ช้างสารปะทะกัน คดีความระหว่าง 2 เสนาบดีใหญ่ เจ้าพระยามหินทรฯ-พระยาสุรศักดิ์ฯ

ซ้าย-พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ขวา-เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

เรื่องราวของบทความนี้เก็บความมาจากหนังสือ รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ร.ศ 111 ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกการประชุมเสนาบดีสภาทั้ง 16 กรม ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการปกครองประเทศไทย ซึ่งเดิมมีเสนาบดี 6 กรม อันได้แก่ กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมเมือง กรมท่า กรมวัง และ กรมนา โปรดให้ตั้งกรมใหม่อีก 6 กรม อันได้แก่ กรมพระคลัง กรมยุทธนาธิการ กรมยุติธรรม กรมธรรมการ กรมโยธาธิการ และกรมมุรธาธิการ เสนาบดีสภานี้นอกจาก 12 ท่านแล้วก็ยังมีพระบรมวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ด้วย ทรงกำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 1 วันที่ห้องมุขกระสัน พระที่นั่งวิมานรัฐยา

หลังจากที่มีการประชุมเสนาบดีสภาแล้ว ก็ต้องถวายรายงานประชุมแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงทราบ และเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยทุกครั้งไป ดังจะเห็นได้จากเอกสารบันทึกรายงานการประชุม มีตัวเกษียนซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาแทรกอยู่เป็นตอน ๆ ไป เอกสารชิ้นนี้มีคุณค่าสูง เป็นเอกสารขั้นปฐมภูมิที่จะเข้าถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน ในปีพุทธศักราช 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เอกสารรายงานการประชุมเสนาบดี ร.ศ 111 ขึ้นเผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงทวีสันต์  ลดาวัลย์ เป็นครั้งแรก นับเป็นพระมหากรุณาเป็นล้นพ้น

Advertisement

เรื่องราวในบทความนี้เก็บความและเรียบเรียงมาจากการประชุมเสนาบดี ซึ่งบรรจุกระทู้เรื่องนี้ไว้หลายครั้ง ดังนี้

วันที่ 30 กันยายน ร.ศ 111 (พ.ศ. 2436), วันที่ 2 ตุลาคม ร.ศ 111, วันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ 111, วันที่ 21 ตุลาคม ร.ศ 111, วันที่ 25 ตุลาคม ร.ศ 111, วันที่ 26 ตุลาคม ร.ศ 111, วันที่ 27 ตุลาคม ร.ศ 111

เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง [1] (เพ็ง  เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ มีหนังสือกราบบังคมทูลเมื่อวันที่ 14 กันยายน ร.ศ 111 ว่าถูกผู้มีบรรดาศักดิ์ (ในครั้งแรกไม่ระบุนามว่าเป็นผู้ใด แต่ในท้ายคำพ้องก็ระบุว่า คือ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) ข่มเหงน้ำใจ ดังความต่อไปนี้

1. ผู้มีบรรดาศักดิ์กล่าวคำขึ้นเปนข่าวล่อลวงว่าจะช่วยลครของเจ้าพระยามหินธร์ ปล่อยแลลักจดชื่อภรรยาแลลครไปทั้งโรง

2. โดยท่านแกล้ง [2] แต่งชายให้มาสื่อมาเกลี้ยกล่อมลครแลภรรยาเจ้าพระยามหินธร์ แลเจ้าหมื่นสรรพเพธ [3] โดยการที่จะลอบทำชู้จนถึงเขียนหนังสือให้มาหลายฉบับ

3. ท่านผู้หญิงไลปลอมตัวเปนไพร่เข้ามาในประตูตึกชั้นใน แลเอาสิ่งของต่าง ๆ มาล่อหญิงภรรยาเจ้าพระยามหินทร์ให้ลุ่มหลง แลได้เขียนหนังสือมาเกลี้ยกล่อมหลายฉบับ

