บันทึกวงในเล่าหลังม่าน “กรมทหารหน้า” มียัดเงินเพื่อเป็นนายทหาร-พลทหารเสมือนทาสนายทหาร

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ภาพจากหนังสือ ประวัติการของจอมพล และมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เข้ามาจัดราชการใน กรมทหารหน้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตน์ราชมานิต (โต) (เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต) จางวางมหาดเล็ก กับเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี-เจิม แสง ชูโต) ช่วยกันจัดราชการทหารหน้า

ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตน์ราชมานิต เป็นผู้บังคับการที่ 1 ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นผู้บังคับการที่ 2 เนื่องจากทั้งคู่มีนิสัยใจคอต่างกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทั้งคู่ถวายสัตย์ปฏิญญาต่อหน้าพระที่นั่งว่า “จะไม่ก่อการวิวาทบาดหมางซึ่งกันและกัน”

เหตุการณ์เมื่อครั้งจัดราชการทหารหน้านี้ ถูกบอกเล่าในหนังสือ “ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)” ซึ่งเป็นหนังสือที่เรียบเรียงขึ้นจากหลักฐาน หนังสือราชการ และความทรงจำของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ไปจนถึงคัดลอกเนื้อหาจากสมุดพก ไดอารี (บันทึกความจำ) ส่วนตัวของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

เมื่อทั้งคู่ถวายสัตย์แล้ว เนื้อหาในบันทึกเล่าต่อมาว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกต่อการอ่านในระบบออนไลน์-บก.ออนไลน์)

“ครั้น ณ วันอังคารขึ้นสองคำเดือนแปดปีมะโรงโทศกจุลศักราช 1242 พ.ศ. 2423 พระยานรรัตน์ราชมานิตผู้บังคับการที่ 1 กับเจ้าหมื่นไวยวรนารถผู้บังคับการที่ 2 ปรึกษาข้อราชการกันแล้ว จึงสั่งให้ประชุมพวกนายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยให้พร้อมกัน ฯ ออฟฟิศโรงโขนเก่า ผู้บังคับการทั้ง 2 จึงพูดจาปราศรัยให้พวกนายทหารเหล่านั้นทราบเรื่องพร้อมกันว่า

‘ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ออกมาช่วยกันจัดราชการ ณ กรมทหารหน้า ถ้าแม้มีราชการสิ่งไรในกรมนี้ ซึ่งข้าพเจ้ายังมิได้รู้เห็นในข้อความแต่ต้นเดิมมาก็ดี เป็นการจำเป็นที่ข้าพเจ้าจะต้องฟอกถามซักไซ้ให้รู้เห็นเหตุผลต้นปลายเสียให้แจ่มแจ้งก่อน’ นายทหารผู้น้อยก็รับคำว่า ‘จะปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับการทั้งสองทุกประการ’

ผู้บังคับการที่ 1 และผู้บังคับการที่ 2 จึงมีคำสั่งให้เสมียนของผู้บังคับการทั้งสองคนกำกับตรวจตราเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และเครื่องครุภัณฑ์กับเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวทหารทั้งปวงที่เป็นของหลวงซึ่งมีอยู่ในกรมทหารหน้านั้นว่ายังคงมีเหลืออยู่มากน้อยเท่าไหร่ ให้ทำบัญชีไว้ให้มั่นคง เครื่องยุทธภัณฑ์และเครื่องครุภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในกรมทหารหน้าเวลานั้น มีแจ้งอยู่ในบัญชีที่ได้สำรวจไว้แล้วทั้งสิ้น

ครั้นเลิกการประชุมแล้ว ผู้บังคับการที่ 2 จึงปรึกษากับผู้บังคับการที่ 1 ว่า นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยในกรมทหารหน้านี้ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นให้มียศถาบรรดาศักดิ์ตามคุณวุฒิวิชชาความรู้และคุณความดีความชอบในทางราชการก็มี ผู้ที่เดิรเหิรเสียเงินทองต่อเจ้าขุนมูลนายจนได้เข้ามาเป็นนายทหารก็มาก คนจำพวกนี้ปรารถนาจะหาผลประโยชน์ในอุบายฉ้อโกงเบียดบังต่อไปเท่านั้น เพื่อที่จะให้ได้คุ้มทุนที่เสียไปและคิดค้ากำไร หาคิดถึงความดีความชอบทางราชการไม่ คิดแต่จะหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น จึงกระทำให้ราชการเสื่อมทรามไป พวกพลทหารก็ได้รับความเดือดร้อน

นายทหารสองพวกนี้มีปะปนกันอยู่หารู้ว่าใครจะดีและชั่วไม่ เราควรจะเลือกคัดถอนคนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อราชการให้พักเป็นกองหนุนเสีย คนที่ดีมีประโยชน์ต่อราชการแล้วก็ต้องช่วยอุดหนุนบำรุงขึ้นไว้ใช้ในราชการต่อไป การจึงจะดำเนิรเรียบร้อยตลอดไปได้

ผู้บังคับการที่ 1 ก็เห็นชอบด้วยจะจัดการตามความเห็นของผู้บังคับการที่ 2 นั้น…”

