ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าฟ้าอภัย เป็นพระราชโอรสองค์กลางใน สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้านเรนทร และมีพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าปรเมศร ช่วงท้ายรัชกาล สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย ทำให้ “เจ้าฟ้าพร” พระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระไม่พอพระทัย เกิดเป็นศึกกลางเมืองชิงราชบัลลังก์
แม้ท้ายสุด เจ้าฟ้าอภัย เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำปราชัย แต่การที่พระองค์ได้รับมอบราชสมบัติจากพระราชบิดาแล้ว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า พระองค์นับเป็นกษัตริย์อยุธยาหรือไม่?
เรื่องนี้ กำพล จำปาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา เล่าไว้ในผลงานเล่มล่าสุดคือ พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต: การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
แม้เจ้าฟ้าพรจะทรงเป็นเจ้านายชั้นพระราชอนุชาในพระราชมารดาเดียวกับสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) แต่เมื่อใกล้สวรรคต ผู้ได้รับเลือกจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระให้สืบราชสมบัติ กลับเป็น “เจ้าฟ้าอภัย” พระราชโอรสผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง)
“พระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระนั้นแยกช่วงเวลาอันสั้นหลังสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคตต่อถึงก่อนสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะเข้าพิธีปราบดาภิเษก เป็นอีกรัชกาลหนึ่ง เพราะเจ้าฟ้าอภัยได้ครอบครองเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้รับพระบรมราชโองการจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ อีกทั้งยังเข้าพิธีราชาภิเษกไปแล้วด้วย” กำพลระบุไว้ในหนังสือ
หากดูพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จะพบข้อความตามการสันนิษฐานของกำพลว่า เจ้าฟ้าอภัยรับราชสมบัติจากพระราชบิดาแล้ว ดังความว่า
“…ทรงพระประชวรหนักลง จึงพระราชทานพระราชสมบัตินั้นให้แก่เจ้าฟ้าอภัย พระมหาอุปราชไม่เต็มพระทัย ไม่ยอมอนุญาตให้ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย ถ้าให้ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้านเรนทรจึงจะยอมให้ เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งเป็นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เป็นภิกษุภาวะ เมื่อมิได้รับซึ่งราชสมบัติ จึงมิได้ลาผนวชออก
“ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระบิดาอนุญาตแล้วจึงรับราชสมบัติ ปรารถนาจะทำสงครามกันกับด้วยพระมหาอุปราช จึงสั่งข้าราชการวังหลวงจัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทำการตั้งค่ายคู ดูตรวจตราค่ายรายเรียงลงไปตามคลอง แต่ประตูข้าวเปลือกจนถึงประตูจีน…”
ศึกกลางเมืองระหว่าง “อา-หลาน” จบที่ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศรพ่ายแพ้ ถูกเจ้าฟ้าพรซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
กำพลบอกใน พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต: การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ อีกว่า รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นรัชกาลเดียวในสมัยอยุธยาที่มิได้ทำพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ที่พระราชวังหลวง ทรงทำพิธีนี้ที่พระราชวังจันทรเกษม (วังหน้า) อีกทั้งยังเป็นพิธีที่มิได้มีของสำคัญในพระราชพิธีอย่าง “พระขรรค์ชัยศรี” เพราะเจ้าฟ้าอภัยได้นำเอาไปทิ้งน้ำเสียในระหว่างหลบหนี กล่าวกันว่าเป็นพระขรรค์ชัยศรีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก (กษัตริย์อโยธยาก่อนสถาปนากรุง พ.ศ. 1893)
กำพลทิ้งท้ายประเด็นเจ้าฟ้าอภัยในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า เรื่องนี้ก่อปัญหาให้กับประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาต่อมาว่า ควรจะต้องนับรัชกาลเจ้าฟ้าอภัยเข้าในลำดับกษัตริย์อยุธยาด้วย นอกเหนือจากที่ต้องนับขุนวรวงศาธิราช
“ถ้านับขุนวรวงศาธิราชกับเจ้าฟ้าอภัย โดยย้อนกลับไปถึงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) จนถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ตามธรรมเนียมอยุธยา กษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาจะต้องมี 35 พระองค์ ไม่ใช่ 33 หรือ 34 พระองค์ดังที่เคยท่องกันมา”
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีทายาทกี่พระองค์?
- “เจ้าฟ้าพร” กลัวพระเจ้าท้ายสระระแวงว่าตนจะ “ชิงบัลลังก์” เพราะเหตุใด?
- พระราชโอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ชวดบัลลังก์ เหตุ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” มีกุนซือดี
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมี “พระมเหสี-ทายาท” กี่พระองค์
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต: การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566.
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: ศิวพร. พ.ศ. 2511.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2566