ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หากอ้างอิงตาม “พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” จะปรากฏหลักฐานว่า “ขุนวรวงศาธิราช” เป็นบุคคลที่ได้เข้าพระราชพิธีราชาภิเษก เป็น “เจ้าพิภพกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หรือกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ใน “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕” กลับไม่ปรากฏพระนามของพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์
แล้ว “พระองค์” คือใคร กลายมาเป็นพระมหากษัตรย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้อย่างไร?
“ขุนวรวงศาธิราช” เดิมคือ “พันบุตรศรีเทพ” เป็นข้าหลวงเดิมหรือคนที่พระเจ้าแผ่นดินเคยใช้สอยมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ทว่าวันหนึ่งชีวิตของ “ขุนวรวงศาธิราช” ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากได้พบกับ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” (แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์) พระสนมเอกของพระไชยราชาธิราช กษัตริย์แห่งอยุธยาองค์ก่อน และกำลังดำรงตำแหน่งพระราชชนนี
พระราชพงศาวดาร ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้นไว้ว่า
“ครั้นอยู่มานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสด็จไปประพาสเล่น ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระช้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพ จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพ
พันบุตรศรีเทพรับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่านางพระยามีความยินดีรักใคร่ พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่พระนาง พระยานางก็มีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก”
ต่อมา พันบุตรศรีเทพได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนชินราช” รักษาหอพระข้างใน โดยการรับสั่งของท้าวศรีสุดาจันทร์ ส่วนคนที่เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่ “ขุนชินราช” ก็ย้ายไปเป็น “พันบุตรศรีเทพ” แทน
เมื่อขุนชินราชได้เข้าไปรักษาหอพระข้างใน ความสัมพันธ์ระหว่าง “ขุนชินราช” กับ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ก็เริ่มขึ้น ทั้งสองลอบสมัครสังวาสกัน จนในที่สุดก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนวรวงศาธิราช
หลังจากนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้พยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ขุนวรวงศาธิราชครองราชสมบัติแทน “พระยอดฟ้า” พระราชโอรสของพระนางและพระไชยราชาธิราช ที่กำลังจะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์ จึงทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์และ “พระเฑียรราชา” พระเจ้าอาของพระยอดฟ้าว่าราชการแทน
พระนางรับสั่งให้ขุนวรวงศาธิราชปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชี ให้พิจารณาเลกสังกัดสมพัน และให้นำ “ราชอาสน์” หรือพระที่นั่งสำหรับกษัตริย์ ตั้งไว้อยู่ด้านหน้า ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่ง เพื่อขุนนางทั้งหลายจะได้เกรงกลัว
อยู่มาวันหนึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ทรงครรภ์ พระนางจึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาเหล่าขุนนาง และกล่าวว่าขณะนี้พระราชโอรสของพระองค์ยังเด็กเกินไปนัก และหวังจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินแทน
ด้วยอำนาจและความเกรงกลัวของขุนนาง ท้ายที่สุด ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ได้เชิญขุนวรวงศาธิราช เข้ามาในราชนิเวศมณเฑียรสถาน แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิกเษก เป็น “เจ้าพิภพกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หรือพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของอยุธยา
ทว่าท้ายที่สุด “ขุนวรวงศาธิราช” กลับครองราชย์ได้เพียงแค่ 40 กว่าวัน ก่อนจะโดนลอบปลงพระชนม์ พร้อมท้าวศรีสุดาจันทร์และบุตรของตนเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้หลายคนไม่นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งอยุธยา ดังที่ปรากฏในหลักฐาน “ประชุมพงศาวดาร ฉบับที่ ๕” หัวข้อ ศักราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ตรวจสอบใหม่ ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ขึ้น ไม่ระบุพระนามของขุนวรวงศาธิราชในฐานะพระเจ้าแผ่นดินของอยุธยา
กล่าวถึงแค่เพียง พระไชยราชาธิราช-พระยอดฟ้า-พระมหาจักรพรรดิ์
อาจเป็นไปได้ไหมว่า ด้วยเหตุนี้ ความคิดเรื่องพระองค์ไม่ได้เป็นหนึ่งในกษัตริย์แห่งอยุธยาจึงแพร่หลายในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นที่มา “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” แห่งกรุงศรีอยุธยา คือใคร?
- “ท้าวศรีสุดาจันทร์” คบชู้ ลอบสังวาสกับข้าหลวงในวัง ยกตำแหน่งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประชุมพงศาวดาร เล่ม 38 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). องค์การค้าของคุรุสภา: กรุงเทพฯ, 2512.
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 5. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์ไทยพณิชยการ, 2506. สืบค้นเมื่อวันที่ 1963. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:175676.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567