“แม่หยัว” ฐานะของ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” หมายถึงอะไร เกี่ยวกับ “ดาวยั่ว” ไหม?

แม่หยัว แม่อยู่หัว ท้าวศรีสุดาจันทร์
ใหม่ ดาวิกา ในบทบาทท้าวศรีสุดาจันทร์ ซีรีส์ "แม่หยัว" ช่อง oneD ORIGINAL (ภาพจาก Official Teaser ใน YouTube @one31official)

“แม่หยัว” หรือ “แม่หยัวเมือง” สองคำนี้เมื่อได้ยิน หลายคนคงจะนึกถึง “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นแม่หยัวของอยุธยา ทั้งยังคิดว่าฐานะหรือที่มาของชื่อนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “ดาวยั่ว” เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงพระองค์ในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นการคบชู้กับ “ขุนวรวงศาธิราช” ซึ่งต่อมาทำให้เกิดเหตุการณ์ “กบฏท้าวศรีสุดาจันทร์” ขึ้น (อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ที่นี่)

ทว่าแท้จริงแล้ว คำว่า “แม่หยัว” หรือ “แม่หยัวเมือง” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดาวยั่วเลยสักนิด แล้วคำนี้มีที่มาจากอะไรกันแน่? 

หนังสือ “ท้าวศรีสุดาจันทร์ ‘แม่หยัวเมือง’ ใครว่าหล่อนชั่ว?” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้อธิบายที่มาของคำนี้ไว้อย่างชัดเจน ว่า

“คำว่า ‘หยัว’ หรือ ‘ยั่ว’ เป็นภาษาโบราณ ไม่ได้มีความหมายไปในทาง ‘ดาวยั่ว’ หรือ ‘ดาวโป๊’ ตามภาษาปัจจุบัน เพราะ ‘แม่หยัวเมือง’ อาจกร่อนมาจากคำว่า ‘แม่อยู่หัวเมือง’ (ทำนองเดียวกับคำว่า ‘แม่ศรีเมือง’ ของลาว) หมายถึงสนมเอกคู่บัลลังก์ที่มีราชกุมาร

ในกฎมณเฑียรบาลบางตอนยังใช้คำว่า ‘แม่หยัวเจ้าเมือง’ ต่อมากร่อนเสียงเป็น ‘แม่ยั่วเมือง’”

ส่วน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานเป็นอีกอย่าง พระองค์ทรงคาดว่า “แม่หยัวเมือง” (ในหลักฐานใช้คำว่า แม่หยั่วเมือง) ที่ว่า น่าจะมาจากคำว่า “แม่อยู่เมือง” โดยอธิบายว่าเดิมทีเป็นคำว่าแม่อยู่เมืองมาก่อน แต่มีการเปลี่ยนแปลงของภาษา และทรงยกตัวอย่าง เช่น ตู เป็น ตัว, ผู้ เป็น ผัว (ตัวผู้ตัวเมีย คู่ผัวคู่เมีย) ใช้คำอยู่หัวเป็นคำสูง อยู่เมืองเป็นคำรอง

คำว่า “แม่อยู่เมือง” ก็เหมือนกัน หากใช้หลักการนี้ก็จะกลายเป็น “แม่หยัวเมือง” (ในหลักฐานพระองค์ทรงสะกดว่า แม่อยั่วเมือง)

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะนี้ไว้ว่า

“พระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมืองเป็นมหาอุปราช นี่ก็ทำให้เข้าใจไปว่ามหาอุปราชมีได้หลายองค์เหมือนกัน แต่ที่แท้ก็มีได้แต่คราวละองค์เดียวเหมือนสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า เห็นจะจำกัดว่าตำแหน่งมหาอุปราชจะตั้งได้แต่พระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง

คือว่าแม้พระมเหสีไม่มีพระราชกุมาร จะตั้งพระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมืองขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าเมืองไม่ได้ แต่ถ้าพระราชกุมารอันเกิดด้วยแม่อยั่วเมืองไม่มี จะตั้งพระราชกุมารอันเกิดด้วยมเหสีที่มีเหลืออีกเป็นมหาอุปราชได้หรือไม่ ข้อนี้ไม่กระจ่าง”

แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำว่า “แม่หยัว” หรือ “แม่หยัวเมือง” มีต้นตอมาจากคำไหนกันแน่ แต่สิ่งที่บอกได้ คือ ไม่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ดาวยั่ว” ที่เราเข้าใจในปัจจุบันแน่นอน…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567