ต้นตอกำเนิดใหม่อาณาจักรตองอู ฟื้นฟูอังวะหลังสิ้นหงสาวดี ยืนหยัดไม่แพ้ยุคบุเรงนอง

ราชสำนักพม่า

ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ชนชาติพม่าเป็นที่รู้จักในฐานะคู่สงครามอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยคราวสงครามเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 อาณาจักรพม่าภายใต้ราชวงศ์ตองอูสามารถสถาปนาอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นเพียง 2 รัชกาล อาณาจักรขนาดใหญ่นี้ต้องเผชิญภาวะเกือบล่มสลายก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ อาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟู (The Restored Toungoo Empire) หรืออาณาจักรญองยาน (พ.ศ. 2140-2295)

อาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟู มีปฐมกษัตริย์คือ พระเจ้าญองยาน (Nyaungyan) พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) ที่ประสูติแต่พระมเหสีองค์รอง หลังพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ผู้สืบทอดบัลลังก์ คือ พระเจ้านันทบุเรง (Nanda Bayin) พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่จากความวุ่นวายภายในและภัยสงครามทำให้ราชสำนักพะโคหรือกรุงหงสาวดีเสื่อมโทรม พระเจ้าญองยานจึงสถาปนาอำนาจของพระองค์เอง ฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นใหม่ และเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ใน พ.ศ. 2140 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ตองอูยุคฟื้นฟู

ความแตกต่างระหว่างอาณาจักรตองอูยุคต้นกับยุคฟื้นฟู สัมพันธ์กับดินแดนสองส่วนคือ พม่าตอนบน อันมีอังวะและนครของเจ้าฟ้ารัฐฉาน (ไทใหญ่) กับพม่าตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พะโค (หงสาวดี), อาระกัน (ยะไข่) และหัวเมืองรามัญ (มอญ)

ในอาณาจักรตองอูยุคต้น ดินแดนตอนบนเผชิญภาวะสงครามอันยาวนาน ขณะที่ตอนล่างกำลังรุ่งเรืองจากการค้า

แต่ช่วงปลายสมัยพระเจ้านันทบุเรง พม่าตอนล่างเกิดการจลาจลต่อเนื่อง โดยเฉพาะสงครามกับอยุธยาที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพประชิดกรุงพะโค พ.ศ. 2138 คราวนั้นกองทัพเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองแปร และเจ้าเมืองตองอูนำกำลังมากู้สถานการณ์ช่วยพระเจ้านันทบุเรง แม้ทัพอยุธยาจะถอนกลับไป แต่หลังจากนั้นอาณาจักรตองอูยุคต้นได้แตกสลายออกเป็นหัวเมืองน้อยใหญ่ที่แข่งขันอำนาจกันเองโดยสมบูรณ์ (นายต่อ, 2545 : 162-177; พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์)

ความแตกแยกภายในพม่าขยายวงกว้าง เมื่อเจ้าเมืองแปรก่อกบฏและไล่ตีเอาหัวเมืองตลอดฝั่งแม่น้ำอิรวดีมาไว้ในอำนาจ ชาวรามัญและเชลยศึกในพะโคก็เริ่มก่อจลาจลและอพยพออกจากเมือง เจ้าเมืองตองอูชักชวนกษัตริย์อาระกันยึดอำนาจราชสำนักพะโค ซึ่งสำเร็จใน พ.ศ. 2141 และเมื่อทราบข่าวสมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาตีพะโค จึงกวาดต้อนผู้คนพร้อมทั้งแบ่งทรัพย์สมบัติกลับไปยังตองอูและอาระกัน พระเจ้านันทบุเรงได้รับการเชิญเสด็จไปเมืองตองอู แต่ถูกนัดจินหน่อง (Natshinnaung) โอรสเจ้าเมืองตองอูลอบปลงพระชนม์ ฝ่ายกษัตริย์อาระกันได้ทำลายเมืองพะโคจนสิ้นสภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้สมเด็จพระนเรศวรใช้เป็นฐานที่มั่นเพื่อใช้ทำสงครามภายหลังได้

