“การทดสอบทรินิตี” อุบัติการณ์แห่งปรมาณู วินาทีที่โลกเข้าสู่ยุคนิวเคลียร์

The Trinity Test การทดสอบ ระเบิดปรมาณู ลูกแรก ของ โครงการแมนฮัตตัน ของ ออปเพนไฮเมอร์ เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 1945
The Trinity Test การทดสอบระเบิดปรมาณูลูกแรก เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 1945 (ภาพ Wikimedia Commons)

16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 การทดสอบทรินิตี “ระเบิดปรมาณู” ลูกแรกของโลก เกิดขึ้นกลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งของโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ “โครงการแมนฮัตตัน” ก่อนใช้งานจริงและนำไปสู่การยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่น สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

กว่าการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่าง ระเบิดปรมาณู (Atomic bomb) ของโครงการแมนฮัตตัน จะประสบความสำเร็จ ประสิทธิภาพของมันถูกตั้งข้อสงสัยมาตลอด เพราะโลกไม่เคยเห็นระเบิดปรมาณูมาก่อน การประเมินพลังงานที่จะถูกปลดปล่อยออกมาก็เป็นเพียงการคาดการณ์และคาดเดา แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ใน ลอส อลามอส ที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการโครงการแมนฮัตตันเองยังอดแคลงใจไม่ได้ว่า โครงการจะสำเร็จหรือเปล่า

กระทั่งศูนย์ปฏิบัติการรวมแร่ยูเรเนียม ซึ่งถือเป็นวัตถุประเภทจุดระเบิด (Gun-type) ในปริมาณที่เพียงพอ วันที่ 14 กรกฎาคม 1945 มีการส่งระเบิดยูเรเนียมส่วนใหญ่ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใช้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยที่การทดสอบมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ

การทดสอบด้วยระเบิดปรมาณูจากแร่พลูโตเนียมของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งมีกำหนดการในวันที่ 16 กรกฎาคม จึงเป็นตัวแทนการพิสูจน์ประสิทธิภาพของอาวุธนี้ และเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ให้มากที่สุด ก่อนใช้จริงในอีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิก

โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของโครงการ ตั้งชื่อการทดสอบนี้ว่า การทดสอบทรินิตี (The Trinity Test) โดย “Trinity” หรือตรีเอกานุภาพ ออปเพรไฮเมอร์ได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของ จอห์น ดอนน์ (John Donne) กวีชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 17 นักเขียนคนโปรดของเขา

ริชาร์ด โรดส์ (Richard Rhodes) ผู้เขียนหนังสือ The Making of the Atomic Bomb วิเคราะห์ว่า “สำหรับ บอร์ (‘นีลส์ บอร์’ นักฟิสิกส์อีกคน) กับออปเพนไฮเมอร์ ระเบิดปรมาณูคืออาวุธมรณะที่อาจยุติสงครามและไถ่บาปให้มนุษยชาติด้วย”

สถานที่สำหรับ การทดสอบทรินิตี อยู่กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ห่างจาก ลอส อลามอส ไปทางใต้ 210 ไมล์ พื้นที่ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ฆอร์นาดา เดล มูเอร์โต” (Jornada del Muerto) หรือการเดินทางแห่งความตาย

ระเบิดปรมาณู “ลูกแรก”

การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนจะแล้วเสร็จต้นเดือนกรกฎาคม โดยมีบังเกอร์สังเกตการณ์ 3 แห่งตั้งอยู่ห่างออกไป 5.6 ไมล์ จากหอระเบิด ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการควบคุมกัมมันตภาพรังสีที่จะปลดปล่อยออกมาระหว่างการระเบิด กองทัพสหรัฐฯ จึงเตรียมพร้อมที่จะอพยพประชาชนในพื้นที่โดยรอบทันที หากเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดบานปลาย

12-13 กรกฎาคม 1945 มีการขนส่งแกนพลูโตเนียมและชิ้นส่วนประกอบระเบิดไปยังพื้นที่ทดสอบด้วยรถของกองทัพสหรัฐฯ และวันที่ 15 กรกฎาคม ก็ประกอบอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และยกขึ้นสู่จุดระเบิดซึ่งสูงเหนือพื้น 100 ฟุต

ทั้งหมดพร้อมแล้วสำหรับการทดสอบในเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 วันแห่งการอุบัติของระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก

ปรากฏว่ามีฝนตกหนักตลอดคืนวันที่ 15 กรกฎาคม ออปเพนไฮเมอร์กับทีมของเขาอยู่ที่บังเกอร์ควบคุม S-10,000 ขบคิดกันว่าจะทำอย่างไรหากฝนไม่หยุดก่อนการทดสอบตามกำหนดในเวลา 04.00 น. ของเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม

เพื่อคลายความตึงเครียด หนึ่งในพวกเขายิงคำถามที่หลายคนสงสัย คือระเบิดนิวเคลียร์จะจุดชนวนในบรรยากาศหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ปฏิกิริยาลูกโซ่อาจทำลายรัฐนิวเม็กซิโก หรือลามออกไปทำลายล้างโลกได้เลย (คลายเครียด?)

