ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า ทัศนะผู้นำ-ข้อมูลกลับตาลปัตร หรือยืนยันตามไทย?

สมเด็จพระนเรศวร ชนช้าง สงครามยุทธหัตถี
จิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน “สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” เขียนโดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2”)

ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า ทัศนะผู้นำ-ข้อมูลกลับตาลปัตร หรือยืนยันตามไทย?

ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับไทยไม่ว่าจะเป็นลาว, กัมพูชา, พม่า ฯลฯ นอกจากสัมพันธ์อันดีแล้ว บางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้นด้วย และแน่นอนว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มีการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้มากน้อยตามเหตุผลของแต่ละประเทศ

โดยทั่วไปประชาชนแต่ละประเทศจึงได้รู้จักประเทศและวีรกรรมของบรรพชนตนเอง ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน จากเอกสารทางการ, แบบเรียน, ภาพยนตร์, สิ่งพิมพ์ต่างๆ ฯลฯ ที่ผลิตจากประเทศของตนเองเป็นหลัก

แล้วประเทศเพื่อนบ้านของเราเล่ามองเหตุการณ์เดียวกันนั้นเช่นไร ?

ชาวพม่าคล้องช้างป่าเพื่อนำมาใช้ในการสงคราม

นี่คือเรื่องที่เรากำลังจะเชิญชวนท่านผู้อ่านมาติดตามไปด้วยกัน กับบทความชื่อ “ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า” ของ ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการไทยผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561

ครั้งนี้อาจารย์สุเนตรค้นคว้าเอกสารกว่า 30 รายการ โดยเอกสารพม่านั้นจะคัดเลือกเฉพาะหลักฐานสำคัญที่นักประวัติศาตร์พม่า และนานาชาตินิยมใช้อ้างอิงในการนำเสนอผลงาน

หลักฐานพม่าที่ใช้ได้แก่ 1. เจ๊าสา – ศิลาจารึกของพม่า  2. อเยดอโปง – วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ ประเภท พระราชประวัติ, พระราชกรณียกิจที่สำคัญของกษัตริย์ 3. ยาสะเวง/ยาสะวิน – พงศาวดาร  และหลักฐานประเภทอื่นๆ ได้แก่ ตะบอง – เพลงยางพยากรณ์ เป็นต้น

เอกสารที่อาจารย์สุเนตรยกมานั้นกล่าวถึงการศึกครั้งสำคัญของไทย-พม่า เช่น ศึกเมืองเชียงกราน, สงครามช้างเผือก, ยุทธหัตถี, สงครามเก้าทัพ ฯลฯ

ในที่นี้ขอยกกรณี “สงครามเมืองเชียงกราน” มากล่าว เมืองเชียงกรานเป็นหัวเมืองชายแดนทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พลเมืองเป็นมอญ ไทยถือเป็นเมืองขึ้นมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย

ทหารม้าพม่าสมัยคองบอง แต่งเครื่องยศ สวมเกราะ

สงครามเมืองเชียงกรานเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2081 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าของไทย และพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ของพม่า

นักประวัติศาสตร์ฝ่ายไทยถือว่านี่เป็นสงครามระหว่างอยุธยากับพม่าครั้งแรก โดยพม่าเป็นฝ่ายบุกรุก

แต่เทียบกับเอกสารพม่าล่ะก็ กลับตาลปัตร!!!

