ความทุกข์ในพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามต้องเสียดินแดน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 “—เป็นการจำเป็นที่เราต้องละวางเขตรแดน อันเราได้ปกปักรักษามาแล้วช้านานนับด้วยร้อยปีเสียเป็นอันมาก โดยผู้ที่ต้องการไม่มีข้อใดจะยกขึ้นกล่าวทวงถามเอาโดยดี นอกจากใช้อำนาจได้—” เป็นข้อความในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พระราชโอรสซึ่งทรงกำลังศึกษาวิชาการทหารบกอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก เป็นพระราชปรารภถึงความทุกข์ในพระราชหฤทัยที่เกิดจากการคุกคามของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือการล่าเมืองขึ้น และเวลานั้นประเทศเพื่อนบ้านมี ลาว เขมร ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมหยุดยั้งเพียงนั้นยังคงคุกคามที่จะเข้าครอบครองสยาม จนทำให้ต้องยอมเสียดินแดนที่เคยเป็นของสยามไปจำนวนหนึ่ง จึงเป็นที่มาของข้อความที่ว่า “—เป็นการจำเป็นที่เราต้องละวางเขตรแดน อันเราได้ปกปักรักษามาแล้วช้านานนับด้วยร้อยปี—”

การคุกคามของนักล่าอาณานิคมตะวันตก เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาในรูปของการติดต่อค้าขาย การเผยแผ่ศาสนา การคุกคามเริ่มชัดเจนจริงจังและรุนแรงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเมื่อสองประเทศมหาอำนาจ คือ อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศเพื่อนบ้าน คืออังกฤษยึดได้พม่ามลายู ฝรั่งเศสยึดได้ญวนและกำลังขยายขอบเขตมาสู่เขมรและลาว ซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม ฝรั่งเศสมีทีท่าคุกคามสยามอย่างหนักและเปิดเผยเพื่อจะได้ครอบครองเขมรและลาว โดยไม่ฟังเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ มุ่งแต่จะใช้เล่ห์กลและอำนาจเข้ายึดครอง ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาที่ว่า “—โดยผู้ที่ต้องการไม่มีข้อใดจะยกขึ้นกล่าวทวงถามเอาโดยดี นอกจากใช้อำนาจได้—” ซึ่งนับเป็นความทุกข์โทมนัสอย่างใหญ่หลวงในพระองค์ ดินแดนในครอบครองที่ทรงต้องยอมเสียให้แก่ฝรั่งเศสนั้นในเบื้องแรกถึง ๓ ครั้ง

ครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ไทยต้องเสียเขมรส่วนนอก เพราะหลังจากฝรั่งเศสยึดดินแดนบางส่วนของญวนได้ก็ใช้ดินแดนนี้เป็นที่มั่นขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมร ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทย โดยอ้างว่าตนเป็นผู้สืบสิทธิญวนเหนือเขมร เพราะฝรั่งเศสอ้างว่าเขมรเคยเป็นประเทศราชของญวนมาก่อน เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนฝรั่งเศสจึงต้องมีสิทธิปกครองเขมรด้วย

ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ต้องทรงยอมเสียแคว้นสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส เพราะเมื่อฝรั่งเศสยึดญวนได้หมด ญวนอ้างว่าดินแดนแคว้นสิบสองจุไทและหัวพันห้าทั้งหกเคยเป็นของตนมาก่อน ฝรั่งเศสจึงถือเป็นข้ออ้างเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไท ทั้งที่ขณะนั้นแคว้นสิบสองจุไทเป็นหัวเมืองของลาว และลาวก็เป็นประเทศราชของไทยฝรั่งเศสก็ไม่ให้ความสนใจ ไทยจึงต้องเสียแคว้นสิบสองจุไทให้กับฝรั่งเศส

ครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยต้องเสียดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือลาวให้กับฝรั่งเศส ครั้งนี้เป็นครั้งที่ทรงทุกข์โทมนัสที่สุด เพราะฝรั่งเศสใช้เล่ห์เพทุบายล้วนๆ

