“นครวัด” งามเด่นอลังการ ด้วยทรัพยากรจากลุ่มแม่น้ำมูล ในภาคอีสาน?

นครวัด เมืองพระนคร กัมพูชา
นครวัด เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา

“นครวัด” หรือ อังกอร์วัด จุดสูงสุดของสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมลุ่มทะเลสาบเขมร ซึ่งเข้าใจว่าสถาปนาโดย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (บ้างสะกด “สูรยวรรมันที่ 2”) สร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนทุก ๆ ปี เมื่อได้ยลความงามและใหญ่โต แต่ทราบหรือไม่ว่า เมื่อแรกสร้างปราสาทนครวัดนั้น ทรัพยากรส่วนสำคัญมาจากดินแดน “ลุ่มแม่น้ำมูล” หรือบริเวณภาคอีสานตอนล่างในปัจจุบัน

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะขบคิดกันมานานแล้วว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ต้องระดมแรงงานมนุษย์และโลหะซึ่งเป็นอุปกรณ์แกะสลักมากมายขนาดไหน เพื่อสร้าง “เมกะโปรเจกต์” นี้ ที่สำคัญคือทรัพยากรเหล่านั้นมาจากแห่งหนใดในอาณาจักรพระองค์?

ศาสตราจารย์มาดแลน จิโต ผู้เขียนหนังสือ Histoire d’Angkor (ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. ประวัติเมืองพระนครของขอม. กรุงเทพฯ : มติชน.) ให้ความเห็นไว้ว่า

“ถ้าเราพิจารณาจาก ‘ปราสาทบาปวน’ หรือปราสาทฐานเป็นชั้น ของ ‘พระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2’ ซึ่งสร้างก่อนปราสาทนครวัดราว 50 ปี เราจะพบว่าขนาดของปราสาทบาปวนเมื่อเทียบกับปราสาทนครวัด มีขนาดเล็กอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ควรจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเขตเมืองพระนคร…”

ข้อสังเกตของศาสตราจารย์มาดแลน มีดังต่อไปนี้

ก่อนสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 คือตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ราชสำนักเมืองพระนครขยายอำนาจสู่ ลุ่มแม่น้ำมูล ดังปรากฏหลักฐานจารึกเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เมืองพระนคร 2 พระองค์คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ในปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ศรีสะเกษ) และปราสาทพนมวัน (นครราชสีมา) เป็นไปได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวคงมีการเคลื่อนตัวของกลุ่มประชากรจากลุ่มแม่น้ำมูลลงมาสู่ทะเลสาบเขมร

นั่นทำให้เกิดบารายตะวันตกของเมืองพระนคร ที่มีขนาดใหญ่โตถึง 8 × 2.2 กิโลเมตร จำเป็นต้องใช้แรงงานมหาศาล ส่วนหนึ่งอาจมาจากผู้คนจากลุ่มแม่น้ำมูลนี่แหละ

ถัดมาคือการปรากฏขึ้นของ “ประติมากรรมสำริด” ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 โปรดให้หล่อรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดิษฐานไว้ที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก กลายเป็นประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปะเขมร (เท่าที่มีการค้นพบ)

ข้อสังเกตคือ ก่อนหน้าสมัยของพระองค์ ประติมากรรมสำริดในวัฒนธรรมลุ่มทะเลสาบเขมรมีน้อยมาก ที่มีก็มักจะเป็นขนาดเล็ก ต่างจากเขตลุ่มแม่น้ำมูลในยุคก่อนเมืองพระนคร ที่พบประติมากรรมสำริดชิ้นสำคัญ ๆ จำนวนมากและขนาดใหญ่กว่าอย่างชัดเจน

วิทยาการหล่อโลหะถือเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง เรียนรู้กันภายในตระกูล จึงชวนให้เชื่อได้ว่าราชสำนักเมืองพระนครได้ช่างหล่อโลหะมาจากเขตลุ่มแม่น้ำมูล เลยสามารถหล่อรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ได้

ในเวลาต่อมา เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระ เสด็จจากเมืองพิมายมาครองราชย์ที่เมืองพระนคร พระองค์ย่อมนำไพร่พลรวมถึงมูลนายใกล้ชิดมาด้วย จึงเชื่อได้ว่ามีการเคลื่อนย้ายผู้คนจากลุ่มแม่น้ำมูลมาสู่ลุ่มทะเลสาบเขมรอีกระลอก เพราะฐานอำนาจเดิมของราชวงศ์มหิธรปุระคือลุ่มแม่น้ำมูล

หลักฐานทางโบราณคดียังชี้ชัดด้วยว่า ภาคอีสานตอนล่างหรือลุ่มแม่น้ำมูล เป็นแหล่งแร่เหล็กและการผลิตเกลือที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งวงศ์วานมหิธรุประเองก็ใช้ทรัพยากรในถิ่นฐานตรงนี้ของตน สถาปนาปราสาทขนาดใหญ่ 2 หลัง ก่อนการสร้างปราสาทนครวัดเสียด้วยซ้ำ นั่นคือ ปราสาทหินพิมาย และ ปราสาทพนมรุ้ง

เมื่อมองความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรอันพรั่งพร้อมของลุ่มแม่น้ำมูล กับการเกิดขึ้นของปราสาทนครวัด ที่ใหญ่โตผิดหูผิดตาไปจากปราสาทรุ่นเก่าที่อยู่ใกล้เคียง จึงไม่น่าแปลกใจที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้รับมรดกจากวงศ์มหิธรปุระ จะสามารถสร้างปราสาทฐานเป็นไซส์มหึมาอย่าง “นครวัด” ได้

เพราะพระองค์สามารถระดมทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะ “โลหะ” สำหรับเป็นอุปกรณ์ก่อสร้างและแกะสลัก รวมถึงพลก่อสร้าง ชักลากศิลา และส่วนที่ต้องเพาะปลูก เป็นเสบียงเลี้ยงแรงงานจำนวนมหาศาล

ศาสตราจารย์มาดแลน ส่งท้ายประเด็นนี้ว่า ไม่แน่ชัดว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ครองเมืองพระนครนานเท่าใด ส่วนกษัตริย์องค์ถัดมาอย่างพระเจ้าธรณินทรวรรมันที่ 1 ก็ครองราชย์ได้ไม่นาน ต่อมาจึงเป็นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งถึงตอนนั้นอำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระได้หยั่งรากลึกที่เมืองพระนครแล้ว จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่พระองค์จะสถาปนา “ปราสาทนครวัด” ด้วยโครงสร้างแบบฐานเป็นชั้นอันโดดเด่น งามสง่า และดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มาดแลน จิโต ; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. (2566). ประวัติเมืองพระนครของขอม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567