แต่ออปเพนไฮเมอร์วางเงินสิบดอลลาร์กับค่าจ้างทั้งเดือนของ จอร์จ คิสเตียโควสกี (George Kistiakowsky) อาจารย์เคมีแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการ เขาเดิมพันว่า ระเบิดจะไม่ทำงานเลยด้วยซ้ำ

เวลา 03.30 น. มีการเลื่อนกำหนดออกไปเป็น 05.30 น. ในที่สุดฝนก็หยุดตกช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. คิสเตียโควสกีกับทีมงานไปจัดการติดตั้งอุปกรณ์หลังตี 5 แล้วกลับไปยัง S-10,000 ก่อนเริ่มการนับถอยหลัง ตอนนั้นเองผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่พากันหันหลังให้หอระเบิด เพื่อเลี่ยงแสงสว่างที่อาจทำลายดวงตาของพวกเขา

เจมส์ โคแนนท์ (James Conant) นักเคมีในโครงการบอกว่า เขาไม่เคยรู้สึกว่าแต่ละวินาทีจะยาวนานได้ขนาดนี้มาก่อน โดยเฉพาะเมื่อนับถอยหลังถึง 10 วินาทีสุดท้าย

เลสลี่ โกรฟส์ (Leslie Groves) นายทหารผู้กำกับโครงการแมนฮัตตัน และอยู่กับออปเพนไฮเมอร์ในการทดสอบครั้งนั้น เขียนในบันทึกของเขาว่า “ในวินาทีสุดท้าย ผมได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรถ้านับถอยหลังถึงศูนย์และไม่มีอะไรเกิดขึ้น…”

เวลา 05.30 น. ของวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ยุคสมัยแห่งนิวเคลียร์เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางสักขีพยานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการแมนฮัตตัน ที่เฝ้าสังเกตการณ์อย่างจดจ่อและกังวลใจ ระเบิดปรมาณูลูกแรกระเบิดเหนือทะเลทรายในนิวเม็กซิโก หอระเบิดระเหยกลายเป็นไอ เปลี่ยนยางมะตอยรอบฐานเป็นทรายสีเขียว ไม่กี่วินาทีหลังจากการระเบิด บังเกิดคลื่นความร้อนขนาดใหญ่แผดเผาไปทั่วทะเลทรายบริเวณนั้น

 

ไม่มีใครมองรังสีที่เกิดแผ่ออกมาระหว่างจากการระเบิดได้ แต่พวกเขาทุกคนรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น ภาชนะเหล็กไซส์ใหญ่ยักษ์น้ำหนักกว่า 200 ตัน ถูกขนไปกลางทะเลทราย เพื่อการทดสอบที่จะทำให้มันหายวับไปในเสี้ยววินาที ลูกไฟสีส้มเหลืองแผ่เหยียดยาวออกไป มวลที่สองซึ่งแคบพวยพุ่งขึ้นไปเป็นรูปดอกเห็ด นี่คือสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจและการทำลายล้างอันน่าพิศวงที่สุดในความรับรู้ของมนุษยชาตินับแต่นั้น

สำหรับสมาชิกโครงการแมนฮัตตัน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังการระเบิดมีทั้งความประหลาดใจ ความยินดี และความโล่งใจ เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (Ernest Lawrence) ซึ่งต่อมาจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เล่าถึงสิ่งที่เขาจำในเหตุการณ์ว่า “จากความมืดมิดสู่แสงสว่างเจิดจ้าในชั่วพริบตา” แสงนั่นทำให้บางคนตาบอดสนิทเป็นเวลาเกือบครึ่งนาทีด้วย

แรงระเบิดทำให้คิสเตียโควสกีที่อยู่ห่างออกไป 5 ไมล์ ล้มฟุบลงกับพื้น เขารีบลุกขึ้นยืนเพื่อตบหลังออปเพนไฮเมอร์แล้วพูดว่า “ออปพี นายเป็นหนี้ฉันสิบเหรียญนะ” ขณะที่เลสลี่ โกรฟส์ ปรี่เข้ามาหาออปเพนไฮเมอร์แล้วบอกว่า “ฉันภูมิใจในตัวนาย” พวกเขาเห็นตรงกันว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้ว

แต่ไม่นานหลังการเปิดตัวอาวุธมหาประลัยนั้น โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ระลึกได้ว่าเขาได้สร้างความสยดสยองแก่มวลมนุษย์แล้ว บันทึกของเขาเล่าว่า ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขานึกถึงตำนานของโพรมิธีอุส ผู้ถูกซุสลงทัณฑ์โทษฐานที่มอบไฟแก่มนุษย์

และทันทีที่ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก ลงไปที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ นักวิทยาศาสตร์ใน โครงการแมนฮัตตัน ต่างถูกสะกดด้วยพลังทำลายล้างอันน่าสะพรึงกลัว และการใช้ประโยชน์จากอาวุธเหล่านี้หลังจากนั้นได้ตามหลอกหลอนพวกเขาไปอีกนาน ซึ่งอาจหมายถึงตลอดชีวิต…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://ahf.nuclearmuseum.org/ahf/history/trinity-test-1945/

https://discover.lanl.gov/news/0714-oppenheimer-literature/

https://rarehistoricalphotos.com/trinity-test-day-nuclear-age-began-1945/

https://www.history.com/news/atomic-bomb-test-victims-new-mexico-downwinders


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2567