เริ่มด้วยการพยายามเกลี้ยกล่อมและผูกมิตรกับชาวลาวทุกชั้นด้วยกลวิธีต่างๆ ให้ชาวลาวยอมรับอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส และเมื่อสยามพยายามที่จะปกป้องอาณาเขตของตน ฝรั่งเศสก็กล่าวหาว่าการกระทำของสยาม เป็นการเตรียมที่จะทำสงครามกับฝรั่งเศส การคุกคามของฝรั่งเศสเริ่มรุนแรงขึ้น ยิ่งเมื่อฝรั่งเศสคาดว่าลาวเต็มใจที่จะอยู่ในปกครองของตน ฝรั่งเศสก็ยิ่งคุกคามสยามหนักขึ้น แม้สยามจะเสนอให้มีการเจรจาเรื่องเขตแดนให้ชัดเจนเรียบร้อยก่อน แต่ฝรั่งเศสก็หลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด

เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำ คือ เรือปืนแองกองสตอง เรือโกแมต และเรือลูแตง ที่จอดทอดสมอในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ภาพถ่ายในช่วงวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจึงอยู่ในภาวะตึงเครียด มีการปะทะกันประปรายตามลำน้ำโขง และยิ่งตึงเครียดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารญวนและเขมรคืบคลานเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งก็คือหัวเมืองลาวทั้งหมด สยามพยายามต่อสู้กับฝรั่งเศสด้วยวิธีสันติ เช่น ขอให้มีการเจรจาปักปันเขตแดนซึ่งขณะนั้นยังไม่เรียบร้อยตามมาตรฐานของอารยประเทศ เป็นการใช้วิธีทางการทูตนำการทหารซึ่งเป็นวิถีทางของประเทศที่เป็นอารยะ แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ยอม คงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเจรจาด้วย และส่งทหารญวนเขมรเข้ายึดหัวเมืองลาว ไทยได้พยายามต่อสู้ป้องกันอาณาเขต แต่ก็ต้องพยายามระมัดระวังให้การสู้รบอยู่ในขอบเขตของการป้องกันตัว เพื่อที่จะได้มีโอกาสเจรจากับฝรั่งเศสได้ในยามจำเป็น แต่ฝรั่งเศสก็มุ่งแต่จะยึดครองลาวซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยามทั้งหมด

ในการปะทะกันครั้งหนึ่งที่เมืองคำม่วนและทุ่งเชียงคำ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ ฝรั่งเศสจับตัวพระยอดเมืองขวางเจ้าเมืองคำม่วน และในขณะที่กองทัพสยามยกไปช่วยพระยอดเมืองขวาง ปรากฏว่า นายโกรสกูแรง (Grosgurin) นายทหารฝรั่งเศสเกิดเสียชีวิตลง ฝรั่งเศสกล่าวหาว่านายโกรสกูแรงถูกฆาตกรรมและเรียกร้องให้ไทยลงโทษพระยอดเมืองขวาง ทำให้เหตุการณ์ทวีความตึงเครียดและคับขันขึ้น ในขณะเดียวกันทั้งกระทรวงอาณานิคม สื่อสารมวลชน และวงการศาสนาต่างสนับสนุนรัฐบาลฝรั่งเศสให้ใช้มาตรการรุนแรงกับไทย

จนในที่สุดผู้บังคับการเรือฝรั่งเศสได้นำเรือ ๒ ลำ คือ เรือปืนแองกองสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comete) พร้อมเรือนำร่องได้มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อแล่นผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ยิงเตือนแต่เรือรบฝรั่งเศสก็มิได้หยุดยั้ง จึงเกิดการยิงปะทะกันขึ้น ได้รับความเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย คือเรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงจม ส่วนเรือปืนมกุฎราชกุมารของสยามถูกยิงได้รับความเสียหาย เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศสใช้อำนาจที่ปราศจากทั้งเหตุผลและความเป็นธรรมต่อไป ด้วยการยื่นข้อเสนอเรียกร้องทั้งให้ไทยเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมด ให้จัดการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ยิงเรือปืนฝรั่งเศส พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงิน ๒ ล้านฟรังก์ และยังมีข้อกำชับทิ้งท้ายว่า “—ถ้าถูกโจมตี จะทำลายกองทัพเรือไทย ตลอดจนป้อมปราการ—”

เหตุการณ์ครั้งนั้นนำความทุกข์โศกโทมนัสมาสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุดครั้งหนึ่งในพระชนมชีพ ถึงแก่ทรงพระประชวร ทรงทอดอาลัยในพระชนมชีพมิยอมเสวยพระโอสถอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ทรงจำเป็นต้องเก็บความเจ็บปวดและทุกข์โทมนัสไว้แต่ในพระราชหฤทัย และกลับมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมืองต่อไป ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงพระราชปรารภถึงพระราชภาระที่ทรงต้องปฏิบัติต่อไปคือ “—ประสงค์แต่จะรักษาอำนาจ แลที่แผ่นดินอันปู่แลบิดาของเราได้ปกครองสืบๆ กันมาแล้วช้านาน มิให้ร่อยหรอเข้าไป และให้ไพร่บ้านพลเมืองของเราเป็นศุข ตลอดทั่วหน้าจนสุดกำลังที่จะทำได้—”