ที่ 4 เจ้าพระยามหินธร์ชำระอีสุ่นทาษของเจ้าพระยามหินธร์ที่เปนสื่อ อีสุ่นรับว่าเปนผู้ถือหนังสือของหลวงฤทธิจักร [4]  แลหนังสือนายร้อยตรีนายสุกมาให้ภรรยาเจ้าพระยามหินธร์แลภรรยาเจ้าหมื่นสรรพเพธหลายฉบับ จึงให้โบยอีสุ่นด้วยไม้หวาย 50 ทีแล้วจำตรวนไว้ ครั้นรุ่งขึ้นพระยาสุรศักดิใช้ให้นายทหารมาวางค่าตัวอีสุ่น แต่มิได้มาบอกแก่เจ้าพระยามหินธร์ฤๅผู้ใหญ่ในบ้านให้ทราบ เปนแต่มาพูดเปรย ๆ แล้วก็กลับไป บัดนี้ แกล้งเอาเงินไปวางศาลสถิตยยุติธรรมก่อนบอกวางเงินตามธรรมเนียม

ที่ 5 พระยาสุรศักดิใช้ให้นายร้อยตรีนายน้อยมาห้ามเจ้าหมื่นสรรพเพธว่าเสงี่ยมได้ทิ้งไปรษณีย์ไปฟ้องแล้ว อย่าให้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เลย เจ้าหมื่นสรรพเพธตอบว่าธุระของบิดาต้องเปนธุระ

บัดนี้ภรรยาแลลครของเจ้าพระยามหินธร์แตกตื่นรส่ำรสาย คิดเอาใจออกหากหมดทั้งบ้าน ด้วยกลอุบายของพระยาสุรศักดิ์แลท่านผู้หญิงไล เจ้าหมื่นสรรพเพธคิดจะเชิญเสด็จกรมหมื่นนเรศรให้ทรงเปนพยานว่าเจ้าพระยามหินธร์ไม่ได้ห้ามหวง ก็ยังหาทันจัดการตลอดไปไม่

บรรยากาศการแสดงของคณะลคร “ปรินซ์เทียเตอร์” ของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง

ซึ่งพระยาสุรศักดิ์ทำแต่ฉเพาะหญิงลครของเจ้าพระยามหินธร์ดังนี้ ด้วยความแกล้งคุมเหงแท้ๆ ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง

ภูมิหลังของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อไป ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นที่ต้องย้อนดูภูมิหลังของคู่กรณี คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) และ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ดังต่อไปนี้

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2364 เป็นบุตรขุนจินดาพิจิตร ซึ่งเป็นพนักงานรักษาพระคัมภีร์หลวงที่ว่าด้วยพระพุทธศาสนา ท่านบิดาได้นำตัวบุตรชายขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ 12 ปี เป็นที่โปรดปราน ทรงชุบเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ทรงยกย่องว่าเป็นพระราชบุตรเลี้ยงของพระองค์ ต่อมาได้เป็นเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ในปี พ.ศ. 2400 และได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงบริตาเนีย (คือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย) ณ กรุงลอนดอน ในฐานะอุปทูต (ในการเดินทางครั้งนี้ หม่อมราโชทัยร่วมเดินทางไปด้วยในฐานะเป็นล่าม)

เมื่อกลับจากลอนดอน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณตั้งให้เป็น พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า โปรดให้สถาปนาเป็น เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง มีตำแหน่งเป็นเคาน์ซิลออฟสเต็ต เป็นประธานนาย 1 ในที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และที่ปรีวีเคาน์ซิลที่ปรึกษาราชการสำหรับพระองค์

บุตรธิดาที่สำคัญของท่าน คือ พระอภัยพลรบ (พลอย  เพ็ญกุล) เจ้าจอมมารดามรกต (ในรัชกาลที่ 5) ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารี และกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์) เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง  เพ็ญกุล) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 มกราคม ปีมะเมีย พ.ศ. 2437 ท่านเป็นต้นสกุล เพ็ญกุล

กิจกรรมพิเศษของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหรสพประเภทละครและการฟ้อนรำได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ละครพูดและละครร้องซึ่งเป็นละครในรูปแบบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก เจ้าพระยามหินทร์ฯ มีคณะละครของท่านเอง ซึ่งมีชื่อว่า “ปรินซ์เทียเตอร์”