พงศาวดารพม่าฉบับอูกาลา ที่อาจารย์สุเนตรใช้เทียบไม่ได้กล่าวถึงสงครามเมืองเชียงกรานเลย

อาจารย์สุเนตรอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

“เมื่อได้สอบกับพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาแล้วเห็นว่าข้อสมมติฐานนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะนอกจากอูกาลาจะไม่กล่าวถึงสงครามครั้งนั้นแล้ว ในทางตรงกัน ข้ามประเด็นที่ว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกมาตีเมืองเชียงกราน ในปี ค.ศ. 1538 [พ.ศ.2081] นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เพิ่งจะยกทัพมาตีได้หงสาวดี

ต่อจากนั้นยังต้องหันไปขับเคี่ยวกับแปรและเจ้าฟ้าฉานเป็นศึกใหญ่ยืดเยื้อกว่าจะรวมอาณาจักรได้ ซึ่งเกิดก่อนจะยกกองทัพมาตีพระเจ้าสอพินยา เจ้าเมืองเมาะตะมะ ในปี ค.ศ. 1541 [พ.ศ. 2084] ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิด 3 ปีหลังศึกเชียงกราน

เพราะฉะนั้นศึกเชียงกรานจึงควรเป็นศึกที่ฝ่ายไทยรุกรบเข้าไปในเขตหัวเมืองมอญมากกว่าจะเป็นเรื่องที่พม่ารุกรานเข้ามา”

เอกสารพม่าอีกรายการหนึ่ง คือ อลองพญาอเยดอโปง – วรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอลองพญา

อลองพญาอเยดอโปงแสดงให้เห็นว่า ทัศนคติของกษัตริย์พม่าที่มีต่อไทย พระนามอลองพญาที่มีความหมายว่า “ราชาโพธิสัตว์” ได้นำมาอ้างอิงถึงความชอบธรรมในการศึก ดังจะเห็นได้จากบันทึกกล่าวถึงพระราชสาส์นที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ส่งโต้ตอบกันว่า

พระราชสาส์นจากพระเจ้าอลองพญาถึงพระเจ้าเอกทัศน์ก่อนจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาความว่า

เราธรรมราชาโพธิสัตว์ กรีธาทัพมาครั้งนี้ปรารถนาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นอยุธยาซึ่งยังไม่บริสุทธิ์ผ่องแผ้วให้บริสุทธิ์

พระมหากษัตริย์อยุธยาก็หาได้ยกออกมารับทัพเพื่อหยั่งสรรพกำลังแห่งเรา ทั้งยังไม่ยอมศิโรราบส่งช้าง ม้า ราชโอรสธิดาออกถวายเรา

เราธรรมราชาโพธิสัตว์ผู้มีปณิธานจะมุ่งเป็นพระพุทธเจ้า ขอแสดงน้ำพระทัยปลดปล่อยเจ้าเมืองสุพรรณบุรีอำมาตย์ใหญ่ (ตอนที่พระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีจับเจ้าเมืองสุพรรณบุรีได้) ผู้ตกเป็นเชลยแห่งเราคืนให้พระองค์”

พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชสาส์นตอบไปว่า

“ดูกรมนุษย์โลกนี้จะมีพระพุทธเจ้าถือกำเนิดได้เพียง 5 พระองค์ คือ พระกกุสันโท พระโกณาคม พระกัสสัปปะ พระโคตมะ

พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ข้างต้นล้วนเสด็จดับขันปรินิพพานแล้วสิ้น ยังก็แต่พระศรีอาริย์ ซึ่งประทับอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นดุสิต

ฉะนั้นผู้ที่อ้างตนเป็นพระโพธิสัตว์ ใคร่รู้นักว่าเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์ไหนแน่ ที่อ้างมาเห็นจะเป็นเท็จ เพราะในโลกมนุษย์นี้พระพุทธเจ้าจะถือกำเนิดก็แต่เพียง 5 พระองค์ จะเพิ่มมาเป็น 6 พระองค์เห็นไม่สม…”

ที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นเพียงบางเหตุการณ์และบางส่วนของเอกสารพม่าที่อาจารย์สุเนตรกล่าวไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและเปิดมุมมองทางประวัติศาสตร์ด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากการรับรู้เดิม ข้อมูลฝ่ายพม่าพลิกการรับรู้และความเข้าใจไทยอย่างไร หรือข้อมูลสนับสนุนหลักฐานข้างฝ่ายไทยอย่างไร?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2563