ในช่วงเวลาที่ไร้ศูนย์กลางทางอำนาจนี้ ดินแดนพม่าแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. ดินแดนตอนกลาง มีแปรในที่ราบลุ่มอิรวดี และตองอูในที่ราบลุ่มแม่น้ำสะโตง เป็นเมืองสำคัญ บริเวณนี้มีกำลังคนและพื้นที่เพาะปลูก แต่ไม่มีเมืองท่าสำหรับค้าขายทางทะเล

2. ดินแดนตอนใต้ มีพะโคและเมืองท่าสิเรียมอยู่ในการกำกับของทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสที่กษัตริย์อาระกันมอบหมายให้มาประจำการ มีที่ตั้งสะดวกต่อการค้าแต่ขาดพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ ทวาย มะริด และตะนาวศรี อยู่ภายใต้อำนาจกรุงศรีอยุธยา

โดยดินแดนสองส่วนแรกนี้รับผลกระทบจากสงครามและการเกณฑ์แรงงานไปทำสงครามตลอดสมัยตองอูยุคต้นอย่างหนัก

3. ดินแดนตอนบน มีอังวะ และดินแดนเจ้าฟ้าไทใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกและเขตชลประทานขนาดใหญ่ แต่ถูกเกณฑ์ทรัพยากรและไพร่พลน้อยกว่าส่วนอื่น

แผนที่เมียนมา พ.ศ. 2088 (ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Burma_(Myanmar)_in_1545.png)

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ พระเจ้าญองยานจึงสถาปนาอำนาจโดยให้ความสำคัญกับดินแดนตอนบน เดิมพระองค์ให้การสนับสนุนราชสำนักที่พะโคมาตลอด กระทั่งเกิดกบฏเมืองแปรและเจ้าเมืองตองอูกับกษัตริย์อาระกันยึดอำนาจในพะโค พระองค์จึงตั้งตนเป็นอิสระ เร่งขยายอำนาจและสร้างความแข็งแกร่งจากเมืองญองยานของพระองค์ ในช่วงศึกพระนเรศวรที่ยกทัพติดตามเจ้าเมืองตองอู

นอกจากนี้พระองค์ยังขยายอำนาจเข้ายึดหัวเมืองสำคัญในเขตมิตถิลา-ยะมิตเตน, เขตเจ้าเซ, เขตแม่น้ำชินวิน, เขตแม่น้ำมู และเขตมินบู ต่อมาจึงยกทัพไปยึดกรุงอังวะ พงศาวดารพม่าเปรียบว่าพระองค์เป็น “พระมหาสมมติราช” (Mahasamantha) เป็นกษัตริย์ผู้ดับทุกข์เข็ญท่ามกลางความวุ่นวายไร้ระเบียบของแผ่นดินพม่า

ในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรตองอู พระเจ้าญองยานทรงเข้ายึดครองเมืองพุกามและหัวเมืองโดยรอบ หัวเมืองสองฝั่งแม่น้ำอิรวดีตอนบน กวาดต้อนทรัพยากรไปยังอังวะ เจ้าเมืองแปรคิดร่วมมือกับเจ้าเมืองตองอูยกทัพขึ้นเหนือมาตีเมืองอังวะ แต่เกิดกบฏเจ้าเมืองยันหน่าย (Yan-naing) ได้เข้าสังหารบรมวงศานุวงศ์ในเมืองแปรขึ้นเสียก่อน ทำให้หัวเมืองที่เคยขึ้นต่อเมืองแปรจึงหันไปสวามิภักดิ์แก่อังวะ ส่วนเจ้าเมืองตองอูพยายามยึดเมืองแปรแต่ก็ล้มเหลว

