รู้จัก “เจ้าฟ้านเรนทร” หลานรักพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้รอดโทษประหาร

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร ละคร พรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และเจ้าฟ้าพร ผู้ทรงอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล "วังหน้า" ในละครเรื่องพรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 (ภาพจาก ช่อง 3)

ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา หากมีการผลัดแผ่นดิน ก็มักประหารเชื้อพระวงศ์สำคัญของกษัตริย์พระองค์ก่อนให้สิ้นไป เพื่อป้องกันการชิงราชสมบัติ แต่ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงไว้ชีวิต “พระราชนัดดา” เพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนหน้า แต่กลับสั่งประหารชีวิตพระราชนัดดาอีก 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระอนุชาแท้ๆ ของเจ้าฟ้านเรนทร เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

เรื่อนี้ต้องย้อนไปถึง พระเจ้าเสือ ที่ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร และ เจ้าฟ้าพร พระเจ้าเสือทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าเพชรให้ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ซึ่งเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป

ต่อมาพระเจ้าเสือทรงขัดแย้งกับเจ้าฟ้าเพชร จึงเปลี่ยนพระทัยมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าพร แต่เมื่อพระเจ้าเสือสวรรคต เจ้าฟ้าพรก็ถวายราชสมบัติคืนแก่พระเชษฐาตามเดิม

เมื่อเจ้าฟ้าเพชรขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ก็ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าพรขึ้นเป็น “วังหน้า”

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระราชโอรสรวม 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้านเรนทร (บ้างสะกด เจ้าฟ้านเรนทร์) เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร เมื่อเจ้าฟ้าทั้งสามเจริญพระชันษา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็ทรงตัดสินพระทัยมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย ทำให้เจ้าฟ้าพรซี่งเป็นวังหน้าไม่พอพระทัย จะทรงยอมก็ต่อเมื่อมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้านเรนทร (ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่) เท่านั้น

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ระบุเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า

“ทรงพระประชวนหนักลง จึ่งพระราชทานราชสมบัติ์นั้นให้แก่จ้าวฟ้าอะไภย พระมหาอุประราชไม่เตมพระไทย ไม่ยอมอนุยาตให้ราชสมบัติแก่จ้าวฟ้าอไภย ถ้าให้ราชสมบัติแก่จ้าวฟ้าณเรนทร์จึ่งจะยอมให้จ้าวฟ้าณเรนทร์นั้น เปนกรมขุนสุเรนทรพิทัก เปนภิกษุภาวะ เมื่อหมีได้รับซึ่งราชสมบัติ จึ่งหมีได้ลาผนวดออก

“ฝ่ายจ้าวฟ้าอไภยพระบิดาให้อนุยาตแล้ว จึ่งรับราชสมบัติ ปราถนาจะทำสงครามกันกับด้วยพระมหาอุปราช จึ่งสั่งข้าราชการวังหลวงจัดแจงผู้คนกะเกนกะทำการ ตั้งค่ายคูดูตรวจตราค่ายรายเรียงลงไปตามคลอง แต่ประตูเข้าเปลือกจนถึงประตูจีน จึ่งให้ศรีคงยศไปตั้งค่ายริมตะภานช้าง คลองปรตูเข้าเปลือกฟากข้างตวันตกให้รักษาค่ายอยู่ที่นั้น”

สันนิษฐานได้ว่า เจ้าฟ้านเรนทรทรงผนวชหนีภัยการเมืองก็คงไม่ผิดนัก แม้ว่าเจ้าฟ้าพรผู้เป็นพระปิตุลาจะทรงยอม หากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระมอบราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสพระองค์นี้ แต่เพราะเจ้าฟ้าพรมีพระราชอำนาจมาก มีความเหมาะสม และมีสิทธิครองราชสมบัติ เจ้าฟ้านเรนทรจึงครองสมณเพศต่อไป

ส่วนเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ ที่เปิดศึกกับ “วังหน้า” ชิงราชบัลลังก์ ท้ายสุดก็พ่ายแพ้ และถูกวังหน้า ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง:
พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔.) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตประธานกรรมการมูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566