เมื่อ “หงสา” ไร้บุเรงนอง บ้านเมืองวิกฤตถึงขั้น “คนกินกันเอง-ฝรั่งตั้งตนเป็นเจ้า”

พระเจ้าบุเรงนอง เมืองหงสาวดี
(ซ้าย) อนุสาวรีย์บุเรงนอง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของพม่า (By Phyo WP) ฉากหลังเป็นทางเข้าพระธาตุชเวมอดอ ในเมืองพะโค หรือ หงสาวดี (AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI)

บุเรงนอง กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูยิ่งใหญ่เพียงใดคงไม่ต้องสาธยายมาก คนไทยก็รับรู้โดยทั่วกันอยู่แล้ว แม้ว่า บุเรงนองจะเป็นเจ้าต่างชาติต่างเผ่า แต่คนไทยก็ให้ความชื่นชมในตัวกษัตริย์แห่ง หงสาวดี พระองค์นี้ไม่น้อย วรรณกรรมเกี่ยวกับพระองค์ในภาคภาษาไทยจึงยังฉายภาพของพระองค์ในเชิงบวกอยู่

แต่อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของพระองค์มีอายุที่สั้นยิ่งนัก เมื่อ นันทบุเรง ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระองค์มิได้มีอำนาจบารมีเทียบเท่า เจ้าบ้านเมืองอื่นที่เคยอ่อนน้อมก็พากันแข็งข้อ ซึ่งพระองค์ก็ทรงปราบปรามอย่างรุนแรง ดังที่พ่อค้าชาวเวนิส กัสเปโร บัลบี (Gaspero Balbi) ที่อยู่ในหงสาวดีขณะนั้น อ้างว่าพระองค์ได้สั่งประหารประชาชนกว่า 4 พันราย ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนกบฏของเจ้าเมืองอังวะ ส่วนชะตากรรมของเจ้าแห่งอังวะนั้นบ้างก็ว่าตายหลังพ่ายแพ้ในศึกชนช้างกับนันทบุเรง แต่บ้างก็อ้างว่าหลบหนีไปอยู่เมืองจีนจนเสียชีวิตที่นั่น

การทำสงครามกับสยามหลายครั้ง ยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างหนัก เนื่องจากกองทัพหงสาต้องสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจากการพ่ายแพ้ให้กับกองทัพพระนเรศวรแทบทุกครั้ง รวมถึงการสูญเสียชีวิตของพระอุปราชแห่งหงสา โอรสของนันทบุเรงเองด้วย

ความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับอยุธยา และการแปรพักตร์ของอดีตพันธมิตรของพระองค์ ยิ่งทำให้นันทบุเรงทรงดำเนินมาตรการกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น มีบันทึกว่า พระองค์ทรงใช้อำนาจกดขี่ชาวมอญอย่างหนัก จนทำให้ชาวมอญหลบหนีมาพึ่งบารมีกษัตริย์แห่งอยุธยาเป็นจำนวนมาก

ใน ค.ศ. 1595 (พ.ศ. 2138) อังวะ แปร และตองอู ได้พากันแข็งเมือง ด้านเจ้าเมืองยะไข่ก็ได้ส่งกองเรือรบมาเล่นงานราชอาณาจักรหงสาวดี เพื่อล้างแค้นสมัยที่บุเรงนองเคยบุกมารุกราน ปีถัดมา กองทัพยะไข่ก็สามารถยึดสิเรียม เมืองท่าหลักของหงสาวดีได้สำเร็จ ก่อนเคลื่อนทัพไปยังกรุงหงสาวดี ที่กองทัพตองอูกำลังล้อมโจมตีอยู่

ด้านพระนเรศวรก็ทรงกรีฑาทัพตามมาเช่นกัน แต่มาไม่ทัน หงสาวดีถูกตีแตกไปก่อน ตองอูและยะไข่จึงจัดสรรส่วนแบ่งที่ได้จากการปล้นสะดมหงสาวดีกันเพียง 2 ฝ่าย ก่อนเผาเมืองทิ้ง ส่วนทัพอยุธยาที่ตามมาทีหลังก็ได้เพียงยึดเมืองทวายและเมาะตะมะ ก่อนตั้งให้ผู้นำชาวมอญเป็นผู้ปกครองแทน

