ตะแลงแกง กับการประหารชีวิต-เสียบหัวประจานนักโทษคดีล้มราชบัลลังก์

ตะแลงแกง ที่ ประหารชีวิต เสียบหัวประจาร วัดพระราม อยู่ทางขวามือ
ตะแลงแกง เป็นจุดที่อยู่ในย่านใจกลางพระนคร มักใช้เป็นที่ประหารชีวิตและเสียบหัวประจารผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรง ถนนในภาพคือถนนที่ตรงมาจากวังหลวง มองเห็นวัดพระรามอยู่ทางขวามือ

ตะแลงแกง หมายถึง สี่แยกซึ่งเป็นจุดตัดของถนนสายหลักในเกาะเมืองศรีอยุธยา คือ ถนนหน้าวัง กับ ถนนหลังวัง

ถนนหน้าวัง เป็นถนนที่ตัดออกจากหน้าวังหลวงลงไปทางทิศใต้ ผ่านหน้าวัดพระราม ศาลพระกาฬ และย่านป่าถ่ายไปถึงประตูชัย ส่วน ถนนหลังวัง เป็นถนนที่ตัดทางทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จากย่านป่าโทนผ่านสะพานชีกุนไปจดวังหลัง จุดที่ถนน 2 สายนี้มาตัดกันจึงกลายเป็นสี่แยก เรียกว่าตะแลงแกง

Advertisement
ผัง ย่าน ตะแลงแกง
ผังบริเวณย่านตะแลงแกง

ตะแลงแกงจึงเหมือนเป็นจุดกึ่งกลางของพระนคร มีหลักฐานของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนั้นบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ประตูชัยขึ้นมาจนถึงย่านตะแลงแกง เป็นจุดที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีตลาดขายของชำและของสดเช้าเย็น ได้แก่ ตลาดหน้าคุก ตลาดหน้าศาลพระกาฬ คงด้วยเหตุนี้กระมังในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมักใช้ตะแลงแกงเป็นที่ประหารชีวิตและเสียบหัวประจานนักโทษในคดีล้มล้างราชบัลลังก์ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะทำการใหญ่ต่อไป

ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) พระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาและท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งโปรดให้นำมาชุบเลี้ยงไว้หลังทำรัฐประหารยึดอำนาจจากขุนวรวงศาธิราชสำเร็จ ได้ซ่องสุมผู้คนก่อการกบฏ แต่แผนการล้มเหลวเสียก่อน จึงถูกพระราเมศวรและพระมหินทราธิราชพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิปราบปรามลงได้ พระศรีศิลป์ต้องปืนตายระหว่างการต่อสู้กับทหารจากวังหลวง ส่วนผู้ก่อการที่คบคิดกับพระศรีศิลป์ก็ถูกนำตัวไปประหารชีวิตและเสียบหัวประจานที่ตะแลงแกง

ศาลพระกาฬ ทิศใต้ของ ตะแลงแกง
ศาลพระกาฬ อยู่ทางทิศใต้ของตะแลงแกง มีตลาดขายของสดเข้าเย็นอยู่บริเวณหน้าศาล

การประหารชีวิตขนานใหญ่ที่ตะแลงแกงเกิดขึ้นอีกครั้งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-94) พระอาทิตยวงศ์ซึ่งถูกถอดออกจากราชสมบัติไปแล้ว แต่ยังทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ เพราะเห็นว่าเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ต่อมาภายหลังได้คบคิดกับกลุ่มขุนนางที่ยังจงรักภักดีก่อการกบฏขึ้น เมื่อรวบรวมกำลังได้ประมาณ 200 คนแล้ว ก็บุกเข้าไปในพระราชวังหลวงจะจับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปลงพระชนม์ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมิรู้ทันพระองค์ก็เสด็จหนีลงเรือมาลอยลำอยู่ตรงบริเวณฉนวนน้ำประจำท่าฟากแม่น้ำลพบุรี จากนั้นก็โปรดให้เร่งคุมไพร่พลไปปราบกบฏจนแตกพ่าย พระอาทิตยวงศ์และผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับได้ จึงโปรดให้นำไปประหารชีวิตและเสียบหัวประจานที่ตะแลงแกง

เจดีย์วัดเกษ คุ้มขุนแผน คุกเดิม
เจดีย์วัดเกษ อยู่ติดกับคุ้มขุนแผน ซึ่งเป็นบริเวณคุกเดิม

การเดินทางถ้าเริ่มจากหน้าวิหารพระมงคลบพิตร มุ่งหน้าตรงไปจนเจอถนนศรีสรรเพชญ์ จากนั้นให้เลี้ยวขวา จะผ่านหน้าวัดพระรามทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือคือคุ้มขุนแผน หรือบริเวณที่เป็นคุกเดิม ถัดขึ้นไปใกล้ๆ กันเป็นซากโบราณสถานวัดเกษ เมื่อพ้นวัดนี้ไปแล้วจะเห็นสี่แยกมีวงเวียน บริเวณดังกล่าวก็คือย่านตะแลงแกง ซึ่งเคยเป็นสถานที่ลงพระราชอาญาผู้ก่อการกบฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ้นสี่แยกผ่านถนนป่าโทนตรงไป จะเห็นศาลหลักเมืองอยู่ทางขวา ติดกันนั้นเป็นซากอาคารที่เมื่อก่อนคือศาลพระกาฬ ยังปรากฏหลักฐานในเห็นจนทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2560