ปริศนาเทวรูปสำริดเมืองตองอู ที่สัมพันธ์กับการเสียกรุงครั้งที่ 1

เทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณ ที่วัดเมี๊ยะสิกองเมืองตองอู ประเทศพม่า

เมืองตองอู (เมืองเกตุมดี) คือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ตองอู ที่มีกษัติย์ที่คนไทยรู้จักเป็นชื่อเสียงดีก็คือ พระเจ้าบุเรงนอง ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปสู่กรุงหงสาวดีและแผ่ขยายอำนาจจนกลายเป็นมหาอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากเมืองตองอูยังมีเป็นที่ตั้งของศาสนสถานเก่าแก่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งในจำนวนนั้นมีวัดหนึ่งที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 นั่นก็คือ “วัดเมี๊ยะสิกอง”

ในปี 2562 ธีรพงศ์ เรืองขำ เดินทางไปเมืองตองอู เขาได้เข้าชมวัดเมี๊ยะสิกอง ก่อนจะกลับมาเขียนบทความชื่อว่า “การค้นพบและปริศนาเทวรูปสำริดแห่งเมืองตองอู” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยผนวกสิ่งที่พบเห็นกับหลักฐานเอกสารเก่าหลายชิ้น เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความมีดังนี้


“ภายในวัดเมี๊ยะสิกองแห่งนี้เป็นวัดที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ไทยช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 และยังคงปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์พยานจากโบราณวัตถุ 3 ชิ้น

ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นแรกตามหลักฐานของพม่าได้บันทึกเรื่องราวของพระประธานภายในพระเจดีย์ว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่พระเจ้าบุเรงนองอัญเชิญจากกรุงศรีอยุธยา และทรงถวายเครื่องทรงแบบพม่าให้เป็นแบบเดียวกับพระมหามัยมุนีของอาณาจักรยะไข่ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิด “จักรพรรดิราช” ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่สามารถพิชิตอาณาจักรอยุธยาได้…

เทวรูปสำริดช้างเอราวัณ ที่วัดเมี๊ยะสิกองเมืองตองอู

ส่วนโบราณวัตถุอีก 2 ชิ้น เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจและประทับใจให้กับผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง คือ เทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณ เพราะแต่เดิมเคยเชื่อกันว่ามีเทวรูปสำริด 6 ชิ้น หลงเหลืออยู่ในประเทศเมียนมานับตั้งแต่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้นำกลับกรุงหงสาวดีภายหลังทรงพิชิตกรุงศรีอยุธยาเสร็จสิ้นแล้ว ดังปรากฏใน ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด ความว่า

‘อนึ่งรูปสิบสองนักษัตรที่ไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญอยู่นั้น อันรูปเหล่านี้เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงแล้ว จึงสั่งให้ช่างพราหมณ์ปั้นรูป แล้วจึงหล่อไว้ด้วยทองสัมฤทธิ์เป็นรูปสิบสองนักสัตว์ ทั้งรูปมนุษย์เปนรูปพราหมณ์ มีรูปช้างเอราวัฬ รูปม้าสินธพ รูปคชสีห์ รูปราชสีห์ รูปนรสิงห์ รูปสิงห์โต รูปโคอุศุภราช รูปกระบือ รูปกระทิง รูปหงส์ รูปนกยูง รูปนกกระเรียน สัตว์มีสิ่งละคู่ พระเจ้าอู่ทองทำถวายในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระเจ้าหงษาเห็นรูปเหล่านี้ก็ชอบพระทัย จึงแบ่งเอามาตามที่ชอบพระทัย คือรูปช้างเอราวัฬ รูปม้าสินธพ รูปราชสีห์ รูปคชสีห์ รูปสิงห์ รูปมนุษย์ อันนอกกว่านี้มิได้เอาสิ่งใดมา…’

หากแต่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกเหตุการณ์สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ได้ยกกองทัพไปตีเมืองนครหลวงหรือนครธมในปี พ.ศ. 1974 จนได้อาณาจักรกัมพูชาเป็นประเทศราช และทรงนำสิ่งของมีค่าต่างๆ รวมทั้งเทวรูปสำริดกลับกรุงศรีอยุธยา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุและพระราชวังหลวง ซึ่งต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโปรดให้ยกพระราชวังหลวงขึ้นเป็นเขตพุทธาวาสและพระราชทานนามว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์

จึงน่าจะเป็นความเข้าใจของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงรัตนปุระอังวะว่าครั้งหนึ่งเคยมีเทวรูปสำริดอยู่ในบริเวณพระราชวังหลวงเดิมหรือวัดพระศรีสรรเพชญ์…ส่วนประเด็นที่ว่าเทวรูปสำริดจะเป็นเทวรูปที่พระเจ้าอู่ทองทรงหล่อหรือเจ้าสามพระยาทรงนำมาจากนครธม ยังคงเป็นประเด็นที่ควรแก่การวินิจฉัยต่อไป

กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงนำเทวรูปสำริดไปยังกรุงหงสาวดีได้ 30 ปี ถึง พ.ศ. 2142 พระเจ้าเมงเยสีหตู ทรงเชิญเสด็จพระเจ้านันทบุเรงประทับยังเมืองตองอู ก่อนการเสด็จมาถึงของกองทัพสมเด็จพระนเรศวร กองทัพยะไข่จึงเข้าปล้นและเผากรุงหงสาวดี โดยได้นำเทวรูปสำริดไปตั้งไว้เป็นเครื่องบูชา ที่วัดมหามัยมุนีในเมืองมรัคอูของอาณาจักรยะไข่เป็นระยะเวลา 180 ปี จวบจนกระทั่ง พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุงทรงโปรดให้พระมหาอุปราชสะโตธรรมราชายกกองทัพไปพิชิตอาณาจักรยะไข่ และทรงอัญเชิญพระมหามัยมุนีมายังกรุงอมรปุระหรือเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน พร้อมทั้งนำเทวรูปสำริดมาตั้งไว้เป็นเครื่องบูชาเหมือนดังที่ตั้งไว้ในเมืองมรัคอู

เรื่องราวของเทวรูปสำริดเหล่านี้ได้รับการบันทึกและยืนยันจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ในงานนิพนธ์เรื่อง ‘เที่ยวเมืองพม่า’…ความตอนหนึ่งว่า

‘อีกอย่างหนึ่งในวัดยักไข่นี้ คือ รูปภาพของโบราณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นรูปพระอิศวรยืน สูงสัก 3 ศอก 2 รูป รูปช้างเอราวัณ สูงสัก 2 ศอกเศษ รูปหนึ่ง กับรูปสิงห์ 3 รูป (แต่หัวเดิมหายหมดแล้ว ช่างพม่าหล่อหัวใหม่ ไม่รู้จักแบบหัวสิงห์เขมร ทำหัวกลายเป็นสิงห์พม่าไป) รวมทั้งสิ้น 6 รูปด้วยกัน ตั้งไว้กลางแจ้งที่บนแท่นริมกำแพงในบริเวณวัด’…

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเผยแพร่เรื่องราวของเทวรูปสำริดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ 6 ชิ้น ณ วัดยะไข่ เมืองมัณฑะเลย์ นักประวัติศาสตร์และคนไทยส่วนใหญ่ต่างก็รับรู้และให้ความสนใจเรื่อยมา เนื่องจากพระมหามัยมุนีเป็น 1 ใน 5 มหาสักการะสถานตามความเชื่อของชาวเมียนมา และเมืองมัณฑะเลย์ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเมืองท่องเที่ยวหลักของคนไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับเมืองตองอูที่คนไทยน้อยคนนักจะได้มีโอกาสไปเยือนเพราะความห่างไกลและไม่อยู่ในเส้นทางเมืองท่องเที่ยวหลักของคนไทยในปัจจุบัน

บางส่วนของเทวรูปสำริด 6 ชิ้น ที่วัดนะไข่ เมืองมัณฑะเลย์ (พ.ศ. 2559)

ดังนั้น การค้นพบเทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณอีก 2 ชิ้น ณ วัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เขียน [ธีรพงศ์ เรืองขำ] มีความปรารถนาที่จะทำความเข้าใจและสืบสาวเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และค้นพบข้อแตกต่างจากเทวรูปสำริด 6 ชิ้น ในวัดยะไข่ เมืองมัณฑะเลย์ อย่างน้อย 3 ประการ [ลักษณะสีโลหะ, ลักษณะสีสนิม, ลักษณะศิลปะ]

จากการพิจารณาความแตกต่างทั้ง 3 ประการข้างต้นระหว่างเทวรูปสำริด 6 ชิ้น ที่วัดยะไข่ เมืองมัณฑะเลย์ กับเทวรูปสำริด 2 ชิ้น ที่วัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู จึงมีความเป็นไปได้ว่าเทวรูปสำริดทั้ง 8 ชิ้น จะมิได้หล่อในคราวเดียวกันตามความแตกต่างของสีโลหะและสีสนิม นอกจากนี้ ลักษณะโครงพระพักตร์ของเทวรูปสำริดมนุษย์จากวัดเมี๊ยะสิกองมีความคล้ายคลึงกับโครงพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อันเป็นลักษณะของศิลปะเขมรบายน ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของการสร้าง ‘รูปแทนบุคคล’ ตามประเพณีการบูชาบุคคลในวัฒนธรรมเขมร และให้ความเคารพนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

…ตลอดจนถ่ายทอดวัฒนธรรมดังกล่าวในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาและเป็นต้นแบบให้กับพระพักตร์เทวรูป พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป จนพัฒนากลายเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ 17-19) ก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่าอาจเป็นเทวรูปที่พระเจ้าอู่ทองทรงหล่อขึ้นตาม ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’

ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการค้นพบในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการที่สนใจเดินทางไปพิสูจน์ลักษณะของศิลปะเทวรูปมนุษย์ที่วัดเมี๊ยะสิกองจนได้ข้อยุติ หากแต่ประเด็นที่น่าคิดอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า เทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณทั้ง 2 ชิ้น ไปอยู่ที่วัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู ได้อย่างไร และไปอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่