แต่ถึงกระนั้นความรู้สึกที่ถูกมหาอำนาจกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีความละอายละเลยต่อหลักการปฏิบัติของอารยประเทศ ดังที่ทรงกล่าวว่า “—เป็นความลำบากอย่างยิ่งแก่เมืองเราที่ฝรั่งเศสคิดแลทำการข่มขี่แสนสาหัสโดยปราศจากยุติธรรม อันเป็นการจำเป็นบีบรัดที่ให้เราป้องกันตัวโดยกำลังตามที่จะทำได้—” ในเวลานั้นทรงคิดถึงพระราชโอรสซึ่งเป็นความหวังแรกในอันที่จะกลับมาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระของบ้านเมือง คือพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกที่ได้ทรงศึกษาวิชาการทหารบกตามแบบอารยประเทศ ที่ประเทศเดนมาร์ก แต่ขณะนั้นทรงกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา แม้จะทรงพระราชปราถนาให้พระราชโอรสได้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ในเหตุการณ์นี้ แต่ก็ยังมิถึงเวลา ดังที่ทรงกล่าวว่า “—พ่อรู้ว่าเจ้าจะต้องอยู่อีกนาน จึงจะทำการได้ดีอย่างยิ่ง เว้นแต่ขอให้คิดสักหน่อยหนึ่งว่า เมืองเราต้องการคนที่รู้จริงในเวลานี้มากนัก—เรายังต้องการผู้ที่รู้วิชาชั้นสูงๆ ในการทหารทุกอย่าง—ความต้องการของเรานั้นเป็นการรีบร้อนยิ่งกว่าที่เจ้าจะคิดเห็น—”

ทุกข้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาแสดงอย่างชัดเจนถึงพระราชหฤทัยที่ทรงว้าเหว่และว้าวุ่น เพราะเหตุการณ์คับขันขณะนั้น พระราชโอรสทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ทรงอยู่ในระหว่างการศึกษาขั้นต้นหรือขั้นกลาง มีพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชเพียงพระองค์เดียวที่ทรงเติบใหญ่ และร่ำเรียนวิชาการอันสามารถจะเป็นประโยชน์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงมีพระราชหฤทัยผูกพันระลึกถึงแต่ก็ทรงตระหนักดีว่า ยังไม่ถึงเวลาที่พระราชโอรสจะเสด็จกลับ ดังที่ทรงกล่าวว่า “—พ่อยังไม่ได้คิดจะเร่งให้กลับ เพราะเห็นว่าการที่เรียนอยู่ยังเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะกลับในเวลานี้ แต่เมื่อมีความว้าเหว่อย่างใดขึ้น ก็ย่อมนึกถึงอยู่ เมื่อคิดถึงการที่เก็บลูกไม้ดิบ ไม่ปล่อยให้สุกเสียก่อนเป็นอันเสียประโยชน์ ก็หายที่จะคิดเช่นนั้นไป—”

แม้เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จะผ่านพ้นไป แต่ยังคงมีปัญหาสืบเนื่องที่ต้องทรงแก้ไขอย่างหนัก คือข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ฝรั่งเศสต้องการให้สยามทำตาม ทำให้ต้องปลงพระราชหฤทัยกับดินแดนที่เสียไป ดังปรากฏข้อความในพระราชปรารภที่ว่า “—การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักร ซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน—” และในพระราชหัตถเลขาที่ว่า “—เป็นการจำเป็นที่เราต้องละวางเขตรแดน อันเราได้ปกปักรักษามาแล้วช้านานนับด้วยร้อยปี—”

จากพระราชดำริตัดพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอาณาเขตที่เสียไปนี้เอง ทำให้ทรงมีกำลังที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างหนักตลอดเวลา เพื่อปกปักรักษาราชอาณาเขตส่วนใหญ่มิให้ตกเป็นอาณานิคมของนักล่าชาวตะวันตก ซึ่งทำให้สยามสามารถรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 25 กุมภาพันธ์ 2561