ทำไม “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ทรงมีพระนามว่า “พระบรมโกศ”?

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พรหมลิขิต พระบรมโกศ
ภาพ : FB Ch3Thailand

เคยสงสัยไหม ทำไม “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระนามว่า “พระบรมโกศ” ทั้งที่เป็นพระนามที่มักเรียกกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว?

บุหลง ศรีกนก อดีตนักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ผู้เขียนหัวข้อ ราชประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย : กรณีศึกษาพระราชพิธีราชาภิเษก ในหนังสือ “ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ในเคยเสื่อม” (ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์มติชน) ได้อธิบายเรื่องนี้ โดยยกพระราชวินิจฉัยใน พระราชกรัณยานุสร ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงกล่าวไว้ว่า

“ส่วนพระนามพระบรมโกศนั้น ทรงอธิบายว่า เป็นคำที่ราษฎรเรียกพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เพราะหลังจากเสด็จสวรรคต พระราชโอรสสองพระองค์ก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา นอกจากนี้ยังทรงพระวินิจฉัยว่า หลังจากเสียกรุง ข้าราชการเก่าๆ ประชุมกันตั้งบ้านเมืองล้วนเป็นข้าราชการในพระบรมโกศและพระราชโอรสในพระบรมโกศ คำว่าในพระราชบรมโกศ จึงเรียกต่อกันมา”

นอกเหนือจากพระนามที่เราคุ้นหูกันอย่าง “พระบรมโกศ” พระองค์ยังทรงมีพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏด้วย นั่นคือ “พระบรมราชาธิราช” โดยพระนามนี้มีที่มาจากเหตุการณ์คราวพระเจ้าบรมโกศสู้รบกับเจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นการต่อสู้แย่งชิงพระราชบัลลังก์ ระหว่างฝ่ายวังหน้าและพระราชโอรสทั้ง 2 ของพระเจ้าท้ายสระ นั่นคือ เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต่อมา พระองค์ไม่ได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นที่ “พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท” ในพระราชวังหลวงตามราชประเพณี แต่โปรดให้จัดขึ้นที่พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าแทน 

อีกทั้งพระราชพิธีดังกล่าวก็ไม่เสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากระหว่างสู้รบปรบมือกันอย่างดุเดือด ก่อนที่ฝ่ายพระราชโอรสพระเจ้าท้ายสระจะปราชัย และถูกประหารด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ได้นำ “พระขรรค์ชัยศรี” ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมทั้งพระธำมรงค์ และเงินในท้องพระคลังหนีไป และระหว่างทางได้ทรงทิ้งพระแสงขรรค์ชัยศรีลงในแม่น้ำและหาไม่พบ 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” จึงถูกเรียกขานด้วยพระนามดังกล่าว รวมถึงยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ “พระบรมราชาธิราช” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุเนตร ชุตินธรานนท์, บรรณาธิการ. ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าท้ายสระ ฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2566