สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมี “พระมเหสี-ทายาท” กี่พระองค์

เจ้าฟ้าพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา ละครพรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในละครพรหมลิขิต (ภาพจากละครพรหมลิขิต)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งราชวงศ์ บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2275-2301) ทรงเป็นพระราชอนุชาในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน

พระราชพงศาวดารหลายฉบับ ระบุถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดาของพระองค์ ไว้ดังนี้

คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง กล่าวว่า

“พระมหาธรรมราชา (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ-กอง บก.) นี้มีพระมเหษี ๓ องค์ พระมเหษีใหญ่มีพระนามว่า กรมหลวงอไภยนุชิต พระมเหษีที่ ๒ พระนามว่า กรมหลวงพิจิตรมนตรี พระมเหษีที่ ๓ พระนามว่า อินทสุชาเทวี

“กรมหลวงอไภยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์ คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์ ๒ เจ้าฟ้าหญิงบรม ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงษ์ ๖. เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี ๗. เจ้าฟ้าหญิงสุริยา

“กรมหลวงพิจิตรมนตรีมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑ มีพระราชธิดา ๖ พระองค์ พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยบุรพาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสัตรีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑

“อินทสุชาวดีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่า ​เจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑

“พระมหาธรรมราชามีพระราชโอรสเกิดแต่นางนักสนมอีกเปนอันมากรวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์”

ส่วน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุถึงการสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านาย และพระมเหสี พระราชบุตร และพระราชธิดา ใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไว้ว่า

“แล้วโปรดให้พระพันวัสสาใหญ่ เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต ให้พระพันวัสสาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี และพระพันวัสสาทั้งสองพระองค์นี้ เป็นบุตรีนายทรงบาศ ซึ่งเป็นเจ้าพระยาบำเรอภูธรครั้งแผ่นเดิน (สะกดตามต้นฉบับ-กอง บก.) สมเด็จพระบรมอัยกานั้น พระมารดาเป็นเชื้อตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองเพชร์บุรี

“แล้วทรงพระกรุณาโปรดตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ ซึ่งทรงพระนามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ พระราชบุตรพระพันวัสสาใหญ่นั้น เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศ พระราชบุตรพระพันวัสสาน้อย เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษมนตรี ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าแขกเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เจ้ามงคุด เป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร พระองค์เจ้ารถเป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ พระองค์เจ้าปานเป็นกรมหมื่นเสพภักดี ให้เจ้าฟ้านเรนทรซึ่งทรงพระผนวชอยู่นั้นเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าดอกเดื่อเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ตั้งครั้งหลังคราวกรมหมื่นเสพภักดี

“และกรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหสีใหญ่ มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง พระราชธิดา ๖ พระองค์ และพระเชษฐบุตรี ทรงพระนามเจ้าฟ้าบรม ๑ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรคือกรมขุนเสนาพิทักษ์ ๑ เจ้าฟ้าธิดา ๑ เจ้าฟ้ารัศมี ๑ เจ้าฟ้าสุริยวงศ์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยา ๑ เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี ๑ เป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน และกรมหลวงพิพิธมนตรี พระอัครมเหสีน้อยมีพระราชบุตร ๒ พระองค์ พระราชบุตรี ๖ พระองค์ ทรงพระนามเจ้าฟ้าประภาวดี ๑ เจ้าฟ้าประชาวดี ๑ เจ้าฟ้าพินทวดี ๑ เจ้าฟ้าเอกทัศกรมขุนอนุรักษมนตรีนั้น ๑ เจ้าฟ้าจันทวดี ๑ เจ้าฟ้ากระษัตรี ๑ เจ้าฟ้ากุสุมาวดี ๑ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ (เจ้าฟ้าอุทุมพร-กอง บก.) คือกรมขุนพรพินิตนั้น ๑ เป็น ๘ พระองค์ด้วยกัน…”

เจ้าฟ้าอุทุมพร ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเป็น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด ส่วนอีกพระองค์คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (บ้างสะกด สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา

หมายเหตุ: จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดย กอง บก. เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง. ในเว็บไซต์วัชรญาณ https://bit.ly/481IWAc

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 ตอน 1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่งพระอธิบายประกอบ. จัดพิมพ์โดย บริษัทโอเดียนสโตร์. https://bit.ly/3uOBsCf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566