สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงอ่อนโยน-โปรดสัตว์ ต่างจาก “พระเจ้าเสือ” และ “พระเจ้าท้ายสระ”?

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ภาพนักแสดงจาก : Facebook: Ch3Thailand

หากอ้างอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลายคนคงทราบว่า “พระเจ้าเสือ” และ “พระเจ้าท้ายสระ” ผู้ปกครองอาณาจักรอยุธยาลำดับที่ 29 และ 30 ทรงมีพระอุปนิสัยคล้ายกันยิ่งกว่าแกะ ไม่ว่าจะโปรดการล่าสัตว์หรือความโหดเหี้ยม “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่ง ที่คนจำนวนมากมองว่าเหี้ยมโหดเหมือนพระราชบิดาและพระเชษฐา เพราะพระองค์ถึงขั้นช่วงชิงอำนาจมาจากพระราชโอรสของกษัตริย์องค์ก่อนหน้า (ซึ่งก็คือพระเจ้าท้ายสระ) และสำเร็จโทษพวกเขาอย่างโหดเหี้ยมด้วยท่อนจันทน์

ทว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับบอกว่า พระองค์ทรงมีคุณธรรม อ่อนโยน และมีพระอุปนิสัยแตกต่างจาก “พระเจ้าเสือ” พระราชบิดา และ “พระเจ้าท้ายสระ” พระเชษฐา โดยสิ้นเชิง

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน หน้าที่ 319 ได้พูดถึงพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไว้ในแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ โดยกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่ามีเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก ทั้งยังซื่อตรง เที่ยงธรรม และยึดราษฎรเป็นที่ตั้ง ดังนี้

อันสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ-ผู้เขียน) แผ่นดินนี้ มีพระกมลสันดานต่างกันกับพระบรมพระบิดาและพระเชษฐาธิราช ปาณาติบาตพระองค์ทรงเว้นเป็นนิจ ทรงประพฤติกุศลสุจริตธรรม สมณพราหมณาประชาราษฎร มีแต่สโมสรเป็นสุขสนุกทั่วหน้า พระองค์ทรงพระราชศรัทธากระทำทานแก่สมณพราหมณา กระยาจกวณิพก เดียรฉานต่าง ๆ ทุกอย่างสิ้น 

บางทีเสด็จไปชมพระตำหนักบางอออิน (บางปะอิน) และพระนครหลวง บางทีลงที่นั่งใหญ่ ใช้ใบล่องออกปากน้ำพระประแตง ชมชเลและมัจฉา ถึงหน้านวดข้าว ก็เสด็จไปนวดที่ทุ่งหันตรานาหลวง แล้วเอาข้าวใส่ระแทะและให้พระราชบุตร พระราชธิดา กำนัลนางทั้งปวงลากไปวังใน แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่และยาคู ไปถวายราชาคณะที่อยู่อารามหลวงทุก ๆ ปี มิได้เว้น พระองค์ทรงสรรพจะเล่นมิได้เบื่อ ทั้งวิ่งวัว ควาย และพายเรือ เสือกับช้างให้สู้กัน มีแต่สนุกทั่วกันทุกฤดู”

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีข้อมูลปรากฏยืนยันถึงพระอุปนิสัยที่แตกต่างกัน ใน “จดหมายเหตุเดินทางของราล์ฟ ฟิตช และ จดหมายเหตุของวิละภาเคทะระ เรื่องคณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยาม” หน้า 69 ซึ่งเป็นบันทึกเดินทางของทูตต่างแดนในสยามขณะนั้น ว่า

“ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชธานีศรีวรฺธนะ (ศรีวรรธนะ) ทรงยืนยงด้วยพระจริยาวัตรอันดีงาม ทรงกอปร์ด้วยความเอมอิ่มแห่งคุณธรรมนานาประการ พระองค์ทรงปลุกจิตใจของสัปบุรุษ ประดุจดังรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ฉายลงต้องดอกบัวฉะนั้น พระสุรเสียงทุ้ม พระดำรัสของพระองค์หวานเหมือนน้ำผึ้ง และทำให้เบิกบานเหมือนดั่งเพลงของนกกรวิก (กุรวีกะ) พระองค์ทรงเป็นเอกในบรรดาผู้ที่ผูกพันอยู่ในการสนับสนุนความผาสุขของทั่วโลก ทรงเป็นผู้จรรโลงนครศรี–กานตะ และพระองค์ทรงเยี่ยมยอดในการทั้งปวง”

เมื่ออ่านจบแล้ว คงทำให้หลายคนรู้จัก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ในอีกแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2566