ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) (28 มีนาคม พ.ศ. 2394-1 กรกฎาคม พ.ศ. 2474) เข้ารับราชการครั้งแรกเป็น “มหาดเล็ก” สมัยรัชกาลที่ 4 และถวายตัวเป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ สมัยรัชกาลที่ 5 แต่แล้วทำไมถึงกลับถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏแผ่นดิน”?
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีความก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับ โดยได้รับตำแหน่งและยศต่างๆ ไล่เรียงคือ พ.ศ. 2435 เป็นผู้บัญชาการกรมทหาร, พ.ศ. 2435 เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ, พ.ศ. 2439 เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี, พ.ศ. 2441 รับพระราชทานยศนายพลโท แล้วออกจากราชการมารับบำนาญ, พ.ศ. 2454 รับพระราชทานยศ “มหาอำมาตย์เอก (นอกตำแหน่ง)” และ พ.ศ. 2468 รับพระราชทานยศจอมพล
แต่ครั้งที่ดำรงตำแหน่งเ “เจ้าหมื่นไวยวรนารถ” เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏแผ่นดิน” ซึ่ง “ประวัติการของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค 1” (คุณหญิงสงวน สุรศักดิ์มนตรี พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีฯ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ 8 เมษายน พุทธศักราช 2476) บันทึกไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
อนึ่ง เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถ คิดจัดการรับทหารสมัครขึ้นแรกๆ นั้น กับทั้งได้คิดจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและสอนยุทธวิธีขึ้นที่พระราชวังสราญรมย์ โดยเก็บเอาบุตรหลานนายทหารและขุนนางข้าราชการที่ยังเป็นเด็กเข้ามาเล่าเรียนนั้น ก็มีนายทหารอิตาเลียนเข้ามากรุงเทพฯ 2 คน คือนาย ยี.อี. เยรินี (พระสารสาสน์พลขันธ์) คนหนึ่ง กับนายโยเซฟ ฟารันโดผู้หนึ่ง ได้มาขอเข้าสมัครทำงาน เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ผู้บังคับการจึงได้รับเอานายสิบทหารอิตาเลียน 2 นายนี้ไว้ให้เป็นครูฝึกหัดนักเรียนและทหารตามแบบคอนติเนนแตลอย่างใหม่…
นาย ยี.อี. เยรินีได้ตั้งใจสั่งสอนนักเรียนตามความรู้ของตนที่ได้ร่ำเรียนมาทุกอย่าง ทั้งที่โรงเรียนนั้นมีเครื่องตัวอย่างต่างๆ และเครื่องไฟฟ้า, เครื่องป้อมค่าย, เครื่องระเบิดในทางบก ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้นำมาแต่ครั้งที่ได้ไปตรวจตราการทหารบกเรือของต่างประเทศ เพื่อประกอบในการสอนให้นักเรียนเห็นด้วยตา จะได้เรียนได้โดยง่ายและมีความชำนาญยิ่งขึ้นด้วย
นายเยรินีได้มาขออนุญาตต่อผู้บังคับการว่า “การที่จะสอนศิษย์ให้รู้จักวิธีใช้ดินไดนาไมต์นั้น ตัวเขาเคยทำดินไดนาไมต์ได้เองด้วย จะขอจัดการทำดินไดนาไมต์ขึ้น เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นแบบสั่งสอนนักเรียนคาเดททั้งปวงให้ทราบวิธีที่จะใช้” เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้นำความขึ้นกราบทูลขอพระบรมราชานุญาต เพื่อให้นายเยรินีทำดินไดนาไมต์ขึ้นสำหรับสอนนักเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายเยรินีทำได้ตามประสงค์ นายเยรินีจัดการทำดินไดนาไมต์อยู่หลายวัน แต่หาสำเร็จผลตามความประสงค์ได้ไม่
ครั้นกาลต่อมานายฟารันโดเพื่อนของนายเยรินีป่วย ขออนุญาตลาออกไปพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ นาย ยี.อี. เยรินีจึงขอลาออกไปส่งนายฟารันโดผู้สหาย ณ เมืองสิงคโปร์ และเมื่อเดินทางกลับเข้ามากรุงเทพฯ นั้น ได้นำเอาดินไดนาไมต์หนัก 50 ปอนด์เข้ามาจากเมืองสิงคโปร์ ครั้นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ กรมศุลกากรค้นพบดินไดนาไมต์นั้นเข้า จึงได้ยึดเอาไว้ และเจ้าพนักงานกรมศุลากรได้มาถามผู้บังคับการกรมทหารหน้าว่า “นายเยรินีเป็นทหารหน้าใช่ไหม?”
