ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปประธานในวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอยู่ในเขตพระราชวังหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามมากสุดองค์หนึ่งในกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบัน พระศรีสรรเพชญ์ประดิษฐานอยู่ภายใน “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” ที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ “วัดโพธิ์” กรุงเทพมหานคร
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เล่าถึงพระศรีสรรเพชญ์ไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก” ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2043 สำเร็จเป็นองค์พระพุทธรูปแล้วมีงานฉลอง พ.ศ. 2046 โดยพระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระศรีสรรเพชญ์ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้หมายถึงพระพุทธเจ้า
พระศรีสรรเพชญ์เป็นพระพุทธรูปยืน สูง 8 วา ถ้าเทียบมาตราวัดปัจจุบันแล้วจะอยู่ราวๆ 16 เมตร ขณะที่หลักฐานต่างชาติสมัยกรุงศรีอยุธยาระบุมาตราวัดแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ 12.8 เมตรไปจนถึงเกือบ 16 เมตร
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ บอกอีกว่า ในบันทึกของ นิโกลาส์ แชรแวส ชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงพระศรีสรรเพชญ์ว่า เคยถูกตัดพระกรในครั้งอยุธยาทำสงครามกับพะโค แต่ไม่ได้ระบุว่าถูกตัดพระกรข้างใด
พระศรีสรรเพชญ์ชำรุดทรุดโทรมลงมากหลังจากสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ต่อมาใน พ.ศ. 2333 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอพระศรีสรรเพชญ์มายังวัดพระเชตุพนฯ แล้วบรรจุลงในพระมหาเจดีย์องค์กลาง ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกวิหารพระโลกนาถว่า
“จึ่งให้ชักชะลอพระพุทธปฏิมากร ทรงพระนามพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งชำรุดรับมาแต่กรุงเก่า เข้าวางบนรากได้ศุภฤกษ ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์”
ก่อนอัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์ลงไปประดิษฐานในรากฐานพระเจดีย์ ไม่มีเอกสารชิ้นใดที่กล่าวถึงสภาพตอนนั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถทราบพุทธลักษณะที่แท้จริงได้
พุทธลักษณะของพระศรีสรรเพชญ์จึงยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงอยู่ที่ไหน?
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่ วัดโพธิ์ เกิดเอียง
- “พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (2560). พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2567