ถึงแม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนละครกรมพระนรา (ธิปประพันธ์พงศ์) หรือละครดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน์ ก็ตาม แต่ก็ได้รับความนิยมไม่น้อยในเรื่องเครื่องแต่งกายงดงามและสมจริง และที่เป็นพิเศษก็คือตัวละครเป็นชายจริงหญิงแท้ คณะละครของท่านเจ้าพระยาเป็นคณะใหญ่มีจำนวนผู้แสดงถึง 170 เศษ [5] และที่ได้เปรียบก็คือมีผู้แต่งบทละครให้แก่คณะละครแสดงอยู่เป็นนิจ ซึ่งก็คือ ขุนจบพลรักษ์ ซึ่งต่อมาก็คือ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี ผู้แต่งนิราศหนองคายที่เลื่องลือ เมื่อปี พ.ศ. 2421

ภูมิหลังของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) เป็นบุตรของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2394 ในต้นสมัยของรัชกาลที่ 5 เป็นหลวงศัลยุทธวิธีกรรในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเป็น จมื่นสราภัยสฤษดิการ แล้วเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ในปีพุทธศักราช 2430 เป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก และตำแหน่งสุดท้ายที่ได้รับก็คือ เจ้าพระยาในปีพุทธศักราช 2439

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง ที่ควรกล่าวถึงก็คือได้เป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบพวกฮ่อปลายพระราชอาณาเขตถึง 2 คราว ในสำเนาประกาศเลื่อนยศของท่านมีข้อความพรรณนาถึงเกียรติคุณของท่านไว้ดังนี้ “ก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยสมควรแก่หน้าที่ มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงตรง ยั่งยืนอยู่ในความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยิ่งนัก สมควรที่จะดำรงในตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ใหญ่”

ต.ว.ส  วัณณาโภ หรือ เทียนวรรณ นักคิด ปราชญ์สยามผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 4-5 ได้กล่าวถึงเกียรติคุณของพระยาสุรศักดิ์ฯ ซึ่งในตอนนั้นได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาแล้ว ไว้ดังนี้

แม้ว่าที่สุดจะนิ่ง ๆ อยู่ในที่ใด ๆ, ไม่ประกอบการออกหน้าออกชื่อ ก็ยังจะมีกลิ่นของความดีในตนเล่าลือฟุ้งคะจรไปในทิศทั้ง 10 ถ้ายิ่งประกอบไปด้วยความเพียรพยายามในที่ชอบ มีเล่าเรียนวิทยา หรือค้าขาย หรือรับจ้าง … หรือเปนเสนาบดีที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน, ก็ยิ่งจะมีชื่อเสียงปรากฏในราชพงษาวดารอยู่ชั่วฟ้าแลดิน ดุจท่านเจ้าพระยาสุริศักดิ์มนตรี (เจิม) ที่เปนคนสุจริตซื่อตรงต่อแผ่นดิน มิได้คิดเบียดเบียฬราษฎร แลฉ้อบังพระราชทรัพย์ของหลวง, ประกอปไปด้วยความเพียรพยายามในทางราชการยั่งยืนมาตั้งแต่เปนผู้น้อยจนเปนผู้ใหญ่, ไม่มีชื่อเสียงในทางทุจริต

แม้ว่าท่านผู้อื่นก็มีความเพียรเหมือนกัน แต่ความสุจริตซื่อตรงไม่ปรากฏเหมือนท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) เพราะฉะนั้นชื่อเสียงจึงไม่โด่งดัง

เมื่อมีโจทท์เกิดขึ้น ฝ่ายจำเลยคือพระยาสุรศักดิ์มนตรี (ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 42 ปี ส่วนเจ้าพระยามหินทร์มีอายุ 72 ปี) ก็ทำหนังสือชี้แจงว่า พฤติกรรมของเจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม โหดร้าย โดยเริ่มตั้งแต่ใช้อุบายหลอกเด็กมาเป็นทาสและหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพื่อมาฝึกหัดเปนตัวละครในสังกัด

หากทราบว่าบุตรหลานของผู้ใดมีหน้าตางดงามก็จะเกลี้ยกล่อมด้วยอุบาย บางครั้งถึงกับขโมยตัว หากจะมีการถ่ายถอนตัว ก็ต้องคิดค่าฝึกให้เปนละครถึง 1 ชั่ง 40 บาท ตัวละครซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากถึง 170 คน มีความเป็นอยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน ถูกกักขัง เมื่อมีการเจ็บป่วยก็ห้ามไม่ให้มีการเยี่ยมเยียนหรือรักษาพยาบาล การกินอยู่ก็ลำบาก จ่ายให้แต่เฉพาะข้าวแดง ส่วนกับนั้นต้องหาเอง และหากจะซื้อก็บังคับให้ซื้อแต่ของในบ้านซึ่งมีราคาสูงกว่าตลาดข้างนอกหลายเท่า

