ค้นที่มา “แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” แห่งกรุงศรีอยุธยา คือใคร?

พระสนม ภาพเขียน ทศชาติชาดก เตมิยชาดก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับ กรุงศรีอยุธยา
ในราชสำนักฝ่ายในนอกจาก “พระภรรยาเจ้า” หรือ “พระมเหสีเทวี” แล้ว ยังมีสตรีฝ่ายในอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ “พระสนม” ดังปรากฏเห็นได้ในภาพเขียนทศชาติชาดก เรื่องเตมิยชาดก ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6 กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542

แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นหนึ่งในสตรีที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ “กรุงศรีอยุธยา” ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังโลดแล่นในความรับรู้ของผู้คนยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาพยนตร์ เช่น สุริโยไท (2544) 

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร กล่าวถึงแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ไว้ในบทความ “สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นโอรสของใคร?” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544 ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิและสุโขทัย มีพระชายาองค์หนึ่งคือ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และมีพระราชโอรสกับพระนางสองพระองค์ คือ พระยอดฟ้า และ พระศรีศิลป์ มีพระชนมายุขณะสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต 11 พรรษา และ 5 พรรษา ตามลำดับ

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตแล้ว พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า

“ฝ่ายสมณพราหมณาจารย์มุขมนตรีกวีราชปราชญ์บัณฑิตโหราราชครู สโมสรพร้อมกันประชุมเชิญพระยอดฟ้าพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา เสด็จผ่านพิภพถวัลยราชประเพณีสืบศรีสุริยวงศ์อยุธยาต่อไป และนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนีช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน ในปีนั้นแผ่นดินไหว”

แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์คือใคร?

เรื่องนี้ พิเศษ เผยว่า “ศรีสุดาจันทร์” เป็นชื่อตำแหน่ง มิใช่ชื่อจริงของบุคคล ในหนังสือกฎหมายตราสามดวงซึ่งรวบรวมกฎหมายเก่าๆ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติหลายสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวอยู่ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนว่า นอกจากตำแหน่งศรีสุดาจันทร์แล้ว ก็มี ศรีจุฬาลักษณ์ อินทรเทวี และ อินทรสุเรนทร์ รวม 4 ตำแหน่งนี้เป็นพระสนมเอก ถือศักดินาคนละ 1,000 ไร่

ดังนั้นด้วยแนวคิดทางประวัติศาสตร์ เมื่อปรากฏพระนามศรีสุดาจันทร์เป็นแม่อยู่หัวของสมเด็จพระไชยราชาธิราชในหนังสือพระราชพงศาวดารเพียงพระองค์เดียว ก็ยังน่าเชื่อถือว่า จริงๆ แล้ว สมเด็จพระไชยราชาธิราชน่าจะมีพระชายาองค์อื่นๆ ตามนามตำแหน่งอีก 3 พระองค์ด้วย

น่าเชื่อว่า ตำแหน่งสตรีสูงศักดิ์ทั้ง 4 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งพระชายา มิใช่ตำแหน่งพระสนมเอกดังกล่าวในกฎหมายตราสามดวง เพราะเมื่อมีการตราพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. 1919 ยังไม่มีตำแหน่งพระมเหสี พระชายาทั้ง 4 จึงมีศักดิ์เท่าๆ กัน

ต่อเมื่อพระชายาองค์ใดประสูติพระราชโอรสที่จะได้เสวยราชย์ หรือได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว พระชายาองค์นั้นจึงจะได้รับการยกฐานะขึ้นสูงกว่าพระชายาองค์อื่นๆ เป็น “แม่อยู่หัว” ดังเช่นกรณีนี้ พระชายาศรีสุดาจันทร์ได้เป็นแม่อยู่หัว เพราะโอรสของพระนางคือ “พระยอดฟ้า” ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมาแทนพระราชบิดาคือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช

พิเศษ บอกอีกว่า เป็นไปได้มากว่า การที่หนังสือกฎหมายตราสามดวงอ้างว่า ตำแหน่งพระมเหสีทั้ง 4 ที่กล่าวข้างต้นเป็นตำแหน่งพระสนมเอกนั้น เนื่องจากได้มีพระไอยการที่ตราขึ้นในสมัยหลังเมื่อตำแหน่งพระมเหสีเพิ่มขึ้นมา ตำแหน่งพระชายาทั้ง 4 จึงถูดลดลงเป็นตำแหน่งพระสนมเอก และเอกสารส่วนนี้ได้ถูกนำเข้ามารวบรวมกับพระไอยการที่ตราขึ้นในสมัยก่อนหน้า ซึ่งมิได้กล่าวถึงศักดินาของสตรี รวมไว้ในที่เดียวกันในหนังสือกฎหมายตราสามดวง ผู้อ่านในสมัยหลังจึงอาจเข้าใจผิดได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ตำแหน่งทั้ง 4 เป็นตำแหน่งของพระสนมเอก (ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งพระชายา 4 พระองค์ โดยยังไม่มีตำแหน่งพระมเหสี)

ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระยอดฟ้าครองราชสมบัติ กรุงศรีอยุธยา ได้ 1 ปี 2 เดือน โดยมี แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สำเร็จราชการ พระนางได้แต่งตั้งขุนชินราชให้เป็นขุนวรวงศาธิราชมาช่วยว่าราชการดำเนินการสะสมกำลังอำนาจ แล้วปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้า ขุนวรวงศาธิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา โดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นพระมหสี

ขุนวรวงศาธิราชครองราชย์ได้เพียง 40 กว่าวันเท่านั้น พระองค์และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตรอันเกิดด้วยกัน ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ณ คลองสระบัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2566