“ท้าวศรีสุดาจันทร์” คบชู้ ลอบสังวาสกับข้าหลวงในวัง ยกตำแหน่งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน?

ท้าวศรีสุดาจันทร์ ใหม่ ดาวิกา ซีรีส์ แม่หยัว
ใหม่ ดาวิกา ในบทบาทท้าวศรีสุดาจันทร์ ซีรีส์ "แม่หยัว" ช่อง oneD ORIGINAL (ภาพจาก Official Teaser ใน YouTube @one31official)

“ท้าวศรีสุดาจันทร์” เป็นหนึ่งใน พระสนมเอก ที่เรียกได้ว่ามีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ใน “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา หลายคนน่าจะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่บ้าง เพราะเป็นสตรีที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ อย่างใน “สุริโยไท” (2544) และ “กบฏท้าวศรีสุดาจันทร์” (2548)

แต่รู้หรือไม่ว่า “พระสนมเอก” รูปงามคนนี้คบชู้ ลักลอบสมัครสังวาสข้าหลวงในวัง และยกตำแหน่งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา

หลังจากที่ “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดากับพระมเหสี แต่มีพระโอรสกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พระนามว่า “พระยอดฟ้า” หรือบางแห่งกล่าวขานว่า “พระแก้วฟ้า” (ในหนังสือเล่มนี้ระบุถึงพระราชโอรสเพียงองค์เดียว แต่หลักฐานอื่น ปรากฏว่ามี 2 พระองค์ อีกพระองค์หนึ่งคือ พระศรีศิลป์)

ทว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชอยู่ในพระราชสมบัติได้ 12 ปี (พ.ศ. 2077-2089) ก็เสด็จสวรรคต

เมื่อเป็นเช่นนี้ “พระยอดฟ้า” จึงขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แต่ด้วยยังทรงพระเยาว์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ขณะนั้นเป็นพระราชชนนี) ก็มีหน้าที่ว่าราชการภายในราชสำนัก ส่วนกิจการบ้านเมืองทั้งหลายก็ได้ “พระเฑียรราชา” พระเจ้าอาของพระยอดฟ้าว่าราชการแทน แต่ผ่านไปไม่นาน พระเฑียรราชาก็ทรงออกจากตำแหน่งและไปผนวช 

ต่อมาเรื่องร้ายแรงก็เกิดขึ้นในราชสำนัก เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์ลักลอบสมัครสังวาสกับ “พันบุตรศรีเทพ” โดยพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ระบุเหตุการณ์ที่ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกว่า 

“ครั้นอยู่มานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสด็จไปประพาสเล่น ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระช้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพ จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพ พันบุตรศรีเทพรับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่านางพระยามีความยินดีรักใคร่ พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่พระนาง พระยานางก็มีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก”

ต่อมา “ท้าวศรีสุดาจันทร์” มีพระเสาวนีย์สั่งพระยาราชภักดี ให้พันบุตรศรีเทพ จากเดิมที่เป็นข้าหลวง ให้เลื่อนตำแหน่งกลายมาเป็น “ขุนชินราช” รักษาหอพระข้างใน และต่อมากลายมาเป็น “ขุนวรวงศาธิราช” 

ตอนนั้น หากใครไม่ยอมเข้าเป็นพวกตน พระนางก็จะรับสั่งให้สังหารหรือให้ออกจากตำแหน่ง ยิ่งทำให้ “ขุนวรวงศาธิราช” มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในที่สุดท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ทรงครรภ์ จึงทำให้พระนางหมายจะให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการแทน โดยให้เหตุผลว่า “พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชกิจการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่ามิปกติ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้

เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ขุนนางใดก็ไม่กล้าขัด ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงเชิญขุนวรวงศาธิราช เข้ามาในราชนิเวศมณเฑียรสถาน แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิกเษก เป็น “เจ้าพิภพกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” 

ความวุ่นวายปั่นป่วนเกิดขึ้นภายในวัง เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์ก็หมายจะลอบปลงพระชนม์พระยอดฟ้า ลูกชายของตนเอง จน ขุนพิเรนทรเทพ, ขุนอินทรเทพ, หลวงศรียศ และหมื่นราชเสน่หา ข้าราชการในวัง เห็นท่าไม่ดี จึงปรึกษาหารือกันว่าจะกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ทิ้ง และถวายราชสมบัติให้กับ “พระเฑียรราชา” แทน 

แล้ววันนั้นก็มาถึง ขุนวรวงศาธิราช ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระศรีศิลป์ และบุตรอีกคนหนึ่ง (ไม่ทราบว่าพระองค์ใด แต่เป็นพระราชบุตร/ธิดาของขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์) เสด็จไปดูช้างที่เพนียด โดยเรือพระที่นั่ง 

เมื่อสบโอกาส ทุกพระองค์ยกเว้นพระศรีศิลป์ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ก่อนมีการนำพระศพทั้งหมดไปเสียบประจานไว้ที่ “วัดแร้ง” เพื่อให้เป็นที่อับอาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประชุมพงศาวดาร เล่ม 38 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). องค์การค้าของคุรุสภา: กรุงเทพฯ, 2512.

https://vajirayana.org//ศาลไทยในอดีต/ท้าวศรีสุดาจันทร์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567