และที่สำคัญตัวละครที่ตกเป็นอนุภรรยาของเจ้าพระยามหินทร์ฯ เมื่อมีครรภ์ก็ไม่ละเว้นถูกบังคับให้แสดง และแต่งกายใช้เครื่องประดับที่รัดร่างจนเป็นเหตุให้ครรภ์ตก เป็นการฆ่ามนุษย์ซึ่งพระยาสุรศักดิ์ถือว่าเป็นการกระทำทารุณกรรมอย่างยิ่ง และเพื่อมนุษยธรรมพระยาสุรศักดิ์จึงคิดที่จะช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น โดยชักชวนให้ได้รับอิสรภาพและเต็มใจที่จะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทั้งนี้มี “อีสุ่น” เป็นผู้ชักชวน

แต่การก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พระยาสุรศักดิ์คาดไว้ “อีสุ่น” ถูกเจ้าพระยามหินทร์สั่งให้โบยด้วยไม้หวาย 50 ทีอย่างรุนแรง จนเสนาบดีบางองค์เช่น กรมหลวงเทววงษ์รับสั่งว่า เพราะคิดไปว่าถ้าในบ้านเมืองใด ปล่อยให้คนทำอาญาสาหัสเช่นนี้แล้ว รู้ไปถึงไหนก็เสีย ถ้าฝรั่งทราบจะติเตียนใหญ่ แลในเมืองยุโรปมีเช่นนี้เจ้าพระยามหินธร์คงจะติดคุกเปนแน่ อีสุ่น นำความไปแจ้งแก่พระยาสุรศักดิ์ฯ จึงให้นายทหารมาวางเงินค่าตัว “อีสุ่น” โดยไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพระยามหินทร์ในฐานะเป็นเจ้าของทาสแต่ประการใด

และสิ่งหนึ่งที่พระยาสุรศักดิ์ในฐานะจำเลย มิได้กล่าวพาดพิงถึงเลย คือเรื่องแทะโลมอนุภรรยาของเจ้าพระยามหินทร์ฯ และของบุตรชาย

คดีความ

คดีความนี้ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของเสนาบดีสภาหลายครั้ง ได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะคู่กรณีเป็นบุคคลสำคัญทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าพระยามหินทร์ฯ ในขณะนั้นมีอายุถึง 72 ปีแล้ว (ต่อมาอีก 2 ปีท่านก็ถึงแก่อสัญกรรม) ที่ประชุมเห็นสมควรให้กรรมการแต่ละท่านทำข้อเสนอความคิดของตนมายื่นต่อสภา เริ่มต้นด้วยพระดำริและดำริของกรรมการดังต่อไปนี้

กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ [พระอิสริยยศในเวลานั้น] ทรงเห็นว่า พระยาสุรศักดิ์มีเจตนาดีแต่การกระทำไม่เหมาะสม เพราะไปชักชวนตัวละครให้กระด้างกระเดื่อง ที่ถูกควรปิดประกาศให้ตัวละครหรือบิดามารดา ญาติพี่น้องให้ทราบโดยเปิดเผย จึงเป็นการกระทำที่สุจริต

สมเด็จกรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงเห็นว่า พระยาสุรศักดิ์และภรรยาคือท่านผู้หญิงไล [6] จะให้ความช่วยเหลือแก่ตัวละคร ควรที่จะนำเงินวางค่าตัวของละครไปที่ศาลตามกบิลเมือง อนึ่งการเฆี่ยนตีตัวละครอย่างทารุณ ขอให้เจ้าทุกข์นำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลโดยตรง

พระองค์สวัสดิโสภณ การที่เจ้าพระยามหินทร์ฯ สั่งให้เฆี่ยน “อีสุ่น” จนบาดเจ็บสาหัสนั้นเป็นเรื่องไม่สมควรยิ่ง “เพราะคิดไปว่าถ้าในบ้านเมืองใดปล่อยให้คนทำอาญาสาหัสเช่นนี้แล้ว รู้ถึงไหนก็เสีย ถ้าฝรั่งทราบจะติเตียนใหญ่ แลในเมืองยุโรปมีเช่นนี้ เจ้าพระยามหินทร์คงจะติดคุกเป็นแน่”

