ห้ามอย่าให้กองทัพซึ่งทำการสำเร็จแล้วนั้น ถอยกลับลงมาก่อนเป็นอันขาด ควรจะตั้งมั่นจัดการบ้านเมืองอยู่ตำบลใดก็ให้ตั้งมั่นอยู่ฟังข่าวคราวกองหนึ่ง ขอให้ไปช่วยหรือเห็นเป็นการจำเป็นสมควรที่จะไปช่วยก็ให้ยกไปช่วยโดยทันที ต่อเมื่อใดปราบปรามศัตรูสงบเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายปรึกษาพร้อมกัน เห็นควรว่าจะถอยกองทัพลงมาจึงให้ถอยพร้อมกัน ไม่ต้องมีใบบอกลงมากรุงเทพฯ ก่อนก็ได้

ข้อ 14 นายทัพนายกองที่ขึ้นไปครั้งนี้ ให้คิดกำหนดเป็นที่หนึ่งที่สองที่จะบังคับการไว้ให้ตลอด เมื่อมีอันตรายแก่ผู้ใดให้บังคับการแทนกันได้ให้ตลอด อย่าให้เป็นการยุ่งขึ้นได้ในเวลาที่มีเหตุดังนั้นได้

ข้อ 15 ข้าราชการสำหรับพื้นบ้านเมือง คือถ้อยความ และจะมีผู้มายื่นเรื่องราวประการใดไม่ต้องเป็นธุระเกี่ยวข้องแก่นายทัพนายกองทั้งปวง ให้มอบให้ข้าหลวงบังคับบัญชา เว้นไว้แต่การที่จะเกี่ยวเนื่องด้วยเป็นกำลังกองทัพอย่างหนึ่งอย่างใด จึงให้แม่ทัพนายกองเป็นธุระด้วย

ข้อ 16 กองทัพทั้ง 2 ที่ยกขึ้นไปนี้ ให้คิดจัดการเดิรหนังสือบอกที่จะถึงกรุงเทพฯ ได้โดยเร็ว โดยทางใดนั้นให้ตลอดทางขึ้นไป ให้วางการไว้ให้เป็นที่มั่นคง อย่าให้หนังสือบอกลงมาติดค้างอยู่แห่งหนึ่งแห่งใดได้ และอย่าให้ละเลยการที่จะมีใบบอกลงมาถึงกรุงเทพฯ ให้บอกลงมาทุกคราวเหตุการณ์ที่มีขึ้นไปหรือถ้าไม่มีเหตุการณ์อันใด ก็ให้มีใบบอกลงมา อย่างช้าที่สุดเพียง 15 วันครั้งหนึ่ง อย่าให้ขาดได้

ให้แม่ทัพนายกองซึ่งจะบังคับบัญชากองทัพใหญ่ หรือนายทัพนายกองที่จะแยกเป็นกองไปทางทิศหนึ่งทิศใด พิจารณาตริตรองพระบรมราโชวาทนี้ให้เข้าใจชัดเจนตามความหมายแห่งการกระแสพระราชดำริโดยละเอียดแล้วให้ประพฤติการผ่อนผันหันหาให้ถูกต้องตามพระบรมราโชวาท อย่าให้คาดเคลื่อนไปได้ทุกประการ

พระราชทานแต่วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา สัปตศก 1247

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏแผ่นดิน” ?!?


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2565