“สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ไม่ได้มีช้างพระที่นั่งชื่อ “ก้านกล้วย” แต่ชื่อ…?

ก้านกล้วย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภาพก้านกล้วย : สหมงคลฟิล์ม

“ก้านกล้วย” เป็นหนึ่งในตัวละครของภาพยนตร์แอนิเมชันแนวผจญภัยที่ได้รับความนิยมตลอดกาลตั้งแต่ฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน เพราะแม้เวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ ก้านกล้วยก็ยังได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ จนหลายคนเข้าใจกันไปจริง ๆ ว่า “ก้านกล้วย” คือชื่อช้างพระที่นั่งของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วชื่อช้างพระที่นั่งของกษัตริย์พระองค์นี้ไม่ได้ชื่อก้านกล้วย ทว่าคือ…

ชื่อช้างพระที่นั่งของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” คือ “พลายภูเขาทอง” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “พลายพุทรากระแทก” ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการแต่งตั้งชื่อใหม่ว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” เมื่อได้ขึ้นระวางเป็นช้างพระที่นั่งของพระนเรศวร

เหตุการณ์ที่หลายคนจำไม่ลืม และปรากฏอยู่ในภาพยนตร์คือฉากศึก “สงครามยุทธหัตถี” ซึ่งเป็นการทำสงครามบนหลังช้างอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ ระหว่าง “พระนเรศวร” และ “พระมหาอุปราชา” เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2135

ครั้งนั้น พระเจ้านันทบุเรง ได้รับสั่งให้ พระมหาอุปราช (พระราชโอรส) และทหารจำนวนมาก มาตีกรุงศรีอยุธยาหวังต้องการเป็นเมืองขึ้น ด้านพระนเรศวรทราบข่าว ก็ได้เตรียมไพร่พลมากมายไปตั้งทัพที่สุพรรณบุรี 

ทว่าเมื่อสงครามเริ่มขึ้น ทางฝ่ายอยุธยากลับตกเป็นรอง จึงทำให้พระนเรศวรคิดหาวิธีการในการกลับมาเอาชนะ กระทั่งได้เห็นพระอุปราชาที่กำลังทรงช้างใต้ต้นไม้ จึงได้ตรัสถามอีกฝ่าย ซึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ปรากฏไว้ว่า

“พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ไยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้พระมหาอุปราชาไสช้างออกมา เพื่อทำยุทธหัตถีร่วมกันกับพระองค์ โดยช้างพระที่นั่งของพระมหาอุปราช คือ “พลายพันธกอ” (หรือใครหลายคนอาจจะคุ้นหูชื่อในหนังก้านกล้วยว่า ช้างตาแดง)

ว่ากันว่า พลายพันธกอ มีลักษณะสูงใหญ่กว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพเป็นอย่างมาก จึงทำให้ช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรเสียหลัก ยามพลายพันธกอวิ่งเข้ามาชน จนพระมหาอุปราชาสามารถใช้พระแสงของ้าวฟันพระนเรศวรได้ ทว่าโชคดีที่พระองค์เบี่ยงหลบทัน โดนแค่เพียงพระมาลาหนัง (หมวก) อย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์

หลังจากนั้น โอกาสของพระนเรศวรก็มาถึง เจ้าพระยาไชยานุภาพได้พุ่งเข้าชนพลายพันธกอกลับบ้าง พระนเรศวรจึงใช้แสงของ้าวของพระองค์ฟันพระมหาอุปราชา โดนเข้าที่พระอังสะขวา (บ่า) จนทำให้พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างทันที

หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม บ้านเมืองกลับมาสงบสุข พลายภูเขาทองหรือเจ้าพระยาไชยานุภาพ ก็ได้รับพระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” และเมื่อเข้าปี 2139 หลังจากสงครามยุทธหัตถีได้ 4 ปี เจ้าพระยาปราบหงสาวดีก็ล้มลง ซึ่งพระนเรศวรก็ได้โปรดให้มีการจัดงานมหรสพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน และหลังจากนั้นพระนเรศวรก็ไม่ได้ทรงช้างเชือกไหนอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/news/article_63040

https://www.silpa-mag.com/history/article_17774


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2567