ในส่วนท่านผู้หญิงไลภรรยาพระยาสุรศักดิ์ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ โดยปลอมตัวเข้าไปถึงประตูชั้นในของบ้านเจ้าพระยามหินทร์ฯ เพื่อไปพบกับอนุภรรยาของเจ้าพระยามหินทร์ และมีการชักชวนให้ออกจากการดูแลของเจ้าพระยาฯ เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่สามีคือพระยาสุรศักดิ์ควรรับผิดชอบ ส่วนพระยาสุรศักดิ์นั้น “เมื่อรู้ความชั่วความผิดของเจ้าพระยามหินธรต่อพระราชกำหนดกฎหมายข้อใดกระทงใด ก็ให้ฟ้องขึ้นเป็นคดีหนึ่งต่างหากจากการเรื่องนี้ แลฝ่ายเจ้าพระยามหินธรนั้นก็เหมือนกัน เมื่อมีผู้แพะโลม [แทะโลม-ในปัจจุบัน] ลอบลักกระทำผิดทางประเพณี ผิดด้วยบทกฎหมายข้อใด ๆ ก็ให้ฟ้องร้องเปนข้อเปนกระทง ไม่ควรจะมาร้องกราบบังคมทูลขออารักขา”

กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ การกระทำของพระยาสุรศักดิ์ไม่เหมาะสมเพราะไปยั่วยุตัวละคร หากคิดจะช่วยจริง ควรปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา

พระองค์เจ้าไชยันต์ พระยาสุรศักดิ์กระทำตนไม่เหมาะสม

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ความคิดของพระยาสุรศักดิ์ดี  แต่การกระทำไม่ดี ในส่วนของเจ้าพระยามหินทร์นั้นเชื่อว่ากระทำจริง และกระทำมานานแล้วจนไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด ดังนั้น “น่าจะต้องคิดแก้ไขบ้าง เพราะฉนั้นควรที่จะว่ากล่าวให้เจ้าพระยามหินทร์รู้ศึกตัวไว้บ้าง อย่าให้กดขี่คนเหลือเกินจนเปนเหตุให้มีช่องอันตรายแก่ของรักของตนดังที่เกิดขึ้นครั้งนี้”

พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) การชำระค่าตัวทาสผู้ทุกข์ยากหากนายเงินไม่รับ ก็ควรวางต่อโรงศาล

กรมขุนนริศราวัดติวงศ์ พระยาสุรศักดิ์ฯ มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ที่จะช่วยเหลือพวกละคร เพราะมีหนังสือไปชักชวนและมีเรื่องชู้สาว หากกระทำโดยสุจริตควรนำเงินไปช่วยเหลือ ส่วนความผิดของเจ้าพระยามหินทร์ควรไปฟ้องร้องอีกคดีหนึ่ง

กรมหลวงเทวะวงษวโรปการ เจ้าพระยามหินทร์มีหนังสือกราบบังคมทูลขอให้พระยาสุรศักดิ์อย่าได้ทำความเดือดร้อนให้แก่ตน ส่วนข้อกล่าวหาของพระยาสุรศักดิ์เป็นอีกกรณีหนึ่ง

สรุปความเห็นของที่ประชุมสภาเสนาบดีเมื่อวันที่ 30 กันยายน ร.ศ 111 มีดังนี้

พระยาสุรศักดิ์ผิด มีผู้ออกเสียง 11, ควรติเตียน 1, ควรภาคทัณฑ์ 2, ควรห้ามปราม 5, การฆ่าเด็กในครรภ์ควรชำระ 3, ไม่ควรชำระ 4, ผู้ที่ต้องการจะฟ้องให้แยกฟ้องต่างหาก 3, การไถ่ค่าตัวทาสให้ได้ไถ่ได้ 4, การกักขังเฆี่ยนตีควรเป็นหน้าที่ของญาติที่จะฟ้องร้อง 2, การที่จะให้ความช่วยเหลือควรทำให้ถูกต้อง 1, ควรตักเตือนเจ้าพระยามหินทร์ในการกระทำที่ “เหลือเกิน” 1

