ปราสาท “บรมวิษณุโลก” เปลี่ยนมาเป็น “นครวัด” เมื่อใด ทำไม?

ภาพถ่าย นครวัด หรือ พระบรมวิษณุโลก เมื่อ ค.ศ. 1866 โดย Emile Gsell
ภาพถ่ายนครวัด เมื่อ ค.ศ. 1866 โดย Emile Gsell

แม้ชื่อดั้งเดิมของศาสนสถานอันยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำโตนเลสาบอย่างนครวัด นั่นคือ “พระบรมวิษณุโลก” ตามพระนามหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แต่ชื่อ นครวัด ก็เป็นที่คุ้นหูที่สุดเมื่อเอ่ยถึงสถานที่แห่งนี้ และเป็นคำเดียวกับ “อังกอร์วัด” (Angkor Wat) ที่ชาวเขมรในปัจจุบันใช้กันด้วย

เช่นนั้นชื่อนครวัด – อังกอร์วัด มาจากไหน?

Advertisement

คำว่า “นครวัด” เริ่มปรากฏหลักฐานการขนานนามปราสาทพระบรมวิษณุโลก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ในจารึกที่ลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2175 แต่จารึกก็เรียก “พระพิษณุโลก” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ พระบรมวิษณุโลก ปะปนอยู่ด้วย

จึงอนุมานได้ว่า สมัยนั้นเริ่มเรียก นครวัด กันแล้ว แต่ชื่อเก่าทางการอย่าง พระบรมวิษณุโลก ยังคงอยู่ในความทรงจำและการรับรู้เช่นกัน

ส่วนหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของชื่อ “อังกอร์วัด” คือข้อความว่า “องฺคร วตฺร” ในจารึกรุ่นหลังที่นครวัด ซึ่งระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 2214 ปลายสมัยพระบาทปทุมราชาพญาสูร ของกรุงกัมพูชา และตรงกับกลางแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (หลังสมัยพระเจ้าปราสาททอง)

จึงเป็นไปได้ว่า “องฺคร” น่าจะมาจาก “นคร” ของทางฝั่งอยุธยานี่แหละ และก็ใช้ว่า “องฺคร” เพิ่งมาปรากฏในจารึกหลักนั้นเป็นครั้งแรก เพราะมีร่องรอยสืบย้อนไปถึง พ.ศ. 2168 ที่ระบุว่า “องฺคร อินฺทิปาสฺส”

ศาสตราจารย์มาดแลน จิโต ผู้เขียนหนังสือ Histoire d’Angkor (ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. ประวัติเมืองพระนครของขอม. กรุงเทพฯ : มติชน.) สันนิษฐานว่า “การเรียกศาสนสถานหลังนี้ว่า ‘องฺคร วตฺร’ น่าจะเรียกก่อนหน้า พ.ศ. 2168 ได้ระยะหนึ่ง เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานในจารึก”

จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์คนสำคัญของไทย ให้ความเห็นประเด็นนี้ไว้เช่นกันว่า “จารึกที่ทำเมื่อ พ.ศ. 2214 ได้พบว่าใช้ชื่อ ‘อังครวัตร’ (องฺคร วตฺร) คือ อังกอร์วัตร… ถ้าจะให้กำหนดลงไปก็ต้องประมาณเอาว่าชื่อนครวัด มาเริ่มกำเนิดขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 คือในร้อยปีระหว่าง พ.ศ. 2100 ถึง 2200”

อย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผนที่ราชการทัพไทย ซึ่งเข้าใจว่าเขียนหลังสงครามช่วงรัชกาลที่ 3 ได้ระบุคำว่านครวัด ตรงตำแหน่งปราสาทพระบรมวิษณุโลกแล้ว

รวมถึง พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็ปรากฏข้อความว่า “…จึ่งโปรดให้พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองนครหลวง พระนครทม พระนครวัด เมืองพุทไทยสมัน…”

จึงน่าคิดว่า ราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ คงเรียกศาสนสถานดังกล่าวว่า “นครวัด” ต่อ ๆ กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นอย่างน้อย

ส่วนที่มาของนามที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น หากวิเคราะห์อย่างง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน คงเนื่องมาจาก “พระบรมวิษณุโลก” เดิมเป็นเทวาลัยเนื่องในลัทธิไวษณพนิกายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งบูชาพระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็ทรงถือว่าพระองค์คือพระวิษณุอวตารลงมาปกครองโลก ปราสาทพระบรมวิษณุโลก จึงเป็นทั้งสถานที่บูชาองค์พระวิษณุและตัวพระองค์เอง (หลังสวรรคต)

แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ เทวาลัยแห่งนี้จึงเปลี่ยนเป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ ซึ่งก็คือ “วัด” และจากความใหญ่โตของ พระบรมวิษณุโลก คนโบราณจึงเพิ่มคำว่า “นคร” ที่แปลว่า เมือง เข้าไปด้วย กลายเป็น “นครวัด” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จิตร ภูมิศักดิ์. (2557). ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง.

มาดแลน จิโต ; ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล แปล. (2566). ประวัติเมืองพระนครของขอม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2567