ข้อสันนิษฐานประการแรกที่แต่เดิมผู้เขียนเห็นว่ามีน้ำหนัก คือ เหตุการณ์ในปี พ.ศ. ๒๑๔๒ เมื่อพระเจ้าเมงเยสีหตูเชิญเสด็จพระเจ้านันทบุเรงไปประทับยังเมืองตองอู ก็เป็นไปตามการบันทึกไว้ใน “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ความว่า

‘…พระเจ้าหงษาวดีทรงเห็นชอบด้วย พระองค์จึงเก็บรวบรวมพระพุทธรูปแลพระไตรปิฎกกับสมณ ชีพราหมณ์ ราษฎรชายหญิงพม่า แขก สยาม แลทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็เสด็จยกไปอยู่ ณ เมืองเกตุมดีสิ้น…’

เทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณก็อาจเป็นหนึ่งใน ‘ทรัพย์สิ่งของทั้งปวง’ ที่พระเจ้านันทบุเรงทรงให้เก็บรวบรวมไปจากกรุงหงสาวดี ประกอบกับวัดเมี๊ยะสิกองอยู่ภายในกำแพงเมืองตองอู และมีความสำคัญต่อราชวงศ์ตองอู จึงอาจถูกนำไปถวายเป็นเครื่องบูชาในเวลาต่อมาก็เป็นได้

หากแต่ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่าข้อสันนิษฐานประการแรก คือ การได้ไปชมนิทรรศการภายในพระราชวังกัมโพชธานีแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติของพระเจ้าบุเรงนอง ทำให้ทราบว่ากรมโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเมียนมารับทราบถึงการนำเทวรูปสำริดของพระเจ้าบุเรงนองมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏภาพเทวรูปสำริด 7 ชิ้น จากทั้งหมด 8 ชิ้น ในวัดยะไข่ เมืองมัณฑะเลย์ และวัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู แต่ไม่มีคำบรรยายภาพแต่อย่างใด

อีกเหตุผลสำคัญที่ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานข้างต้น ก็คือ พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งตลอดรัชสมัยอันรุ่งโรจน์ของพระองค์ทรงประกอบพิธีถวายทองคำเท่าน้ำหนักตัวเป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยทรงถวายธีต่อ (Hti – Taw) หรือฉัตรยอดพระเจดีย์แด่พระเจดีย์ไจ้ก์ทิโยหรือพระธาตุอินทร์แขวน และพระเจดีย์เมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู อันเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาและต้องมีความหมายต่อพระองค์เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงพระชาติกำเนิดของพระองค์ทรงเป็นสามัญชนและใช้ชีวิตเมื่อยังทรงพระเยาว์ที่เมืองตองอู จนกระทั่งเมงเยสีหตู พระราชบิดาของพระองค์ได้เป็นพระเจ้าตองอู และมีการสร้างวัดเมี๊ยะสิกอง ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่พระองค์ทรงเลือกเสด็จมาประกอบพิธีถวายธีต่อทองคำ เท่าน้ำหนักตัว และมีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางมารวิชัยจากกรุงศรีอยุธยาและถวายเครื่องทรงแบบพม่าเฉกเช่นพระมหามัยมุนีเป็นพระประธานประจำพระเจดีย์วัดเมี๊ยะสิกอง

บทสรุปของข้อสันนิษฐานที่ว่าเทวรูปสำริดมนุษย์และช้างเอราวัณ 2 ชิ้น ไปอยู่ที่วัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู ได้อย่างไร และไปอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น คำตอบที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ พระเจ้าบุเรงนองทรงนำไปถวายเป็นเครื่องบูชาพระมหามัยมุนีจำลองที่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยจากกรุงศรีอยุธยา ในช่วงเวลาประมาณหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 จนถึงปี พ.ศ. 2124 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของพระองค์

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียน [ธีรพงศ์ เรืองขำ] หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเทวรูปสำริดที่พระเจ้าบุเรงนองทรงนำไปจากกรุงศรีอยุธยาและยังคงหลงเหลืออยู่ในประเทศเมียนมา จะได้รับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเสียใหม่ว่ามีทั้งสิ้น 8 ชิ้น และต่างก็เป็นเครื่องบูชาพระมหามัยมุนีทั้งองค์จริงและองค์จำลองมาตลอดระยะเวลา 450 ปี แบ่งออกเป็นเทวรูปมนุษย์ 3 ชิ้น รูปช้างเอราวัณ 2 ชิ้น และรูปสิงห์ 3 ชิ้น และผลจากการค้นพบเทวรูปสำริด มนุษย์และช้างเอราวัณ 2 ชิ้น ที่วัดเมี๊ยะสิกอง เมืองตองอู เพิ่มขึ้นจากเดิมก็ย่อมเป็นการจุดประกายความหวัง ว่าอาจมีเทวรูปสำริดที่รอคอยการค้นพบหรือการเผยแพร่ในประเทศเมียนมาอีกก็เป็นได้”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2564