อนึ่ง พระยาสุรศักดิ์ฯ ได้ยอมรับว่าการกระทำของตนไม่เหมาะสม และสัญญาว่าจะไม่ประพฤติปฏิบัติอีกต่อไป เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้ว เรื่องก็น่าจะยุติได้ แต่การก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเจ้าพระยามหินทร์มีหนังสือกราบบังคมทูลฟ้องพระยาสุรศักดิ์ฯ ด้วยข้อหาที่ขยายเพิ่มจากครั้งแรก ดังนี้

“ข้อ 1 กล่าวคำเกลี้ยกล่อมแทะโลมยุยงว่าหวิงไม่ควรจะอยู่ด้วยคนชั่วคนพาลเลย

ข้อ 2 กล่าวว่าอีสุ่นได้ไปเฝ้ากรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสด็จวังนอก อีสุ่นได้เอาหลังไปอวด

ข้อ 3 ถอดยศถอดนามเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรง ตั้งฉัยยา (หมายถึง ฉายา ผู้เขียน) เรียกเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงว่า อ้ายยักษ์แก่ แลอีตาเสือเถ้า ตาแก่

ข้อ 4 กล่าวคำสบประมาทยืนยันเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงว่ากระทำความชั่วในแผ่นดินมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ เปนคำเท็จแกล้งประจานเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรง

ข้อ 5 พระยาสุรศักดิมนตรี กล่าวคำมุ่งมาทพยาบาทเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงถึงคราวสิ้นวาศนา คิดจะทำให้เจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงกับบุตรเสียคนให้ติดตรวนในเดือน 11 จงได้ แจ้งอยู่ในหนังสือที่เขียนด้วยลายมือพระยาสุรศักดิ์มนตรี มาเกลี้ยกล่อมแทะโลมหวิงอนุภรรยาเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรง เสงี่ยมภรรยาเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ด้วยคิดจะเอาไปเปนภรรยาของท่านพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงได้ทำดังนี้”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสตำหนิเสนาบดี ซึ่งไม่ได้ทรงระบุนาม (แต่ก็คือพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ไว้ ดังนี้

“ไม่เห็นสมควรแก่ที่จะเปนความคิดแลความประพฤติแห่งเสนาบดี (ถึงมีความประสงค์สุจริต) จะทำการเช่นนี้ เหนว่าเปนทางที่ไม่สมกับเกียรติยศ แลเปนเหตุให้สดุ้งสเทือนแก่ผู้อื่น เพราะไม่สามารถจะเห็นได้ว่าความประพฤติอาการปานฉนี้จะเปนธรรมอันเสมอ ซึ่งท่านผู้เปนใหญ่ย่อมประพฤติมาฤๅประพฤติอยู่ เปนลัทธิความคิดอันนำมาใหม่ในหมู่แห่งผู้เปนประธานการปกครอง อันจะทำให้ความนับถือแห่งที่ประชุมนี้เสื่อมไปจะกลายเปน “ทีใครก็ทีใคร” เหมือนใช้ปลิกฝรั่งเศสครั้งหลุยที่ 16

ขอให้บอกที่ประชุมเสนาบดี ว่าความประพฤติเช่นนี้ถึงแม้พร้อมกันเห็นว่าเปน “ธรรม” ก็ไม่เปนที่พอใจฉันในอาการที่ประพฤติเกินทางเช่นนี้ ยังคงขอให้ปฤกษาการที่จะตัดทางความประพฤติเช่นนี้ อย่าให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเสนาบดี ถือเอาเปนทางที่ชอบ แลปฤกษาคำที่เจ้าพระยามหินธรกล่าวนั้นอีกส่วนหนึ่งด้วย ให้โสภณทำปฤกษา”

เมื่อเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น ก็ต้องแต่งทนายเข้ามาช่วย ทางฝ่ายพระยาสุรศักดิ์ฯ มีขุนโภชากร เป็นทนาย ฝ่ายเจ้าพระยามหินทร์ซึ่งได้มอบให้เจ้าหมื่นสรรพเพธเป็นผู้แทน มีขุนจบพลรักษ เป็นทนาย ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นทางลับ ไม่ให้อื้อฉาว โดยให้เรียกตัวคนกลาง คือ เสงี่ยม อนุภรรยาเจ้าหมื่นสรรพเพธ หวิง อนุภรรยาเจ้าพระยามหินทร์ฯ ท่านผุ้หญิงไล ภรรยาเจ้าหมื่นสรรพเพธฯ ซึ่งมาแทนเจ้าพระยามหินทร์ฯ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในกรณีทาส คือ อีสุ่น และค่าตัวของทาส ซึ่งเจ้าพระยามหินทร์อ้างว่าอีสุ่นอยู่ในฐานะทาสขายขาดค่า [7] กรมหลวงเทววงศ์มีพระมติสรุปว่า