หลังจากนั้น กระบวนการไต่สวนจึงดำเนินต่อไป มีเรียกตัวนายทหารที่ถูกป้องมาชำระไต่สวน อาทิ กรณี “นายกัมปนีฉ้อตัวเลขและเงินหลวงไว้หลายราย” ส่วนพวกนายทหารที่กระทำผิดก็กลัวพระราชอาญาต่างยอมสารภาพโทษ และคืนเงินที่ฉ้อโกงไว้ทุกราย รวมพวกนายทหารที่ฉ้อเลขบังหลวง 6 คน ชำระได้เงินคืนมาเข้าหลวงอีก 193 ชั่ง 17 บาท เงินที่ชำระคืน จากบันทึกระบุว่า มีพระบรามราชานุญาตให้ผู้บังคับการทั้ง 2 รับไว้จ่ายราชการในกรมทหารหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจตราจำนวนพลทหารที่มีอยู่ โดยกรมทหารหน้ามีกรมขึ้นอยู่หลายกรม คือ กรมทหารม้าเกราะทอง กรมทหารฝีพาย กรมทหารล้อมวัง กรมทหารรักษาพระองค์ กรมทองปรายปลายหอก กรมเกณฑ์หัดอย่างยุโรป กรมทหารมหาดไทย และมีเลขเจ้าตายนายตายสมทบเข้าอีกกอง

ใจความในบันทึกต่อมามีว่า

“กรมทหารเหล่านี้อยู่ในความบังคับบัญชาของกรมทหารหน้าทั้งสิ้น ทหารหน้านี้มีเวรเข้ารับราชการมีหน้าที่สําหรับรักษาพระนคร และแห่นำตามเสด็จ จุกช่องล้อมวง และไปด้วยกับข้าหลวงออกไปประจําอยู่ตามหัวเมืองประเทศราช เมืองละสองโหลสามโหลจนถึงสี่โหลบ้าง ถ้ามีการเกณฑ์กองทัพเช่นครั้งเจ้าพระยาภูธราภัยหรือเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง เป็นต้น ก็ได้จัดกองทหารหน้าให้ไปตั้งกองทัพ เป็นกองพันบ้าง กองร้อยบ้าง

หน้าที่ของกรมทหารหน้ามีอยู่เช่นนี้ ตามยอดบัญชีที่ได้สํารวจดูแล้วนั้น ตั้งแต่ครั้งตั้งกรมทหารหน้ามาหลายแผ่นดินแล้ว มีจํานวนพลทหารตามยอดบัญชีเกือบ 30,000 คน จําหน่ายตาย, หนี, พิการ ตั้งแต่ต้นมาแล้วยังคงเหลือพลทหารอยู่น้อยนักหนา เพราะบุตรหมู่ที่เกิดใหม่ไม่ทันแก่ราชการ เดิมเมื่อพระยามหามนตรี (อ่ำ) เป็นผู้บังคับการทหารหน้าอยู่นั้น แม้นมีใครมีเงินเสียแล้วก็เป็นนายทหารได้ เรียกเอาตามยศดังนี้ นายร้อยเอก 800 บาท นายร้อยโท 600 บาท นายร้อยตรี 400 บาท และนายทหารเหล่านั้นก็ช่วยทาสมาให้เป็นพลทหารอีกต่อหนึ่ง จํานวนพลทหารที่ได้รับราชการอยู่ในเวลานั้นมีประมาณ 300 คนเศษ พลทหารพวกนี้เป็นทาสของนายทหารทั้งสิ้น

เครื่องแบบที่แต่งตัวทั้งเสื้อและกางเกงเป็นสักหลาดสํารับหนึ่งจ่ายใช้ได้หนึ่งปี เงินเดือนได้รับเดือนละ 10 บาท จ่ายเข้าจ่ายฟืนหลวง ให้ค่ากับเข้าอีกคนละ 4 อัฐ นายทหารที่เป็นเจ้าเงินหักไว้เป็นส่วนตัว คงเหลือได้รับคนละ 2 บาทบ้าง 4 บาทบ้าง ครั้นผู้บังคับการที่ 2 ได้สํารวจเห็นการตลอดแล้ว จึงหาเงินมาช่วยถ่ายตัวพลทหารที่เป็นทาสออกเป็นไทย ส่วนนายทหารที่เป็นเจ้าเงินนั้นมีความละอาย ก็ยอมยกสารกรมธรรม์ให้โดยไม่คิดเอาค่าตัวก็มีมาก ตั้งแต่นั้นต่อมาพลทหารหน้าทั้งปวง ก็มีความเป็นไทยแก่ตัว ไม่ต้องเป็นทาสดังแต่ก่อนมา

ส่วนพวกนายทหารนั้น บางคนซึ่งยกขึ้นเป็นนายทหาร โดยที่ไม่รู้จักระเบียบการของทหารอย่างหนึ่งอย่างใดเลยก็มี ผู้บังคับการที่ 2 จึงบังคับให้พวกนายทหารทำประวัติคุณวุฒิความดีความชอบมายื่น แล้วก็เลือกคัดเอาแต่คนดีมีความรู้ ๆ จักระเบียบการทหารเข้ารับราชการประจำกอง ส่วนผู้ที่ไม่สมควรจะเป็นนายทหารนั้น ก็คัดออกให้เป็นกองหนุนเสีย…”

คลิกอ่านเพิ่ม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต). รวบรวมครั้งสุดท้ายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2504.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2563