ระหว่าง พ.ศ. 2141-2142 พระเจ้าญองยานเสริมความเข้มแข็งในพม่าตอนบน มีการก่อสร้างและปรับปรุงเมืองอังวะ สร้างพระราชวังใหม่ ปีถัดมาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น “พระเจ้าสีหสุระ มหาธรรมราชา” จากนั้นอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูเริ่มดำเนินการขยายอิทธิพลไปยังหัวเมืองเจ้าฟ้าไทใหญ่ในรัฐฉานไปจนถึงเมืองแสนหวี แรงงานคนจากหัวเมืองในฉานนี้เองกลายเป็นกำลังสำคัญตามกรมกองต่าง ๆ ที่พระองค์ได้จัดระบบระเบียบขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม แผนยกทัพลงใต้ไปตีเมืองแปรของพระองค์ยังไม่ทันลุล่วงก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

พระเจ้าอโนเพะลูน ผู้สืบทอดบัลลังก์ดำเนินรอยพระราชบิดา ทรงรวมอำนาจดินแดนพม่า ปราบปรามเมืองแปรและเมืองตองอู ครอบครองดินแดนตอนใต้ ยึดทวายคืนจากอยุธยา ทั้งยังยกทัพไปปราบปรามอาณาจักรล้านนาที่หันไปสวามิภักดิ์ราชสำนักอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร

เมื่อพระเจ้าอโนเพะลูนสถาปนาอำนาจในเชียงใหม่แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2158 ก็ได้กวาดต้อนเชลยศึกล้านนามายังพะโคจำนวนมาก

ครั้น พ.ศ. 2165 ราชสำนักที่อังวะยังส่งกองทัพผ่านเชียงแสนไปตีเอาเชียงรุ่งและสิบสองปันนาได้สำเร็จอีกด้วย ถือได้ว่ากษัตริย์ตองอูยุคฟื้นฟูสามารถขยายขอบเขตพระราชอำนาจได้ยิ่งใหญ่ใกล้เคียงกับยุคพระเจ้าสิบทิศ ขาดแต่อยุธยาและล้านช้างเท่านั้น

กระบวนทัพพม่า วิชากะพยุหะ ตั้งทัพเป็นริ้วขบวนรูปก้ามแมลงป่อง (ภาพจาก กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี, 2514)

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟูกับกรุงศรีอยุธยานั้น แม้ยังมีความเป็นคู่สงครามกันอยู่ แต่เป็นสงครามขนาดเล็ก เพราะการโยกย้ายเมืองหลวงขึ้นเหนือไปยังอังวะ ทำให้ศูนย์กลางอำนาจของพม่าอยู่ห่างไกลรัฐคู่สงครามอย่างอยุธยา ความต้องการรวมอำนาจของชนชั้นนำพม่าเหนืออยุธยาจึงอ่อนแรงลง ทั้งการขยายขอบเขตพระราชอำนาจของกษัตริย์ตองอูยุคฟื้นฟูตั้งแต่พระเจ้าญองยานถึงพระเจ้าอโนเพะลูน กลายเป็นแม่แบบปริมณฑลอำนาจของกษัตริย์พม่าของราชวงศ์ตองอูยุคฟื้นฟู หรือราชวงศ์ญองยานองค์ต่อ ๆ มา ที่พยายามรักษาอำนาจในดินแดนเหล่านี้ และไม่ได้รวมเอาอยุธยาและล้านช้างไว้ในเขตพระราชอำนาจดังกล่าว

ด้วยนโยบายนี้เองอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรนี้ดำรงอยู่ได้กว่า 150 ปี ซึ่งยาวนานกว่าอาณาจักรตองอูยุคต้นในสมัยพระเจ้าบุเรงนองที่มักก่อสงครามขนาดใหญ่กับอยุธยาจนทำให้สูญเสียกำลังและทรัพยากรจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ภมรี สุรเกียรติ. (2553). เมียนมาร์ สยามยุทธ์. กรุงเทพฯ : มติชน.

ต่อ, นาย, ผู้แปล. (2545). มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า. สุจิตต์ วงษ์เทศ,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. (2504). ในพระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา (ฉบับหลวงประเสริฐ และฉบับกรมพระปรมาณุชิตฯ) และพงศาวดารเหนือฉบับวิเชียรปรีชา (น้อย) เล่ม 1. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2562