เห็นว่าที่เจ้าพระยามหินธรยกบทกฎหมายลักษณทาส มาตรา 1 น่า 344 มาแก้นั้น เปนแต่แก้ไปทางที่เท้าเท็จ เพราะทาสขายขาดค่า ในทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ค่าตัวคนเดี๋ยวนี้คงต้องมากกว่ากำหนดขาดค่า [8] ทั้งสิ้น ส่วนสารกรมธรรมที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ย่อมเปนขายฝากรับใช้การงานต่างกระยาดอกเบี้ยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นบทกฎหมายข้อนี้ถึงยังมีอยู่ แต่ว่าทาสขายขาดค่าไม่มีแล้ว ก็เปนอันเลิกใช้ไม่ได้อยู่เอง … แต่ที่ว่านี้ตามที่ว่าแก้เปนทาสขาดค่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากฎหมายข้อนั้นเลิกแล้ว แลอาญาที่เจ้าพระยามหินธร พระนายสรรพเพธทำแก่อีสุ่นนี้ ก็เห็นได้ว่าทำเหลือเกินที่สุดพระราชอาญาก็ไม่ได้ทำถึงเท่านี้

เจ้าพระยามหินทร์ฯ ถูกตัดสินให้จ่ายค่าทำขวัญให้อีสุ่น

อีสุ่น ถูกปรับในฐานะทำตัวเปนแม่สื่อแม่ชัก

พระยาสุรศักดิ์ ถูกปรับในฐานะแทะโลมภรรยาท่าน

ท่านผู้หญิงไล ถูกปรับในฐานะชักสื่อ

และคดีความก็ยุติลง ผู้แพ้และถูกตำหนิก็คือพระยาสุรศักดิ์ฯ แต่ที่สำคัญกว่านั้นเจ้าพระยามหินทร์ฯ ก็ไม่ได้แตกต่างไปกว่าพระยาสุรศักดิ์ฯ และน่าจะอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าด้วยซ้ำไป การกดขี่ตัวละครเยี่ยงทาส การบิดเบือนกฎหายที่ว่าด้วยค่าตัวทาส การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเป็นเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ หรือรับไม่ได้ตามสำนวนปัจจุบัน ในกฎหมายตัวเดิมของไทยคือกฎหมายตรา 3 ดวง มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าในกรณีที่ผู้ใหญ่ผู้น้อยทำความผิดในกรณีเดียวกันผู้ใหญ่จะต้องรับโทษมากกว่าผู้น้อย  ถึงแม้จะไม่ได้ให้คำอธิบายไว้ แต่ก็พอจะเข้าใจได้ว่าผู้ใหญ่ต้องรู้ดีและมีความรับผิดชอบมากกว่าผู้น้อย

กรณีของเจ้าพระยามหินทร์ฯ ก็น่าจะเป็นที่เข้าใจได้ว่าท่านอยู่ในฐานะ‘ขรัวตา’ ของพระองค์เจ้าจุฑารัตน์ราชกุมารีและพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดามรกต ในสายสกุลเพ็งกุล

ในรายงานการประชุมฯ เมื่ออ่านอย่างละเอียดแล้วจะเห็นข้อความหลายแห่งเกี่ยวกับเจ้าพระยา
มหินทร์ฯ ดังเช่น

“เจ้าพระยามหินธร์มีแต่พาลหาเหตุเปนอำนาจสำหรับป้องกัน

เจ้านายหลายองค์รับสั่งสนทนาถึงเรื่องเจ้าพระยามหินธร์ทำอาญาแก่อีสุ่นเหลือเกิน (น. 887)

ความเขี้ยวเขนไพร่ต่าง ๆ ทั้งปวง เจ้าพระยามหินธร์คงได้ทำจริงใช่แต่พึ่งทำ เปนการทำมาช้านานจนไม่รู้สึกตัวว่าทำการชั่วร้าย (น. 891)

