สิบทิศยังน้อยไป! เปิดที่มา “บุเรงนอง” แท้จริงคือ “ผู้ชนะยี่สิบทิศ”

พระเจ้าบุเรงนอง เมืองหงสาวดี
(ซ้าย) อนุสาวรีย์บุเรงนอง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของพม่า (By Phyo WP) ฉากหลังเป็นทางเข้าพระธาตุชเวมอดอ ในเมืองพะโค หรือ หงสาวดี (AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI)

พระเจ้าบุเรงนอง คือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์พม่า โดยหลังจากปราบบ้านเมืองทั้งหลายได้แล้ว บุเรงนองก็สร้าง “เมืองหงสาวดี” ขึ้นใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางของพม่า ที่ประกอบด้วยชนชาติใหญ่ๆ อาทิ พม่า มอญ ยะไข่ ฯลฯ ความสามารถในการสู้รบแผ่ขยายอำนาจนี่เอง ทำให้บุเรงนองได้รับฉายา “ผู้ชนะสิบทิศ” แต่ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร วิเคราะห์จากหลักฐานและคติเกี่ยวกับเมือง และได้เสนอข้อสันนิษฐานว่า ที่จริงแล้ว บุเรงนองคือ “ผู้ชนะยี่สิบทิศ” ต่างหาก

พิเศษ ระบุว่า พระเจ้าบุเรงนอง สร้างพุกามประเทศเป็นครั้งที่ 2 ขึ้นที่กรุงหงสาวดี มีความยิ่งใหญ่กว่าพุกามประเทศสมัยแรก เพราะนอกจากสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชนชาติ พม่า มอญ ไทใหญ่ ยะไข่ ได้แล้ว ยังมีอำนาจเหนือล้านนา ล้านช้าง แม้แต่กัมพูชาก็ยินยอมเข้าสวามิภักดิ์

Advertisement

ดังนั้น เมืองหงสาวดี ของบุเรงนองจึงสร้างขึ้นด้วยสัญลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังที่ ราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch) พ่อค้าชาวอังกฤษที่เคยเห็นเมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. 2129 (สมัยพระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสบุเรงนอง) ได้บันทึกไว้ว่า

“…มีเมือง ๒ เมืองๆ เก่าและเมืองใหม่ พ่อค้าต่างถิ่นทั้งปวงนั้นอยู่ในเมืองเก่า ทั้งพ่อค้าของประเทศนั้นก็อยู่กันมาก สินค้าทุกอย่างซื้อขายกันในเมืองเก่า ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีชานเมืองอยู่โดยรอบ…

…ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นประทับอยู่ในเมืองใหม่ รวมทั้งข้าราชบริพารของพระองค์…

…พะโคเป็นเมืองใหญ่ที่มีพลเมืองหนาแน่น ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงเมืองงามมากกับมีคูน้ำล้อมรอบกำแพง คูน้ำมีน้ำเต็มฝั่ง ทั้งมีจระเข้อยู่ในคูเป็นอันมาก…”

เมืองที่มีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่อาจนำมาเปรียบเทียบกับ เมืองหงสาวดี คือ เมืองเชียงใหม่ หนังสือนิราศหริภุญชัย ที่แต่งขึ้นเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 21 และโคลงเรื่องมัทรารบเชียงใหม่ ที่แต่งบรรยายเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2157 กล่าวว่า เมืองเชียงใหม่มีจระเข้อยู่ในคูน้ำด้วย

ฟิตช์ ยังบรรยายเมืองหงสาวดีต่อไปอีกว่า

“…เมืองมีประตูใหญ่ ๒๐ ประตู ทำด้วยหิน กำแพงเมืองแต่ละด้านมีประตู ๕ ประตู มีป้อมปืนหลายป้อม สำหรับให้ทหารยามได้อยู่ยามระวังภัย ป้อมปืนทำด้วยไม้ลงรักปิดทองงามมาก…

…ถนนหนทางสวยที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา ตรงแน่วเหมือนเส้นบรรทัดจากประตูหนึ่งถึงอีกประตูหนึ่ง และกว้างมากขนาดคน ๑๐ หรือ ๑๒ คน สามารถขี่ม้าเรียงหน้ากันผ่านไปได้…

พระราชวังตั้งอยู่กลางเมือง มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบพระราชวัง…”

อย่างที่บอกไปว่า เมืองหงสาวดีที่ฟิตช์กล่าวถึง อยู่ในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง อาจเป็นไปได้ว่า เป็นลักษณะของเมืองที่มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งในสมัยนั้น ตามที่ตำนานฉบับหอแก้วของพม่ากล่าวไว้ เมืองที่มีประตูเมืองหลายประตู มีความหมายถึงความเป็นศูนย์กลางของอำนาจที่แผ่ขยายออกไปทุกทิศทุกทาง

พิเศษ อธิบายว่า คติเกี่ยวกับเมืองที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจที่แผ่ไพศาลเช่นนี้ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเมืองในอินเดียตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ คือ เมืองทวารวดี แปลว่า เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง และชื่อ “ทวารวดี” ก็ถูกนำมาใช้เรียกชื่อเมืองในสยามแต่โบราณ

ชื่อเมืองที่มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ตั้งขึ้นด้วยภาษาพื้นเมือง คือ เมืองร้อยเอ็ดประตู หมายถึงอำนาจศูนย์กลางที่แผ่ขยายออกไปถึงร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

เมืองหงสาวดีหรือพะโคของพระเจ้าบุเรงนอง ที่เริ่มแรกอาจมี 12 ประตู และปรากฏเป็น 20 ประตู ในสมัยพระเจ้านันทบุเรงนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน ซึ่งต่อมาสมัยหลังตำนานของพม่าก็ได้ทำความหมายในเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องจริงขึ้น โดยนำชื่อของเมืองต่างๆ ที่พระเจ้าบุเรงนองมีอำนาจแผ่ไปถึงจริงๆ มาเป็นชื่อของประตูเมืองทั้ง 20 ชื่อ ซึ่งเมืองอยุธยา เชียงใหม่ ล้านช้าง เมาะตะมะ ฯลฯ ได้ปรากฏเป็นชื่อประตูเมืองหงสาวดีด้วย

“พระเจ้าบุเรงนองจึงมิใช่ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ หากแต่ทรงเป็น ‘ผู้ชนะยี่สิบทิศ’ จะถูกกว่า” พิเศษ ระบุ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “หงสาวดี : เมืองของผู้ชนะ ๒๐ ทิศ”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2567