เรื่องจริงของตัวละครดังจากอนิเมชั่นอิงประวัติศาสตร์ “ก้านกล้วย”

ประเทศไทยของเรานั้น มีสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเอกราชและอิสระคือช้าง และช้างนั้นถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่เป็นของพรีเมี่ยมของไทยเลยทีเดียว เพราะว่าช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งในการทำศึกสงครามต่าง ๆ หรือแม้แต่การเดินทาง ซึ่งหากพูดถึงช้างแล้ว เด็กไทยหลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อช้างที่อยู่ในภาพยนต์อนิเมชั่นชื่อดังอย่าง “ก้านกล้วย” มาบ้างแล้ว ซึ่งเนื้อเรื่องในภาพยนต์นั้นบอกเล่าถึงความเป็นมาของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งที่ทำสงครามยุทธหัตถี และหลาย ๆ คนก็มีความเข้าใจผิดว่าช้างพระที่นั่งนั้นมีชื่อว่าก้านกล้วยจริง ๆ

แท้จริงแล้วนั้น ชื่อก้านกล้วย เป็นเพียงแค่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เนื้อเรื่องในภาพยนตร์นั้นมีความน่ารักและสดใสมากขึ้น แต่ในประวัติศาสตร์แท้จริงนั้น ช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรมีชื่อว่า พลายภูเขาทอง (หรือในชาวกรุงเก่าเรียกขานว่า พลายพุทรากระแทก) ซึ่งหลังจากพลายภูเขาทองได้ขึ้นระวางเป็นช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรจึงได้แต่งตั้งให้มือชื่อว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ และหลังจากการทำสงครามยุทธหัตถีและได้รับชัยชนะจึงได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาปราบหงสาวดี นั่นเอง

ในปีพ.ศ. 2135 พระเจ้านันทบุเรง เป็นพระราชาของชาวพม่า ได้รับสั่งให้ทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาเพื่อหวังจะให้กรุงศรีนั้นตกเป็นเมืองขึ้น แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบจึงได้เตรียมไพร่พลไปตั้งค่ายรอทัพอยู่ที่สุพรรณบุรี และเมื่อถึงคราวรบนั้น พระนเรศวรทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาได้ทรงช้าง อยู่ใต้ร่มไม้

ซึ่งขณะนั้นฝั่งพระนเรศวรเองก็กำลังเสียเปรียบกองทัพของฝั่งหงสา จึงได้ตรัสถามกับทางพระมหาอุปราชาไปว่า “พระเจ้า พี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว”

เมื่อพระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสยช้างมาเพื่อทำยุทธหัตถีร่วมกันกับพระนเรศวร ซึ่ง ณ ตอนนั้นพระมหาอุปราชาได้ทรงช้างนามว่า พลายพันธกอ ซึ่งมีขนาดใหญ่และสูงกว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพอย่างมาก และเมื่อพลายพันธกอได้วิ่งเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพ จึงทำให้เจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาจึงได้สบโอกาสโดยใช้พระแสงของ้าวฟันพระนเรศวร แต่พระองค์ทรงเบี่ยงหลบทันจึงทำให้พระมหาอุปราชาฟันไปโดนพระมาลาหนัง(หมวก)ของพระองค์แทน

จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพจึงได้พุ่งเข้าชนพลายพันธกอกลับจนเสียหลักเช่นกัน สมเด็จพระนเรศวรจึงใช้แสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชา และฟันโดนที่พระอังสะขวา(บ่า) ทำให้พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้างในทันที

หลังจากการทำสงครามสิ้นสุดลง เจ้าพระยาปราบหงสวาดีก็ได้ล้มลงในปี พ.ศ.2139 หลังจากการทำศึกยุทธหัตถี 4 ปี สมเด็จพระนเรศวรก็ได้โปรดให้มีการสร้างเมรุและพระราชมทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติเจ้าพระยา โดยได้โปรดให้มีงานมหรสพถึง 7 วัน 7 คืน และหลังจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรก็ไม่ได้ทรงช้างเชือกไหนอีกเลย

จากประวัติศาสตร์นั้นจะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วเนื้อเรื่องบางส่วนของ ก้านกล้วย ก็ยังคงมีการดำเนินเรื่องตามประวัติศาสตร์อยู่บ้างในการทำศึกสงคราม เพียงแต่เนื้อหาบางส่วนของตัวละครหลักอย่าง เจ้าพระยาปราบหงสาวดี อาจจะไม่ได้มีการใช้ชื่อจริง ๆ เท่านั้นเอง ทาง www.โรงงานของพรีเมี่ยม.com ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ของไทยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้กอบกู้เอกราชของไทยเพื่อให้เราสามารถยืนอยู่บนแผ่นดินไทยนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