เพราะฉนั้นควรที่จะกล่าวให้เจ้าพระยามหินธร์รู้ศึกตัวไว้บ้าง อย่าให้กดขี่คนเหลือเกินจนเปนเหตุให้มีช่องอันตรายแก่ของรักของตน (น. 893)”

และที่สำคัญที่สุด คือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่พึงคุ้มครอง ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เราคงคาดเดาไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ได้ 2 ปี ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม

 


เชิงอรรถ

[1] คำนี้เขียน 2 แบบ คือ ในหนังสือตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ใช้ “มหินทรศักดิธำรง” ส่วน รายงานการประชุมเสนาบดี ร.ศ 111 ใช้ “มหินธรศักดิธำรง” ผู้เขียนเลือกเขียนตามหนังสือตั้งเจ้าพระยาฯ ส่วนข้อความคัดลอกก็ยังคงใช้ตามต้นฉบับ

[2] หมายความว่า “ตั้งใจ”

[3] คือ บุตรชายเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง

[4] หลวงฤทธิจักร (เป๋า  สวัสดิชูโต) ตำแหน่งราชการในกรมยุทธนาธิการ ต่อมาเปนพระยาสุรนารถเสนี (จากเชิงอรรถท้ายบทของหนังสือ, หน้า 922)

[5] ตามคำกราบบังคมทูลฟ้องของ พระยาสุรศักดิ์มนตรี

[6] ภรรยาพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร  บุนนาค)

[7] คือทาสที่ได้ขายทดให้แก่เจ้าเงินตลอดชีวิต ไม่สามารถจะวางเงินไถ่ถอนได้

[8] ผู้ที่มาเป็นทาสรับใช้ผู้เป็นนายต่างดอกเบี้ย ซึ่งจะหักลบค่าตัวไป

บรรณานุกรม

ประวัติการ ของ จอมพล และมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสง-ชูโต). พระนคร : โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2504.

พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 5 และชานพระศรีของเจ้าพระยา
มหินทรศักดิธำรง (เพ็ง  เพ็ญกุล)
. กรุงเทพฯ ; ม.ป.ท., 2531. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.อ. หลวงอำนาจณรงค์ราญ (ไพทูรย์  เพ็ญกุล) ณ เมรุวัดธาตุทอง 22 มีนาคม 2531)

รายงานการประชุมเสนาบดีสภา ร.ศ 111 เล่ม 1-3. (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2550) (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงทวีสันต์  ลดาวัลย์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดี 19 เมษายน 2550)

เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียนายกรัฐมนตรี, 2512) (คณะรัฐมนตรีจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงชูชาติ  กำภู ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 ธันวาคม 2512)

หมายเหตุ

1. บทความนี้คงจะจบลงไม่ได้ ถ้าไม่ได้บันทึกไว้ด้วยความประหลาดใจว่า ในครั้งหนึ่งมีผู้ยืนหยัดอยู่กับการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่ต้องตกระกำลำบากเพราะการศึกสงครามถึงกับเขียนบันทึกออกมา แต่เวลาผ่านไป (คงไม่นานนัก) “ท่าน” ก็คงจะลืมอุดมการณ์ของท่านไปเสียแล้ว

2. เบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ ทั้ง 2 ท่านนี้ เคยมีเรื่องกระทบกระทังกันมาก่อน เจ้าพระยามหินทร์ฯ เคยกล่าววาจาสบประมาท หลวงทวยหาญ (ต่อมาคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา(กิ่ม)) ซึ่งรักษาราชการแทนพระยาสุรศักดิฯ เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ขณะนั้นปฏิบัติราชการไม่ได้เพราะป่วย  หลวงทวยหาญจึงโต้ตอบไปอย่างรุนแรง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงเกิดชำระความขึ้น เจ้าหมื่นไวยวรนาถจึงกราบบังคมทูลว่า มิใช่ความผิดของหลวงทวยหาญ หากแต่เจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นผู้เริ่มก่อน ความจึงได้สงบลง จนมาเกิดเรื่องนี้ขึ้นอีก (ขอขอบคุณคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการ ที่กรุณาให้ข้อมูลในเรื่องนี้เพิ่มเติม)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2562