การตกอยู่ในภาวะสงครามตลอดเวลา ทำให้หงสาวดีตกอยู่ในสภาพที่ยากแค้น ท้องทุ่งที่ทำการเกษตรถูกทำลาย จนเกิดภาวะอดอยากถึงขนาดที่คนต้องกินคนกันเอง ซึ่งในบทความเรื่อง “หงสาวดี: เมืองของผู้ชนะ 20 ทิศ” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543 ได้ยกบันทึกของนักบวชคณะเยซูอิตถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

“…ถึงกับว่าพวกเขาต้องกินกันเอง และภายในตัวเมืองพะโคมีหญิงชายลูกเล็กเด็กแดงอยู่อาศัยเหลือไม่เกินสามหมื่นคน นับเป็นภาพที่น่าเศร้าใจที่ได้เห็นซากปรักหักพังของวัดวาอาราม และปราสาทราชวัง ตามถนนหนทางและท้องไร่ท้องนาเต็มไปด้วยหัวกระโหลกและกระดูกของชาวพะโคผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกฆ่าหรือต้องตายด้วยความอดอยาก…”

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการชุลมุนวุ่นวายกันอยู่นั้น ยังมีอีกกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทสำคัญคือชาวโปรตุเกสที่เข้ามามีอิทธิพลในอุษาคเนย์ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีทั้งพ่อค้า โจรสลัดและทหาร บ้างก็เข้ารับใช้เจ้าในดินแดนต่างๆ ในแถบนี้ และหนึ่งในนั้นก็คือ ฟิลิป เดอบริโต (Philip de Brito) ชาวโปรตุเกสที่ได้รับมอบหมายจากกษัตริย์แห่งยะไข่ให้ดูแลเมืองสิเรียมพร้อมกำลัง 1600 นาย แต่กลับฉวยโอกาสตั้งตนเป็นเจ้าเสียเอง แล้วขับไล่พวกยะไข่ออกไป ด้วยการสนับสนุนจากอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัวในอินเดีย

ชาวโปรตุเกสที่มาแสวงโชคในตะวันออก ส่วนใหญ่มีเป้าหมายสำคัญคือแสวงหาความมั่งคั่ง และเปลี่ยนคนท้องถิ่นให้หันมาเข้ารีต เดอบริโต ก็เช่นกัน เขาไม่ให้ความเคารพต่อความเชื่อของคนท้องถิ่น จึงสั่งให้ทำลายเจดีย์และศาสนสถานต่างๆ เพื่อรวบรวมแก้วแหวนเงินทอง รูปปั้นทองคำมีค่าทั้งหลาย และบังคับให้ชาวมอญหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจในความเผด็จการของเขาเท่าใดนัก 

เดอบริโต ครองอำนาจได้ราว 10 ปี เจ้าสุทโธธรรมราชา (อโนเพตลุน) หลานปู่ของบุเรงนองผู้ครองอังวะก็ยกทัพลงมาปราบ โดยชาวมอญในเมืองสิเรียมได้หันไปเข้ากับกองกำลังพม่าเล่นงานเจ้าโปรตุเกสจนเสียท่า ถูกจับทรมานจนเสียชีวิต

ปัจจุบันหงสาวดีเป็นเหมือนกับเมืองในชนบทเล็กๆ พระราชวังอันยิ่งใหญ่เหลือเพียงฐานก่ออิฐเตี้ยๆ ไม่เหลือเค้าโครงความยิ่งใหญ่ในอดีต ทางการพม่าจึงได้จัดสร้างพระราชวังแห่งกษัตริย์บุเรงนองขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยหลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพวาด รวมถึงคำบรรยายในสมุดพับโบราณของพม่า รวมทั้งขนบธรรมเนียมของราชสำนักประกอบเข้าด้วยกัน แต่ก็ยากที่จะจำลองความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“A Short History of Burma”. S.W. Cocks. Macmillan and Co., Limited. 1919

“หงสาวดี: เมืองของผู้ชนะ 20 ทิศ” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2562