ผู้บังคับการจึงรับว่า “นายเยรินีเป็นนายร้อยเอกและเป็นครูอยู่ในกรมทหารหน้า”
เจ้าหน้าที่จึงซักถามต่อไปอีกว่า “การที่นายเยรินีนำเอาดินไดนาไมต์เข้ามานี้ ผู้บังคับการได้สั่งให้เอามาหรือ และทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตแล้วหรือยัง?”
ผู้บังคับการก็เล่าเรื่องราวตามความจริงทุกอย่างให้พนักงานผู้นั้นฟัง กับได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบความตามที่เป็นมาแล้ว เมื่อนายเยรินีรู้สึกตัวว่าตนได้กระทำความผิดขึ้น จึงทำหนังสือเล่าความตามข้อสัตย์จริงในใจยื่นต่อผู้บังคับการ ทั้งขอลาออกจากหน้าที่ครูผู้ฝึกหัดทหารด้วย
เมื่อลาออกแล้วก็เที่ยวระเหระหนไปทำเหมืองแร่ และกลับมาทำงานแต่งหนังสือพิมพ์เป็นผู้ช่วยของหมอสมิทนาย เยรินีเป็นผู้ที่มีความรู้ชำนาญในการอักษรศาสตร์ทั้งภาษาไทย และภาษามคธ กับทั้งรอบรู้กิจการและตำราต่างๆ ในการทหารด้วย จึงได้แต่งหนังสือใช้ภาษาและคำพูดซึ่งเหน็บแหนมก้าวร้าวโดยเฉียบแหลม
ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการได้ทอดพระเนตรหนังสือที่นายเยรินีแต่งนั้น จึงทรงหารือกับเจ้าหมื่นไวยวรนารถผู้บังคับการทหารหน้าว่า “นายเยรินีผู้นี้เป็นผู้มีความรู้ความรู้ฉลาดในศาสตร์ต่างๆ ทั้งรู้กิจการในกรมทหารหน้ามากด้วย ไม่สมควรที่จะปล่อยให้ไปแต่หนังสือพิมพ์เช่นนั้น ควรเรียกตัวให้กลับมาเป็นล่ามเสียเถิด” เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็มีความเห็นพ้องด้วย จึงได้เรียกตัวนายเยรินีกลับมาเป็นล่ามรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยต่อไป
เมื่อเกิดเหตุที่นายเยรินีได้นำดินไดนาไมต์เข้ามานั้น ความเรื่องนี้กลับกลายเป็นต้นเหตุสำคัญเกิดความใหญ่โตขึ้น เพราะพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม) ได้ทรงเป็นหัวหน้าหาเหตุขึ้น ด้วยทรงริษยาคิดจะทำลายเจ้าหมื่นไวยวรนารถเสียให้ถึงแก่ความพินาศล่มจม โดยทรงหาความว่า “การที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้สั่งดินไดนาไมต์เข้ามานั้นก็เพื่อจะคิดการเป็นกบฏต่อแผ่นดิน เดินแต้มอย่างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์แย่งราชสมบัติครั้งพระราชพงศาวดารกรุงเก่า”
ในระหว่างนั้นข้อความตามเสียงที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมทรงปั้นขึ้นนั้น ก็ทำให้เกิดความสงสัยกระเทือนใจและตื่นเต้นทั่วกัน ทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมยังได้ทรงรับสางต่อหน้าที่ประชุมขุนนาง และเฉพาะพระพักตร์ เจ้านายหลายพระองค์ว่า “อ้ายดินไดนาไมต์นี้ฤทธิ์มันร้ายกาจมากมายนัก การที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถสั่งเข้ามานี้ ก็เพราะจะคิดเป็นกบฏอย่างเจ้าพระยากะลาโหมสุริยวงศ์เท่านั้น”
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงได้ยินคำที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมรับสั่งดังนั้น จึงทรงห้ามและรับสั่งคัดค้านว่า “กรมประจักษ์พูดอะไรเช่นนั้น เวลานี้พระนายไวยก็เป็นผู้ถืออาวุธของแผ่นดินอยู่ จะเป็นที่หม่นหมองในชื่อเสียงของเขาไป และคนอย่างพระนายไวยน่ะหรือที่จะขึ้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม จึงมีรับสั่งตอบต่อไปว่า “ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ อย่าว่าแต่พระนายไวยจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเลย คนเลวยิ่งกว่าพระนายไวยก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ เพราะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมกรมพระราชวังบวร กับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนมาถวายบังคมพระบรมรูปพร้อมกันแล้ว เอาดินไดนาไมต์มาซ่อนไว้ใต้ปราสาท 5 ยอด ก็จะระเบิดขึ้นพากันตายหมด ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเขาก็จะขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินได้”
เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรและกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ กับกรมหมื่นภูธเรศวร์ธำรงศักดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมน้ำมิตรเมื่อครั้งถวายความสัตย์กับเจ้าหมื่นไวยวรนารถนั้น เมื่อได้ฟังถ้อยคำและเรื่องราวที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมรับสั่งดังนี้แล้ว จึงเรียกตัวเจ้าหมื่นไวยวรนารถมาประชุมหารือกันว่า “การที่กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเที่ยวพูดเล่นโดยไม่มีมูล หาเหตุให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้รับความหม่นหมองเช่นนี้นั้น สมควรที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถ จะทำเรื่องราวขึ้นกราบทูลให้แตกหักละเข็ดหลาบเสียบ้าง จะได้ไม่เป็นการหม่นหมองแก่ราชการที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้กระทำ”
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ จึงทูลตอบพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรว่า “ฝ่าบาทเป็นหมอความนี่ ฝ่าบาทควรจะแต่งเรื่องราวให้กระหม่อมด้วยซิ” พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ และกรมหมื่นภูธเรศร์ธำรงศักดิ์ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงพากันเกณฑ์ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเป็นผู้แต่งหนังสือเล่าเรื่องที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเที่ยวรับสั่งหาเหตุต่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถ
ครั้นทรงแต่งเรื่องราวนั้นเสร็จเจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงเซ็นนามลง แล้วนำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเรื่องราวนั้นตลอดแล้ว ก็ทรงกริ้วโกรธเป็นอันมาก จึงมีลายพระหัตถ์ตอบเรื่องราวของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นพระราชกระทู้มาว่า “การที่พระนายไวยพูดมานั้น ข้ามีความเชื่อเจ้าแล้ว เพราะรู้ว่าเจ้าเป็นคนพูดจริง ทั้งข้าก็ยังไม่เคยจับปดอะไรเจ้าได้ แต่ข้าก็อยากรู้ตัวว่าใครเป็นผู้มายุให้รำตำให้รั่ว เก็บความมาบอกให้เจ้าทราบ ขอให้เจ้าชี้ตัวคนมาบอกให้ข้าทราบด้วย”
ครั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้รับลายพระราชหัตถเลขาเช่นนี้แล้ว ก็นำลายพระราชหัตถนั้นมาถวายให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 ทอดพระเนตร แล้วเจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ทูลขึ้นว่า “เราเห็นแดงแทงอ๋อเช่นนี้แล้วยังกลับเป็นผิดไป อย่าเช่นนั้นเลยเกล้ากระหม่อมจะรับผิดเสียแต่ผู้เดียวเอง” พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 ก็มิทรงยินยอม ต่างพระองค์ต่างเขียนลายพระหัตถ์รับสารภาพโทษ และทรงเล่าเรื่องที่ได้ยินพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมรับสั่งอย่างนั้นเมื่อวันที่เท่านั้นๆ ทั้งเจ้าหมื่นไวยวรนารถก็เขียนเรื่องราวเล่าเรื่องขึ้นอีกฉะบับหนึ่ง นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมกันทั้ง 4 ฉะบับด้วย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องราวแล้ว ก็ทรงกริ้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเป็นอันมาก ว่าเป็นผู้ยุแหย่ให้แตกร้าวกันขึ้น
ครั้นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำเมืองนครเชียงใหม่ (ภาคพายัพ) จะกลับเข้ามารับราชการในหน้าที่สมุหกลาโหม เมื่อมีช่องทางดังนี้แล้ว จึงช่วยกราบบังคมทูลพระกรุณาแนะนำ ขอให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ออกไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ แทนเจ้าพระยารัตนธิเบศร์สืบไป
อ่านเพิ่มเติม :
- บันทึกวงในเล่าหลังม่าน “กรมทหารหน้า” มียัดเงินเพื่อเป็นนายทหาร-พลทหารเสมือนทาสนายทหาร
- ย้อนดูที่มาชื่อ “เจิม” ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2565